สุดยอดเพชร 14 เม็ดของโลก

 

แม้เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ว่าเพชรเป็นของมีค่า มีราคา แต่ว่าเพชรที่ราคาแพงสุด สวยสุดๆ นั้น ไม่ใช่จะหาดูกันง่ายๆ วันนี้เลยจะพาไปดูกันให้ตาลุกกัน  เพชรทั้ง 14 เม็ดนี้ นอกจากจะสวย มีขนาดใหญ่ และราคาแพงแล้ว ยังมีชื่อเสียง และประวัติที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพชรส่วนใหญ่มีที่มาจากเหมืองในอาฟริกา และอินเดีย ที่ไม่ค่อยได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรล้ำค่าของตนเองนัก โดยเฉพาะที่อาฟริกา ที่มีทั้งเหมืองเพชร และทองจำนวนมาก แต่ประเทศกลับยากจน 
ผู้คนอดอยาก หิวโหย ไม่ได้อยู่ดีกินดี สมกับเป็นพลเมืองเจ้าของเหมือง
 
 

The Idol's Eye  

            เพชรทรงหยดน้ำ (หรือลูกแพร์) ขนาด 70.20 กะรัต ขนาดเท่าไข่ไก่แจ้ เป็นเพชรที่จัดเข้าในชุด idol ก่อนที่จะถูกขโมยไป โดยมีตำนานเล่ากันว่า เพชรเม็ดนี้ ถูกใช้เป็นค่าไถ่ตัว Princess Rasheetah โดย Sheik of Kashmir ให้แก่ Sultan of Turkey ที่เป็นผู้ลักพาตัวเจ้าหญิงไป    

