ประเพณีการไหว้เจ้า เป็นประเพณีที่คนจีนประพฤติปฏิบัติมาช้านานนับ 3000 ปีมาแล้ว กล่าวว่าประเพณีนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัย ราชวงศ์โจว ซึ่งก็นับว่าเก่าแก่พอสมควร การไหว้เจ้าเป็นการสร้างความสิริมงคลและนำมาซึ่งความสุขความเจริญก้าวหน้า ตั้งแต่เรื่องครอบครัว หน้าที่การงาน
ชาวจีนจึงยึดถือปฏิบัติ สืบต่อกันเรื่อยมาว่ากันมาว่าในปีหนึ่งๆ มักจะมีสิ่งเลวร้าย เรื่องไม่ดีงาม เรื่องอัปมงคลมากระทบกระทั่ง หรือรบกวนการดำเนินชีวิตของคนเราจนทำให้เกิดอุปสรรคต่างๆเช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย การงานติดขัดไม่ราบรื่น เงินทองไม่คล่อง
ทำอะไรก็พบแต่ความยุ่งยาก ค้าขายลำบากมีแต่อุปสรรคบุตรบริวารก่อเรื่องวุ่นวาย นำความยุ่งยากลำบากใจมาให้ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผิดปกติ ทำให้รู้ได้ว่า "ดวงชะตาชีวิต" ไม่ดีนักจึงจะต้องมีการขวนขวายหาที่พึ่ง จึงทำให้ก่อกำเนิดประเพณี การไหว้เจ้า ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และ ไหว้บรรพบุรุษขึ้นมา
องค์ประกอบที่สำคัญในการไหว้เจ้า
ขนมไหว้เจ้า อันได้แก่
ซาลาเปา (หมี่ก้วย หรือ หมี่เปา) -ไม่มีไส้ เรียกว่า หมั่นโถว มีแบบที่ทำจาหัวมัน เนื้อออกสีเหลือง และแบบไม่ผสมมัน เนื้อออกสีขาว นิยมทำให้แตกเหมือนดอกไม้บาน
ถ้าลูกเล็กจะแต้มจุดแดง ลูกใหญ่จะปั๊มตัวหนังสือสีแดง เขียนว่า ฮก แปลว่า โชคดี มีไส้ นิยมไส้ เต้าซา แป้งไม่ผสมมัน หน้าไม่แตก มีตัวหนังสือปั๊มว่า เฮง แปลว่าโชคดี
ซิ่วท้อ เป็นซาลาเปาพิเศษ ทำเป็นรูปลูกท้อ ใส้เต้าซา เพราะถือว่าเป็นผลไม้สวรรค์ ใช้ในงานวันเกิด ใครได้กินอายุจะยืนยาว
หนึงกอ (ขนมไข่) ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง
ก๊าก้วย (ฮวกก้วย) "ฮวก" แปลว่า งอกงาม / "ก้วย" แปลว่า ขนม ใช้กับงานมงคลเป็นส่วนใหญ่ เช่นงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ บนหน้าขนมปั๊มตัวหนังสือตรงกลาง "ฮวดไช้" คำที่อยู่รอบนอก คือ "เฮง" แปลว่า โชคดี
คักท้อก้วย มีไส้ข้าว ไส้กุยช่าย ไส้ผัดผักกะหล่ำ ไส้ถั่ว นวดกับแป้งผสมสีแดง เป็นสีนำโชค ใช้ไหว้เจ้าที่ หรือไหว้บรรพบุรุษ
จับกิ้ม (แต่เหลียง) หรือที่คนไทย เรียกว่า "ขนมจันอับ" ใช้ไหว้เจ้าได้ทุกประเภท ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ
- เต้ายิ้งปัง คือ ขนมถั่วตัด
- มั่วปัง คือ ขนมงาตัด
- ซกซา คือ ถั่วเคลือบน้ำตาล
- กวยแฉะ คือ ฟักเชื่อม
- โหงวจ๊งปัง คือ ขนมข้าวพอง
ตั่วเปี้ย คนไทยเรีกว่า "ขนมเปี๊ย"
- แบบเจ เรียกว่า "เจเปี้ย" มีไส้มังสวิรัติ เช่น ไส้เต้าซา
- แบบชอ เรียกว่า "ชอเปี้ย" ใส่มันหมู ใช้ไหว้เจ้าได้ทุกอย่าง
