สปาปลา' จะใช้บริการต้องระวัง ?

 

ปัจจุบัน “สปาปลา” กำลังเป็นที่นิยม มีผู้สนใจหันมาประกอบกิจการกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้สนใจไปใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

 

          “สปาปลา” เป็นสปาที่ใช้ ปลาการารูฟา หรือ ด็อกเตอร์ฟิช มาใช้ในการบำบัดและผ่อนคลายให้กับลูกค้า โดยการนำเอาปลาดังกล่าวใส่ไว้ในตู้ปลาหรืออ่างปลา ให้ผู้ใช้บริการหย่อนเท้าลงไปแช่ให้ปลาว่ายเข้ามาตอด

 

          ที่ว่าช่วยบำบัดและผ่อนคลาย ก็เพราะ ปลาการารูฟา จะมารุมตอดเอาผิวที่ลอกและเสียออกไปจากตัวคน แม้  จะยังไม่มีรายงานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ แต่ก็เชื่อกันว่าสามารถบำบัดโรคสะเก็ดเงิน และโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้ และเวลาที่ปลาเข้ามาตอดก็จะทำให้รู้สึกเหมือนถูกนวดกระตุ้น ช่วยให้ผ่อนคลายได้

 

          ว่ากันว่า สปาปลา มีถิ่นกำเนิดแถบลุ่มแม่น้ำในประเทศแถบเอเชียตะวันออกกลาง ได้แก่ ตุรกี ซีเรีย อิรัก อิหร่าน ปากีสถาน แต่ปัจจุบันได้แพร่หลายไปทั่วโลก และที่นิยมมากสุดหนีไม่พ้น ประเทศญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยเองก็กำลังเป็นที่นิยมไม่น้อยหน้ากัน

 

          แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้บริการสปาปลาก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน???

 

          ก่อนอื่น ผู้สนใจเข้ารับบริการในสปาปลา ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าทางร้านเอาปลาอะไรมาใส่ไว้ในอ่างปลา เพราะปลาการารูฟาจะเป็นปลาที่ไม่มีฟันแหลมคม ไม่ทำให้เกิดบาดแผลที่เท้าของผู้ใช้บริการ แต่เนื่องจากปลาดังกล่าวเป็นปลานำเข้า ราคาแพง และหายาก จึงมีผู้ประกอบการหัวใสแอบเอาปลาที่มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายกันมาใช้แทน

 

          การใช้ปลาชนิดอื่นเพื่อทดแทนปลานำเข้า ผู้ใช้บริการต้องตรวจสอบให้ดีว่าปลาที่ใช้มีปากแบบดูดและมีนิสัยชอบดูด ไม่ใช่กัดงับด้วย ขากรรไกร เพราะแทนที่จะเป็นการบำบัดรักษา ตอดเอาผิวที่ลอกออก อาจทำให้เกิดแผลที่เท้าได้

 

          ตรวจสอบปลาแล้ว ก็ต้องมาตรวจสอบตัวเองว่ามีแผลที่เท้า หรือว่าเพิ่งจะโกนขนหน้าแข้ง หรือตัดเล็บมาหรือไม่ หากมีแผลหรือเพิ่งโกนขนหน้าแข้ง หรือเพิ่งจะตัดเล็บเท้ามา ก็ไม่ควรจะไปใช้บริการสปา เพราะอาจทำให้ติดโรคจากการใช้บริการสปาปลาได้

 

          นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรค ดื้อยา ศิริราชมูลนิธิในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า “สปาปลาถือเป็นแฟชั่น เป็นของแปลกใหม่ที่ใคร ๆ ก็อยากลอง แต่ก็ต้องตระหนักถึงอันตรายของมันด้วย 15 รัฐในสหรัฐอเมริกา ได้มีการสั่งห้ามไม่ให้มีการเปิดสปาปลา เพราะไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย และมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคจากการใช้บริการสปาปลาได้ โดยเฉพาะโรควัณโรคเทียมที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในคนได้ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาหายได้ยากและต้องใช้เงินในการรักษาเป็นจำนวนมาก”

 

          วัณโรคเทียม เป็นโรคที่ไม่ติดต่อระหว่างคนต่อคน เหมือนกับวัณโรคปอด ยกเว้นมีแผล เป็นโรคที่ทนต่อคลอรีน ทำให้เกิดแผลบริเวณผิวหนัง ตุ่มหนอง เรื้อรังไม่หาย