The Regent    
            เพชรเม็ดนี้ จัดเป็นหนึ่งในบรรดาเพชรที่สวยที่สุดในโลก ค้นพบโดยทาสชาวอินเดีย ตั้งแต่ปีค.ศ. 1701 มีน้ำหนัก 410 กะรัต ก่อนเจียร หลังจากนั้นก็ตกมาเป็นของนาย Pitt และเรียกว่า "The Pitt Diamond" ตามชื่อของเขา ที่เป็นผู้ว่าราชการของเมืองมัทราส ในยุคนั้น เพชรได้ถูกส่งไปเจียระไนใหม่ที่อังกฤษ ในปีค.ศ. 1717 เป็นแบบ cushion โดยเหลือน้ำหนักเพียง 140.5 กะรัต จากนั้นจึงถูกซื้อไป โดย ฟิลิปส์ ดยุค แห่งออร์ลีน ในปีค.ศ.1717 และรีเจนท์แห่งฝรั่งเศส (Regent of France) เพชรเม็ดนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "The Regent" ในตอนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ยังทรงพระเยาว์ และสุดท้าย The Regent ก็ได้ไปประดับอยู่บนมงกุฎของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ แต่หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็ได้ตกไปเป็นสมบัติของ Napoleon Bonaparte ที่แกะเอาไปประดับด้ามดาบของเขา "The Regent" ได้ถูกภัยคุกคามอีกหลายครั้ง จนกระทั่งถึงค.ศ. 1887 จึงได้รับยกเว้นจากการขายทอดตลาดของพระคลังสมบัติ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Louvre      
The Hope               
      เพชร "โฮป" เพชรสีน้ำเงินเข้มเม็ดนี้ เป็นอีกหนึ่งตำนานที่ได้รับการกล่าวขานมาเนิ่นนาน ค่อนข้างจะโด่งดังกว่าเพชรเม็ดอื่น ด้วยประวัติที่หวือหวามาก และที่ฮือฮากันมากที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องความเชื่อที่ว่า เพชรเม็ดนี้ต้องคำสาป โดยมีตำนานเล่าว่า เพชรโฮปมาจากดวงตาของเทวรูปในวัดริมแม่น้ำโคลรูน (Coleroon) ในอินเดีย เพชรน้ำหนัก 112 กะรัต เม็ดนี้ ถูกขุดพบในเหมืองคอลเลอร์ (Kollur mine) ในกอลคอนดา เป็นเพชรที่หายากและมีสีน้ำเงินเหมือนสีไพลิน  ชอง-แบปตีส ตาแวร์นีเย (Jean-Baptist Tavernier) พ่อค้าเพชรชื่อดังชาวฝรั่งเศส ซื้อเพชรนี้มา และลักลอบนำเข้าไปยังกรุงปารีสใน ค.ศ. 1668 ต่อมาใน ค.ศ. 1669 ตาแวร์นีเยขายเพชรให้แก่พระเจ้าหลุยส์ ที่14 ด้วยราคา 3,000,000 ปอนด์ เพชรโฮปนี้จึงได้รับการเจียระไนเป็นรูปหยดน้ำรูปทรงสามเหลี่ยมหนัก 67.5 กะรัต โดยนายช่างเปเตออง (Petean) และเป็นที่รู้จักหลายชื่อ ไม่ว่า "เพชรตาแวร์นี...ีฟ้า" (The Tavernier Blue) เพชรสีน้ำเงินฝรั่งเศส (The French blue) หรือเพชรสีน้ำเงินแห่งมงกุฎ (The Blue Diamond of the Crown) พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมอบเพชรนี้ ให้แก่มาดาม เดอ มงเตสปอง (Madam de Montespan) แต่ไม่นานหลังจากนั้น นางก็กลายเป็นที่เกลียดชังของราชสำนัก เพชรฝรั่งเศสสีน้ำเงินนี้ได้หายไปในเดือนกันยายน ค.ศ. 1792 จากการปล้นเพชรครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่คลังเก็บสมบัติแห่งชาติ (The National Garde Meuble) ใน ค.ศ. 1812
        บันทึกความทรงจำของจอห์น ฟรานซิลลอน (john Francillon) พ่อค้าเพชรชาวลอนดอน บันทึกไว้ว่า เพชรสีน้ำเงินหนัก 45.52 กะรัต ได้ปรากฏขึ้นในปี ค.ศ. 1830 ที่อังกฤษ โดย เดเนียล แอเลียสัน (Denial Eliason) พ่อค้าเพชรชาวลอนดอน เขาเปลี่ยนรูปแบบการเจียระไนเป็นรูปหมอน (cushion) และขายให้แก่เฮนรี ทอมัส โฮป (Henty Thomus Hope) นักการธนาคารชาวอังกฤษ ดังนั้นเพชรสีน้ำเงินจึงได้ชื่อใหม่ตามชื่อของเขาคือ เพชร "โฮป" และตกทอดสู่ ลอร์ดฟรานซิส เพลแฮม คลินตัน โฮป (Lord Francis Pelham Clinton Hope) ซึ่งเป็นพ่อของเขา แต่ท้ายที่สุดแล้วเขากลับล้มละลาย และเพชรก็ได้หายไปอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาปีแยร์ การ์ตีเย (Pierre Cartier) พ่อค้าเพชรชาวปารีส ได้ขายเพชรโฮป ผ่านทางสุลต่านอับดุล-ฮามิด (Abdul - Hamid) ให้กับวิลเลียม แมกลีน (William Mclean) คนสำคัญในวงการหนังสือพิมพ์ และเพชรเม็ดนี้ก็ถูกนำไปที่สหรัฐอเมริกา แมกลีน ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ซื้อเพชรมาด้วยราคา 154,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภรรยาของแมกลีน ต้องการให้พระทำพิธีล้างอาถรรพ์ในเพชรก่อน พิธีนี้จึงได้มีขึ้นและเธอก็ป่าวประกาศว่ามี "ฟ้าผ่าและฟ้าแลบในระหว่างพิธี" ด้วย หลังจากนั้นเธอจึงค่อยสวมใส่เพชรเม็ดนี้ โชคไม่ดีที่ดูเหมือนว่าคำสาปในเพชรยังคงมีอยู่ ใน ค.ศ. 1918 ลูกชายของแมกลีน อายุ 9 ขวบ พลัดหลงจากการดูแลของบรรดาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และถูกรถคันหนึ่งชนเสียชีวิต แมกลีนเสียใจมาก ดื่มแต่เหล้า และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ลูกสาวคนเดียวของพวกเขาก็ปลิดชีพตัวเองโดยใช้ยานอนหลับ
        ใน ค.ศ. 1949 หลังจากที่ภรรยาของแมกลีนเสียชีวิตแล้ว แฮร์รี วินสตัน (Harry Winston) พ่อค้าเพชรชาวนิวยอร์ก ได้ซื้อเพชรโฮปไปด้วยราคา 180,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปเพิ่มชุดสะสมส่วนตัวของเขา ใน ค.ศ. 1958 เอดนา วินสตัน (Edna Winston) ได้บริจาคเพชรเม็ดนี้ให้แก่สถาบันสมิทโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงเพชรในปัจจุบัน มีผู้มาเยี่ยมชมมากมาย ที่หลงใหลในเพชรสีน้ำเงินไพลินและความแวววาว ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเม็ดนี้   
 