ทึ้งถะ คือ เจดีย์น้ำตาล ซึ่งต้องมีทึ้งไซ หรือสิงห์น้ำตาล มีไว้เพื่ออารักขาเจดีย์ใช้ไหว้เทพยดาฟ้าดิน ในวันที่ 9 เดือน 1 ของทุกปีและสามรถใช้ไหว้เจ้าแม่กวนอิมในวันไหว้พระจันทร์ได้
โหงวก้วย-โหงวอั้ง หรือขนมลูกหลาน ใช้ไหว้คนตายในงานศพเท่านั้น ทำจากแป้งข้าวเจ้าทั้งแบบเกลี้ยง และแบบแต่งถั่วดำ กินไม่อร่อย แต่ใช้ในการทำพิธี
น้ำตาล นำน้ำตาลมาใส่ถุง ติดกระดาษแดง สามารถใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง
กระดาษเงินกระดาษทอง คนจีนเชื่อกันว่า เมื่อตายไปแล้วจะไปยังอีกภพโลกหนึ่ง เรียกว่า "อิมกัง"
ดังนั้นลูกหลานจึงต้องส่งเงินทองไปให้ เพื่อแสดงความกตัญญู ด้วยการไหว้เจ้า แล้วเผากระดาษเงินกระดาษทองไปให้ และการไหว้เจ้ายังเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลาน ให้มีความสุขความเจริญ ซึ่งกระดาษเงินกระดาษ ทองบางแบบใช้ไหว้เจ้า บางแบบใช้ไหว้บรรพบุรุษ
กอจี๊ หรือ จี๊จุ้ย เป็นกระดาษเงินกระดาษทองชิ้นใหญ่ มีกระดาษแดงตัดเป็นลายตัวหนังสือว่า "เผ่งอัน" เป็นคำอวยพร แปลว่า โชคดดีใช้สำหรับไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน
กิมจั้ว หรือ งึ้งจั๊ว หมายถึงกระดาษเงินกระดาษทอง เวลาจะไหว้จะทำเป็นชุดก่อนไหว้ลูกหลานจ้องนำมาพับเป็นรูปดอกไม้ ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง
กิมเต้า หรือ งึ้งเต้า หรือถังเงินถังทอง ใช้ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน กิมเตี๊ยว คือ แท่งทอง ใช้ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้คนตาย
ค้อซี คือ กระดาษทอง ก่อนใช้ให้พับเป็นรูปร่างก่อน เช่น พับเป็นเรือ เรียกว่า "เคี้ยวเท่าซี" เชื่อกันว่าการพับเรือ จะไก้มูลค่าสูงกว่าการพับอย่างอื่นใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง รวมทั้งไหว้คนตาย โดยเฉพาะพิธีทำกงเต๊ก ลูกหลานต้องพับค้อซี ให้มากที่สุด
อิมกังจัวยี่ คือแบงก์กงเต็กนั่นเอง
อ่วงแซจิ่ว ใช้เผาเป็นใบเบิกทาง ไปสวรรค์สำหรับผู้ตาย
เพ้า คือ ชุดของเทพเจ้า คล้ายกับที่คนไทยถวายผ้าห่มพระพุทธรูป มีการทำของเจ้าหลายองค์ เช่น ชุดของเจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม พระพุทธ
ตั้วกิม เป็นกระดาษเงินกระดาษทองที่ญาติสนิทนำไปไหว้ผู้ตายการเผากระดาษเงินกระดาษ ทองจะต้องทิ้งไว้สักพัก เพื่อให้ทุกคนได้เส้นไหว้เสร็จ ก็จะทำการ "เหี่ยม" หรือจบเหนือศีรษะ ระหว่างนี้ให้ทำการอธิฐานขอพรไปด้วย แล้วจึงนำไปเผา เมื่อไฟมอดแล้วจึงไหว้ลา เป็นการเสร็จพิธี
ผลไม้ไหว้เจ้า
ส้ม คำจีนเรียกว่า "ไต้กิก" แปลว่า โชคดี
องุ่น คำจีนเรียกว่า "พู่ท้อ" หมายถึง งอกงาม
สับประรด คำจีนเรียกว่า "อั้งไล้" แปลว่า มีโชคมาหา
กล้วย คำจีนเรียกว่า "เกงเจีย" มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล