บัวบกที่น้อยคนนักจะรู้จักนั่นคือ สรรพคุณในการบำรุงสมองไม่แพ้แปะก๊วยอันเป็นที่นิยมในกระแสโลก และมีการรณรงค์ให้ปลูกแปะก๊วยกันอย่างแพร่หลายซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่รวมทั้งหมอ ยาในทุกภาคของไทยได้สืบทอดความรู้เรื่องบัวบกจากรุ่นสู่รุ่นและนำมาใช้ในการบำรุงร่างกาย บำรุงประสาท บำรุงความจำ บำรุงสายตา บำรุงผม บำรุงเอ็น เป็นยาอายุวัฒนะ ใช้ได้ทุกเพศทุกวัยทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และคนชรา นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันดีอีกว่า ชนิดของบัวบกที่มีสรรพคุณที่ดีที่สุดคือ ผักหนอกขม ซึ่งขึ้นตามธรรมชาติพบเห็นโดยทั่วไป
สรรพคุณ / ประโยชน์ของใบบัวบก
ในตำราไทยกล่าวว่า บัวบกมีรสเฝื่อน ขม เย็น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ท้องเสียหรือบิด แก้ลม แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เป็นยาบำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ นอกจากนี้ยังมีผู้รจนาสรรพคุณของบัวบกว่า "กิน 1 เดือน โรคร้ายหายสิ้นมีปัญญา กิน 2 เดือน บริบูรณ์น่ารักมีเสน่ห์ กิน 3 เดือน ริดสีดวงสิบจำพวกหายสิ้น กิน 4 เดือน ลมสิบจำพวกหายสิ้น กิน 5 เดือน โรคร้ายในกายทุเลา กิน 6 เดือน ไม่รู้จักเมื่อยขบ กิน 7 เดือน ผิวกายจะสวยงาม กิน 8 เดือน ร่างกายสมบูรณ์เสียงเพราะ.."
จากงานศึกษาวิจัยพบว่า บัวบกมีฤทธิ์เช่นเดียวกับแปะก๊วยในการบำรุงสมอง กล่าวคือ เพิ่มความสามารถความจำและการเรียนรู้ มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดในบัวบกด้านคุณสมบัติช่วยเพิ่มความสามารถในการจำ นอกจากนี้ยังมีการทดลองในสัตว์ด้วย ซึ่งพบว่า บัวบกทำให้ลูกหนูมีความจำและความสามารถในการเรียนรู้ดีขึ้น ทำให้เซลล์สมองของหนูแรกเกิดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความฉลาด ส่วน hippocampal CA3 และแขนงนำสัญญาณประสาทของสมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมเหตุผลและอารมณ์ มีการพัฒนาการที่ดีกว่าหนูในกลุ่มควบคุม ทำให้ปฏิภาณไหวพริบในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางของหนูดีขึ้น ตลอดจนยังเพิ่มสมาธิและความสามารถในการตัดสินใจเฉพาะหน้าในหนูได้อีกด้วย
ส่วนการศึกษาในมนุษย์พบว่า เด็กปัญญาอ่อนที่กินบัวบกวันละ 500 มิลลิกรัมติดต่อกันสามเดือนมีความสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม ส่วนการศึกษาในระดับเซลล์ถึงกลไกการออกฤทธิ์บำรุงสมองพบว่า บัวบกทำให้การหายใจในระดับเซลล์ของสมองดีขึ้น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเสื่อมของเซลล์สมอง คงสภาพปริมาณของสารสื่อประสาท acetylcholine ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของสมอง เสริมฤทธิ์การทำงานของสาร GABA ซึ่งเป็นสารสื่อประสาททำหน้าที่รักษาสมดุลของจิตใจทำให้ผ่อนคลายและหลับได้ง่าย นอกจากนี้บัวบกยังทำให้หลอดเลือดมีความแข็งแรงและสามารถนำเลือดไปเลี้ยงในอวัยวะต่างๆ ได้ดีขึ้น เป็นต้น
จากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว ทำให้บัวบกมีแนวโน้มจะใช้เป็นอาหารเพิ่มไอคิว เพิ่มความฉลาด เพิ่มความสามารถในการจำและการเรียนรู้ในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กปัญญาอ่อนรวมไปถึงการใช้ในเด็กสมาธิสั้น เนื่องจากบัวบกทำให้สารในสมองมีความสมดุล คือ มีความสงบผ่อนคลาย และการเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองทำให้เกิดความสามารถในเรียนรู้ได้ดีขึ้น ส่วนในคนทั่วไปบัวบกจะช่วยชะลออาการของโรคสมองเสื่อมในวัยชราหรืออัลไซเมอร์รวมทั้งช่วยคลายเครียด ทำให้มีสมาธิในการทำงานอีกด้วย