The Sancy
        เพชรเม็ดนี้ มีรูปหยดน้ำ หรือทรงลูกแพร์ หนัก 55 กะรัต แม้จะไม่โด่งดังเหมือน The Hope แต่ก็มีประวัติยืดยาว น่าสนใจไม่แพ้กัน The Sancy มีเจ้าของคนแรก คือ Charles the Bold, Duke of Burgundy แต่เขาก็เสียชีวิตในสงคราม เมื่อปีค.ศ.1477 ชื่อของเพชรเม็ดนี้ ตั้งตามเจ้าของคนต่อมา คือ Seigneur de Sancy ราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศตุรกี ในช่วงปลาย คริสต์ศตวรรษที่ 16 เขาได้ให้เพชรนี้แก่กษัตริย์ฝรั่งเศส พระเจ้าเฮนรี่ ที่ 4 (Henry IV) ยืมไปใช้ประดับหมวกของพระองค์ ที่ใส่เพื่ออำพรางพระเศียร ที่มีพระเกศาน้อย แต่ภายหลัง Sancy ก็ขายเพชรไปให้แก่ พระเจ้าเจมส์ ที่ 1 แห่งอังกฤษ ในปี ค.ศ.1664 และตกมาเป็นของ พระเจ้าเจมส์ที่ 2 กษัตริย์ที่เป็นผู้ชาย องค์สุดท้ายของอังกฤษ ที่หนีไปปารีสในปี ค.ศ.1792 ในช่วงต้นของ การปฏิวัติฝรั่งเศส แล้วเพชรก็ถูกขโมยจากท้องพระคลังหลวง ไปพร้อมๆกับเพชรดังเม็ดอื่นๆ ส่วนเพชรเม็ดนี้ มาโผล่อีกทีก็ 36 ปีล่วงไป ในปีค.ศ.1828 โดยมีเจ้าของใหม่คือ เจ้าชาย Anatole Demidoff แห่งรัสเซีย และขายออกมาอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.1865 ในราคาถึง 100,000 ดอลล์ ในสมัยนั้น 


            อีก 2 ปีต่อมา เพชรก็ถูกนำมาแสดงที่งาน Expo ที่ปารีส ด้วยราคาขายถึง 1,000,000 ฟรังส์ จึงต้องรอเจ้าของใหม่นานถึง 40 ปี โดยนาย William Waldorf Astor ได้ซื้อเพชรเม็ดนี้ ให้แก่ลูกชายของเขา เพื่อเป็นของขวัญในการแต่งงานกับ Nancy Langhorne of Virginia ซึ่งนาง Astor ก็เอามันไปประดับ tiara ใส่ออกงานรัฐพิธีต่างๆ จนกระทั่งเสียชีวิตในปีค.ศ.1964 เพชรจึงตกมาเป็นมรดกแก่บุตรชายของนาง ซึ่งเขาก็แกะมันเอามาทำเป็นเครื่องประดับศีรษะ และก็ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Louvre ในปัจจุบันแม้จะมีประวัติที่ชัดเจน แต่กระนั้น Maharajah แห่ง Patalia ก็ได้ประกาศว่าเป็นเจ้าของ Sancy Diamond นี้ด้วย ซึ่งเพชรเม็ดที่ว่า มีน้ำหนัก 60.40 กะรัต หนักกว่า Sancy เม็ดแรกเกือบ 10 %    
 