 

          นอกจากเชื้อวัณโรคเทียมแล้ว ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย จากการแช่เท้าอยู่ร่วมกันในอ่างปลา โดยมีน้ำเป็นตัวนำพา และการที่ปลาตอดคนโน้นทีคนนี้ที ก็สามารถเป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน

 

          ดังนั้นก่อนใช้บริการสปาปลา ต้องตรวจสอบให้ดีว่ามีแผลที่เท้า เพิ่งโกนหน้าแข้ง หรือเพิ่งจะตัดเล็บเท้ามาหรือไม่ เพราะแผลเพียงเล็กน้อย แบบแทบจะมองไม่เห็น เชื้อโรคก็สามารถเข้าไปได้

 

          ที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ควรลืมสอบถามเจ้าหน้าที่ของสถานบริการถึงสุขอนามัย ทั้งเรื่องการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ การดูแลสุขอนามัยของน้ำและปลา ก่อนการตัดสินใจใช้บริการ

 

          “แบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำ จะทนต่อระบบกรอง   ยูวี และทนต่อคลอรีน นอกจากผู้ใช้บริการสปาปลาจะต้องระมัดระวังให้มากแล้ว ผู้ที่เลี้ยงปลาสวยงามเองก็ต้องระมัดระวัง เพราะมีสิทธิติดเชื้อวัณโรคเทียม และโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย โดยมีน้ำเป็นตัวนำพาได้เหมือนกับการใช้บริการสปาปลาเช่นกัน” นพ.มนูญ กล่าวสรุป.

ส.แพทย์ผิวหนังเตือน“สปาปลา”ไม่ควรทำชี้อันตรายอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคแพร่โรคสธ.เตรียมประสานตร.-มท.ปิด

วันนี้( 8 มี.ค. )รศ.นพ.นภดล นพคุณ  นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่สหรัฐฯออกประกาศสั่งห้ามทำ สปาปลา ใน 14 รัฐแล้ว เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดการอักเสบและแพร่โรคติดต่อกันได้ ในขณะที่สำนักคุ้มครองสุขภาพในประเทศอังกฤษ ได้ทำการตรวจสอบการทำสปาปลา บริการที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลกเช่นกันว่า โดยตัวของปลาเองคงไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่กรณีที่อาจเป็นอันตรายได้คือ คนที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังหรือโรคติดต่อต่าง ๆ ปลาอาจนำเชื้อโรคจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งที่มีแผลได้ หรือในคนที่เป็นแผลแล้วอยู่แล้วไปแช่สปาปลา หากไม่มีการเปลี่ยนน้ำ ๆที่แช่อยู่บ่อย ๆ น้ำอาจสกปรกและมีเชื้อแบคทีเรีย  หรือเชื้อโรคต่าง ๆ อาจทำให้ติดเชื้อได้

         ด้าน นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  เรื่องสปาปลาไม่ได้อยู่ความดูแลของ สบส. เพราะสปาที่กรมดูแลและได้รับการรับรองจำนวน 1,341 แห่งนั้นไม่ได้ให้บริการลักษณะนี้ ดังนั้นจะมีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงมหาดไทยต่อไปว่าจะสามารถดำเนินการปิดสปาปลาได้หรือไม่ หรือจะดำเนินการอย่างไร  เพราะทราบว่าขณะนี้มีการเปิดเยอะมาก ในกทม.ก็มีหลายแห่งทั้งเต็มไปหมด ตอนนี้ก็กำลังหารือกันอยู่ อยากให้มีการเผยแพร่ข่าวสารเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวระหว่างที่ยังไม่ดำเนินการอะไร คือ ในกรณีที่บางคนเป็นโรคเช่น น้ำกัดเท้า แล้วเอาเท้าไปแช่น้ำ หากไม่มีการเปลี่ยนน้ำให้สะอาดเชื้อโรคก็จะอยู่ในน้ำ หากคนมาใช้ต่อแล้วมีแผลก็อาจจะทำให้ติดเชื้อโรคได้.

25 ส.ค. 55 เวลา 11:35 13,014 3 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...