หลายวันมานี้ข่าว “อุบัติเหตุรถยนต์” มีมากอย่างเห็นได้ชัดอีกแล้ว มีทั้งข่าวใหญ่เพราะมีผู้เสียชีวิตที่เป็นลูกคนดัง เพราะมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจำนวนมาก และกรณีที่เป็นข่าวไม่ใหญ่แต่ก็มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย ก็มีมากเช่นกัน โดยรถที่เกิดอุบัติเหตุก็มีตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ กระบะ เก๋ง ตู้ บัส ไปจนถึงรถพ่วง
อุบัติเหตุรถยนต์ ’คน“ มักถูกมองว่าเป็นต้นเหตุ
ก็ใช่-ส่วนหนึ่งก็เพราะคน...แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด!!
ทั้งนี้ เพราะ เมาแล้วขับขี่รถ เพราะ ง่วงแล้วขับขี่รถ เพราะ ขับขี่รถโดยประมาท เพราะ ไม่ห่วงหัว (ขี่หรือซ้อนมอเตอร์ไซค์โดยไม่ใส่หมวกกันน็อก) รวมถึง ไม่ได้เตรียม ’รถ“ ที่จะขับขี่ให้มีความปลอดภัย เหล่านี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งกับผู้ขับขี่และรถที่เป็นต้นเหตุ ผู้ขับขี่และรถคันอื่น รวมถึงผู้คนที่โดยสารมาในรถและผู้คนริมถนนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ซึ่งในแต่ละวัน แต่ละเทศกาล แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน แต่ละปี มีจำนวนมากมาย ทั้งที่ไม่ควรจะเกิด-ไม่น่าจะเกิด นี่ก็เพราะคนเป็นสาเหตุหลัก
อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ กรณีก็มี สภาพแวดล้อมเป็นสาเหตุประกอบ-เป็นตัวเร่งตัวเสริม อย่างช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วง ’ฤดูฝน“ ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มีการเตือนผู้ขับขี่รถทั้งหลาย อาทิ.....
ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง เนื่องจากสภาพถนนเปียกลื่น มีน้ำท่วมขัง และทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน การตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น ระบบใบปัดน้ำฝน ระบบเบรก ยาง สัญญาณไฟ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
สำหรับการตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ยกตัวอย่าง... ยางรถยนต์ ดอกยางควรมีความสูงไม่ต่ำกว่า 2.5 มิลลิเมตร หรือร่องยางไม่ต่ำกว่า 1.5-2 มิลลิเมตร พร้อมทั้งเติมแรงดันลมยางให้มากกว่าปกติ 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรีดน้ำและยึดเกาะถนน โดยเฉพาะการขับผ่านเส้นทางที่เปียกลื่น หรือมีน้ำท่วมขัง เพราะหากลมยางอ่อนจะทำให้รถแฉลบหรือเสียการทรงตัวง่าย, ระบบเบรก ตรวจสอบระดับน้ำมันเบรกอย่างน้อยเดือนละครั้ง หากตรวจพบความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเบรก เช่น เหยียบแป้นเบรกไม่ลง มีเสียงดังขณะหยุดรถ เบรกแล้วรถไม่หยุดในระยะที่กำหนด หรือเสียการทรงตัว ให้เปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ทันที
การขับรถในช่วงฝนตก ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากกว่าปกติ เนื่องจากสภาพถนนที่ชื้นแฉะ เมื่อผสมกับฝุ่น จะกลายเป็นดินโคลน ทำให้ถนนลื่นกว่าปกติ และอาจเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้
ตัวอย่างการระมัดระวังในการขับรถในช่วงฝนตก ก็เช่น... ขับรถอย่างมีสติ หมั่นสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อจะได้ควบคุมรถ ทิศทางการขับรถ ได้ทันท่วงที, เว้นระยะห่างจากรถคันหน้า ให้มากกว่าปกติ หากรถคันหน้าเบรกกะทันหันจะได้หยุดรถได้ทัน เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ผู้ขับขี่ต้องใช้ระยะทางในการเบรกมากกว่าปกติ, ลดความเร็ว ให้มากกว่าปกติลงมา 1 เกียร์ และใช้ความเร็วในระดับที่สม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้รถยึดเกาะถนนได้ดีขึ้นแล้ว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถควบคุมรถได้อย่างทันท่วงที อย่างปลอดภัย
ในช่วงฝนตกการขับรถมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ เนื่องจากสภาพถนนที่เปียกลื่น มีน้ำท่วมขัง และทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี ประกอบกับ ’สภาพถนนที่ไม่ปลอดภัย“ จึง ’เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน“ ได้ง่าย...เหล่านี้ก็เป็นตัวอย่างบางส่วนของ “คำเตือน”
ทั้งนี้ นอกจาก “คน” “รถ” และนอกจากสภาพแวดล้อม เช่น “ฝน” อาจเป็นสาเหตุประกอบ-เป็นตัวเร่งตัวเสริม ดังที่ระบุมาข้างต้น กับ ’ถนน“ ไม่ว่าจะเป็นแบบพื้นราบหรือยกระดับเป็นสะพาน ก็ ’อาจเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์“ ตั้งแต่แค่เฉี่ยว ไปจนถึงชน หรือถึงขั้นรถหล่นจากสะพาน ซึ่ง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ได้เคยชี้ไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน นี่ก็ ’มองข้ามไม่ได้“ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการพูด
ถึงและยอมรับเรื่องนี้กันแล้ว แต่การปรับแก้มิให้อันตรายก็ยังทำได้ไม่เท่าไหร่ พอเกิดเหตุทีก็พูดกันทีเป็นแบบ ๆ เป็นจุด ๆ ไป ยังไม่ครอบคลุม
ขนาดถนนหลักในกรุงเทพฯ ที่มีทางยกระดับคร่อมข้างบนอย่างถนนวิภาวดีรังสิต มีสภาพเป็นเหมือนเนินลูกระนาดแทบทุกจุดที่เป็นที่ตั้งโคนเสาตอม่อทางยกระดับ เป็นอย่างนี้มานานแล้ว รถที่ไม่คุ้นสภาพเส้นทางหรือไม่ทันระวัง เกิดแฉลบ เกิดอุบัติเหตุเพราะเนินเหล่านี้ ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นแบบเดิม
“ในเมืองไทย เวลาเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ การสอบสวนมักพุ่งไปที่ตัวคนขับเป็นหลัก แต่ในประเทศที่มีมาตรฐานจะพิจารณาทั้งคน รถ ถนน” ...ทางหน่วยจัดการความรู้เพื่อถนนปลอดภัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เคยระบุไว้นานแล้ว ซึ่งมาถึงวันนี้ก็เริ่มมีการพิจารณาที่รถและที่ถนนด้วยแล้ว เพียงแต่วันนี้...คนไทยเชื่อมั่นกับมาตรฐานถนนได้มากน้อยแค่ไหน??
ถนนทำให้การขับขี่รถไม่ปลอดภัย...ไม่ควรจะมี
ถนนที่ทำให้อุบัติเหตุยิ่งรุนแรง...ยิ่งไม่ควรจะมี
ถนนมรณะ...ยังมีในเมืองไทยอีกแค่ไหน?????.