Taylor-Burton    
            รูปทรงหยดน้ำ อีกเม็ดหนึ่ง ที่โด่งดังในสมัยหลัง ได้ถูกส่งเข้าประมูลในปีค.ศ.1969 มานี่เอง โดยมี Cartier of New York ประมูลได้ไป และตั้งชื่อให้มันทันทีว่า “Cartier” แต่เพียงวันเดียวหลังจากนั้น ดาราหนุ่มรูปหล่อ Richard Burton ก็ได้ซื้อมันต่อ เพื่อมอบให้แก่ Elizabeth Taylor ดาราสาวนัยน์ตาคม ด้วยราคาที่ไม่เปิดเผย และตั้งชื่อให้มันใหม่ทันทีเช่นกันว่า “Taylor-Burton” เพชรเม็ดนี้ มีน้ำหนัก 69.42 กะรัต ถูก Elizabeth Taylor นำไปประดับเป็น pendant แต่ใส่อยู่ได้ไม่กี่ปี เธอก็ประกาศขายเพชรเม็ดนี้ เพื่อจะนำรายได้ส่วนหนึ่ง ไปสร้างโรงพยาบาลในอาฟริกา ในปีค.ศ.1978 ผู้ที่ต้องการชม จะต้องจ่ายเงินถึง $ 2,500 เพื่อตรวจสอบมันก่อนตัดสินใจซื้อ จนปีค.ศ.1979 จึงขายไปได้ในราคา 2.8 ล้านเหรียญ โดยเศรษฐีน้ำมันชาว Saudi Arabia    

Hortensia    
            เม็ดนี้ ได้ชื่อมาจาก Hortense de Beauharnais พระราชินีแห่ง Holland ที่เป็นพระธิดาของ Josephine กับเป็นบุตรบุญธรรมของ Napoleon Bonaparte กษัตริย์หลุยส์ ที่14 ทรงเป็นผู้ครอบครองเพชร 20 กะรัตเม็ดนี้ ที่ประดับอยู่บนมงกุฎของพระองค์ ที่สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.1691 และจัดแสดงร่วมกับ “the Regent” อยู่ใน พิพิธภัณฑ์ Louvre เช่นกัน และนับได้ว่า Louvre เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มีสิ่งของมีค่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่แต่ละชิ้นประเมินค่าไม่ได้    

The Exelsior (and The Excelsior I)    
            เพชรเม็ดนี้ ค้นพบโดยคนงานเหมืองชาวอาฟริกัน เมื่อเย็นวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1893 เขาพบมันในกองก้อนกรวด ที่เขากำลังจะเทใส่รถบรรทุก และยื่นส่งให้กับมือผู้จัดการเหมือง โดยเขาได้รับรางวัลเป็นเงิน 500 ปอนด์ พร้อมกับม้าและอานครบชุด เพชรเม็ดนี้ ถือเป็นเพชรที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 โดยมีน้ำหนัก 995.2 กะรัต ก่อนการเจียระไน แต่เมื่อนำมาตรวจสอบและวิเคราะห์ดูแล้ว ช่างได้แบ่งมันออกเป็นเพชรเม็ดเล็ก 10 เม็ด ซึ่งเม็ดที่มีขนาดใหญ่สุด เมื่อเจียรแล้ว มีน้ำหนักแค่ 69.68 กะรัต เป็น “Excelsior I” โดยขายออกไปในปี ค.ศ.1996 ให้กับ Robert Mouawad ในราคา $ 2,642,000.- เป็นเพชรสีฟ้า-ขาว ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม แม้ว่าจะมีจุดดำอยู่บ้างก็ตาม    

The Star of Sierra Leone    
            เพชรที่ใหญ่รองลงมาเป็นอันดับที่ 3 ด้วยน้ำหนักเพชรดิบ 969.80 กะรัต ถูกค้นพบในวันวาเลนไทน์ เมื่อปี ค.ศ.1972 ที่เหมือง Diminco ในประเทศ Sierra Leone นาย Harry Winston ได้ซื้อเพชรเม็ดนี้ไปดำเนินการตัดแบ่ง ออกได้เป็น 17 ชิ้น และได้นำไปใช้ประดับ Star of Sierra Leone Brooch 6 เม็ดด้วยกัน    

The Oloff    
        เป็นเพชรที่พบในอินเดีย มีน้ำหนัก 300 กะรัต มีสีฟ้า-เขียว โดยเจียรเป็นแบบ Mogul-cut เป็นเพชรที่มีประวัติยืดยาวอีกเม็ดหนึ่ง แถมยังมีหลายเวอร์ชั่นอีกด้วย เรื่องแรก เล่ากันว่า เคยประดิษฐานเป็นดวงตาของพระวิษณุ ในเทวสถานแห่งหนึ่งที่ Sriangam แล้วก็ถูกขโมยไปในราวศตวรรษที่ 17 โดยชาวฝรั่งเศส (ที่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับเพชร และการขโมยเพชร มากที่สุด) แต่ด้วยความกลัว เขาจึงควักออกมาได้เพียงข้างเดียว แล้วก็หนีไปอยู่ที่ Madras ก่อนที่จะรีบขายให้แก่กัปตันเรือชาวอังกฤษไปแค่ 2000 ปอนด์ หลังจากนั้น เพชรก็ตกทอดไปอีกหลายทอด จนถึงอัมส์เตอร์ดัม แล้วเรื่องนี้ก็รู้ถึงหูของ Grigori Orloff ท่านเคาน์แห่งรัสเซีย (เป็นคนรักเก่าของจักรพรรดินีแคเทอรีน) จึงดอดมาซื้อไปด้วยราคา 90,000 ปอนด์ โดยหวังที่จะเอากลับไปให้แก่ จักรพรรดินีแคเทอรีน ชื่อของ Grigori Orloff จึงกลายเป็นชื่อของเพชร Orloff มาตั้งแต่บัดนั้น
            จักรพรรดินีแคเทอรีน ได้รับเพชรเม็ดนี้ด้วยความชื่นชม และได้ใช้มันประดับบน Imperial Sceptre โดยพระนางได้ตอบแทน Grigori Orloff ด้วยพระราชวังหินอ่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พระนางจะรับรักจาก Grigori Orloff ทำให้ Grigori Orloff ผิดหวังมาก จนตรอมใจตายในปีค.ศ.1783 ต่อมาในปี
ค.ศ.1812 ชาวรัสเซียเกรงว่า Napoleon จะนำกองทัพบุกเข้ามายึดมอสโคไว้ได้ จึงนำเพชร Orloff ไปซ่อนในสุสานของนักบวชแห่งหนึ่ง ปัจจุบันใครอยากชมก็จะไปดูได้ที่ Diamond Treasury of Russia ในมอสโค    

The Oppenhiemer  

            เพชรสีเหลืองสวยใสเม็ดนี้ ค้นพบที่เหมือง Dutoitspan เมือง Kimberly ประเทศ South Africa ในปี ค.ศ.1964 โดย Harry Winston ให้แก่สถาบัน Smithsonian เพื่อระลึกถึง Sir Ernest Oppenheimer แห่ง DeBeers Consolidated Mines  
  

KOH-I-NOOR "Mountain of Light"
        เพชรที่โด่งดังที่สุดเม็ดนี้ มีประวัติอันยาวนานย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ.1304 มีขนาดไม่ใหญ่โตมาก เพียง 186 กะรัต มีรูปทรง oval cut มีตำนานเล่าว่าเพชรนี้ถูกพบในแม่น้ำโกทาวรี (Godavari) ในอินเดียตอนกลางเมื่อ 4,000 ปีมาแล้ว และราชากานาแห่งอังกา (Gana Rajah of Anga) เป็นผู้สวมใส่ แต่ราชาผู้น่าสงสาร ก็ตกเป็นเหยื่อรายแรกของเพชรเม็ดนี้ ซึ่งมีคำสาปที่น่าสะพรึงกลัวว่า "ผู้ใดครองเพชรเม็ดนี้จักได้ครองโลก หากแต่จักพบพานความโชคร้ายต่างๆ ของมันด้วย จะมีก็แต่พระเจ้าหรือผู้หญิง ที่สามารถสวมใส่ได้โดยที่จะไม่ถูกลงโทษ ” ในขณะที่ราชากานา กำลังขี่ม้าเข้าสู่สนามรบพร้อมกับเพชรเม็ดนี้ ราชาก็ถูกฆ่าตายในสนามรบ อย่างไรก็ตาม บันทึกอ้างอิงฉบับแรกๆที่ค่อนข้างเชื่อถือได้ เกี่ยวกับเพชรเม็ดนี้ เริ่มต้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 ว่า พบเพชรเม็ดนี้ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย บริเวณริมแม่น้ำโกทาวรี ราว ค.ศ. 1304 โดยชาวนาคนหนึ่งพบวัตถุเป็นมันวาวชิ้นหนึ่งในดินโคลน หลังจากคืนฝนตก และเพชรซึ่งสวยงามมากเป็นพิเศษเม็ดนี้ ก็ได้กลายเป็นที่รู้จักในอินเดีย และถูกนำไปประดับบนมงกุฎของมหาราชาแห่งกอลคอนดา ภายหลังเพชรเม็ดนี้ตกเป็นสมบัติของ Sultan Babur แห่งราชวงศ์โมกุลผู้ยิ่งใหญ่ ในศตวรรษที่ 16 และตกทอดไปสู่กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ 


            ครั้งหนึ่ง เพชรโก อิ นัวร์ เคยตกเป็นของโมฮัมเหม็ด ชาร์ (Mohammed Shah) และตกทอดสู่นาดีร์ ชาห์ (Nadir Shah) ซึ่งได้อุทานออกมาว่า "โก อิ นัวร์" ซึ่งหมายความว่า "ภูเขาแห่งแสงสว่าง" ระหว่างที่เขาได้เห็นเพชรอันวิจิตรงดงาม ที่เขาได้แย่งชิงมาจากโมฮัมเหม็ด ชาห์ ใน ค.ศ. 1739 เพชรเม็ดนี้ อาจจะเคยประดับอยู่บนบัลลังก์นกยูงของ Shah Jehan อีกด้วย หลังจากการสิ้นสุดของจักรวรรดิเปอร์เซีย เพชร KOH-I-NOOR ก็ได้เวลาเดินทางอีกครั้ง ไปยังอินเดีย ผ่านอัฟกานิสถาน โดยผู้คุ้มกันของ Nadir Shah ที่หนีมาในขณะที่ Nadir Shah ถูกฆาตกรรม และได้มาใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนแก่ Ranjit Singh แห่ง Punjab ในการแลกเปลี่ยนกับการช่วยเหลือทางทหาร (ซึ่งก็ไม่เคยเกิดขึ้น) เพื่อต่อสู้กับอังกฤษ และถูก East India Company เรียกร้องมันมาเป็นค่าชดเชยค่าเสียหาย ต่อมา East India Company ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพชรนี้ แด่ราชินีวิคตอเรีย ในปีค.ศ.1850 ขณะนั้นเพชรสามารถประเมินค่าได้เป็นราคา 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ
        พระราชินีวิกตอเรีย ทรงตัดสินพระทัยที่จะให้นักเจียระไนเพชรชื่อ วัวร์ซานเจอร์ (Voorzanger) เจียระไนเพชรนี้ใหม่ โดยใช้เวลา 8 วันในการเจียระไน ให้เป็นรูปทรงรีหรือรูปไข่ น้ำหนัก 108.93 กะรัต มีความแวววาวเป็นพิเศษ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้ทรงประดับเพชรนี้ไว้บนเข็มกลัด (brooch) และทรงระบุไว้ในพระพินัยกรรมให้เพชรโก อิ นัวร์ แก่กษัตริย์ที่เป็นหญิงเท่านั้น ก่อนที่จะนำมาประดับในมงกุฎของ Queen Alexandra และ Queen Mary ล่าสุดในปี ค.ศ.1937 เพชรเม็ดนี้ใช้ประดับอยู่บนมัลทีส ครอส (Maltese Cross) ด้านหน้าของมงกุฎ ที่ใช้ในพิธีราชาภิเษกของ Queen Elizabeth ปัจจุบัน เก็บรักษาอยู่ ณ หอคอยแห่งลอนดอน ร่วมกับมงกุฎอื่นๆ
    

The Centenary Diamond
        เพชรขนาด 273.85 กะรัต เม็ดนี้ เป็นเพชรเจียระไนแบบใหม่ (Modern Cut) เม็ดใหญ่ที่สุดในโลก ขุดพบได้โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์เอ็กซเรย์ ที่เหมืองพรีเมียร์ (Premier) ในแอฟริกาใต้ เมื่อ 17 กรกฎาคม 1986 เพชรเม็ดนี้มีน้ำหนักก่อนการเจียระไนถึง 599 กะรัต เป็นเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา ที่มีสีขาวสมบูรณ์แบบและไร้ตำหนิภายใน เพชรเม็ดนี้ได้ชื่อว่า The Centenary ในการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ของ เดอ เบียร์ส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 1988 ในงานเลี้ยงที่จัดขึ้นใกล้เหมืองคิมเบอร์ลี่ โดยที่นายช่างชั้นครู Gabi Tolkowsky ใช้เวลาถึง 3 ปีเต็ม ในการเนรมิตเพชรเม็ดนี้ ให้กลายเป็นเพชรที่ใหญ่ที่สุด เจียระไนสวยที่สุด มี 247 เหลี่ยม คือ 164 เหลี่ยมบนตัวเพชร และ 83 เหลี่ยมบนเกอเดิล เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเจียระไนเพชรที่ได้เหลี่ยมมากมายเช่นนี้มาก่อนบนเพชรเม็ดเดียว 

            ในหมู่เพชรน้ำงามที่สุดในโลกแล้ว The Centenary จะเป็นรองจาก The First Star of Africa และ The Second Star of Africa ซึ่งเจียระไนจากเพชร Cullinan เท่านั้น นับได้ว่าเพชร The Centenary เป็นเพชรเจียระไนสมัยใหม่เม็ดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเพชรเม็ดเดียวที่รวมเอาวิธีเจียระไนแบบเก่าเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ซับซ้อน เป็นตัวอย่างของ "เพชรน้ำงามไฟดี" ที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1991 เพชรเม็ดนี้มีราคาประกันมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันได้นำมาแสดง ร่วมกับ 'Great Star of Africa' และ 'Lesser Star of Africa' ณ หอคอยแห่งลอนดอน 
    

The Great Star of Africa (The Cullinan)
 
        เคยเป็นเพชรเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ปัจจุบัน Golden Jubilee เป็นเพชรเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดในโลก) มีน้ำหนัก 530.20 กะรัต พบที่เหมืองพรีเมียร์ เมือง Transvaal ในแอฟริกาใต้ เมื่อค.ศ.1905 ก่อนเจียระไนมีน้ำหนักถึง 3,106 กะรัต (และคาดว่าน่าจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ แต่ก็หาไม่พบส่วนที่หายไป) 
 The Star of Africa (Cullinan 1) Diamond
            ในหมู่เพชรน้ำงามที่สุดในโลกแล้ว The Centenary จะเป็นรองจาก The First Star of Africa และ The Second Star of Africa ซึ่งเจียระไนจากเพชร Cullinan เท่านั้น นับได้ว่าเพชร The Centenary เป็นเพชรเจียระไนสมัยใหม่เม็ดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเพชรเม็ดเดียวที่รวมเอาวิธีเจียระไนแบบเก่าเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ซับซ้อน เป็นตัวอย่างของ "เพชรน้ำงามไฟดี" ที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1991 เพชรเม็ดนี้มีราคาประกันมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันได้นำมาแสดง ร่วมกับ 'Great Star of Africa' และ 'Lesser Star of Africa' ณ หอคอยแห่งลอนดอน    


        เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดคือ Cullinan 1 ขนาด 530 กะรัต ถูกเจียระไนเป็นรูปหยดน้ำ ชื่อ "Star of Africa" และเพชรขนาด 317 กะรัต ชื่อ "Lesser Star of Africa" ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พระคลังเครื่องเพชรของพระราชวงศ์อังกฤษที่หอคอยแห่งกรุงลอนดอน 

Sefadu
        เพชรเม็ดสุดท้ายนี้ พบที่ประเทศ Sierra Leonne ในปี 1970 โดยบริษัทอเมริกัน Lazare Kaplan มีขนาดก่อนการเจียระไน 620 กะรัต ทำให้มันติดอันดับเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำดับต้นๆ 


            เพชรที่ยังไม่เจียรนัย อาจจะดูไม่น่าที่จะเป็นเพชรที่สวยงาม เพราะธรรมชาติของเพชรก็เป็นสินแร่อย่างหนึ่ง ที่มีรูปทรงไม่แน่นอน และไม่ได้เป็นก้อนแก้วใสๆทั้งก้อน อย่างที่เห็น แต่มันจะมีร่องรอยหรือตำหนิต่างๆอยู่ภายใน การที่จะสวยได้ จึงต้องมาตัดแบ่งออกและคัดหรือตัดส่วนที่ไม่สวยออกไป แล้งเจียระไนให้ได้เหลี่ยมมุม ที่จะสะท้อนแสงได้ดีที่สุด เพื่อให้มันดูเป็นประกายแวววาวสวยงาม กระบวนการต่างๆนี่เอง จึงเป็นองค์ประกอบให้เพชร มีต้นทุน หรือราคาที่แพงมากขึ้นไปอีก

Credit: Beautycutdiamond.com
#สุดยอดเพชร #14 #เม็ดของโลก
มิตซู
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
22 ส.ค. 55 เวลา 18:55 8,223 5 130
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...