ติดตั้งเสายาง แยก'ลูกโกวิท'

ตีเส้นชะลอเร็ว 115จุดอันตราย



ป้องกัน - กทม.นำเสากั้นสีส้ม มาติดตั้งเตือนภัยตรงทางแยกตัววาย บนสะพานรัชวิภา จุดเกิดโศกนาฏกรรม "น้องมายด์" ลูกสาวโกวิท วัฒนกุล ดาราอาวุโส ขับเบนซ์พุ่งชนตกลงไป เมื่อ 14 ส.ค.

กทม.ล้อมคอก ลุยติดเสายาง-ตีเส้นชะลอความเร็ว 115 จุดทั่วกรุง หวั่นซ้ำรอย'ลูกโกวิท' พร้อมเตรียมติดตั้งอุปกรณ์ลดความรุนแรงจากการชนอีก 8 จุดเสี่ยง ทั้งทางยกระดับจตุรทิศ ทางยกระดับคู่ขนานลอยฟ้า สะพานลอยรัชวิภา สะพานลอยข้ามแยกเอกมัยเหนือ ก่อนออกมาตรการคุมเข้มป้ายโฆษณายักษ์ หลังพายุซัดพังครืนทับชาวบ้านดับ



จากอุบัติเหตุสุดสลดใจ 'น้องมายด์' น.ส.มาธวี วัฒนกุล บุตรสาวนายโกวิท วัฒนกุล นักแสดงอาวุโส และเพื่อนสนิท ขับรถเก๋งพุ่งชนแท่งปูนบริเวณแยกตัววาย บนสะพานข้ามแยกรัชวิภา แล้วร่วงตกลงมากระแทกพื้น เป็นเหตุให้ทั้ง 2 คนเสียชีวิต ก่อน 'กทม.'สั่งปรับปรุงแยกจุดเกิดเหตุ รวมถึงตรวจสอบเส้นทาง-โค้งอันตรายกว่า 70 จุดทั่วกรุง โดยมีทางด่วนจุดลงพระราม 6 - ยมราชรวมอยู่ด้วย เพราะหวั่นเกิดการสูญเสียซ้ำรอย ตามที่เคยเสนอข่าวไปแล้วนั้น



ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังการหารือในที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ว่าจากการตรวจสอบเหตุการณ์รถตกสะพานข้ามแยกรัชวิภา จนทำให้ น.ส.มาธวี วัฒนกุล และนายจักรพงษ์ เจริญผล เสียชีวิต พบว่ามีการเฉี่ยวชนผนังคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณช่องจราจรกลาง ก่อนเสียหลักพุ่งไปทางด้านซ้ายและตกลงไปด้านล่าง เบื้องต้นสันนิษฐานว่าผู้ขับอาจหลับใน เพราะปกติไม่ค่อยมีผู้ขับชน ที่ผ่านมากทม.คิดว่ามาตรการความปลอดภัยของทางยกระดับมีเพียงพอแล้ว เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้มีน้อยมาก



ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวอีกว่า กทม.มีข้อสรุปเพื่อให้ทางยกระดับของกทม.มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดหรือลดเหตุการณ์เช่นนี้ โดยจะดำเนินการใน 2 ทางคือ 1.ตีเส้นชะลอความเร็วบนทางยกระดับ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในระดับพื้นราบ 115 จุด ประกอบด้วย ทางโค้ง 68 จุด สี่แยก 17 จุด และทางสามแยก 30 จุด แต่ยังไม่เคยทำบนทางยกระดับ เพราะมีประชาชนใช้งานจำนวนมาก ทำให้การตีเส้นชะลอความเร็วอาจก่อให้เกิดความรำคาญกับผู้ที่สัญจรไปมา แต่จะเริ่มทำในจุดเสี่ยงก่อน อาทิ แยกรัชวิภาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อีกทั้งยังติดตั้งเสายางบริเวณจุดเกิดเหตุ เพื่อให้ผู้ขับรถผ่านไปมาสังเกตเห็นด้วย



ผู้ว่าฯกทม.กล่าวต่อว่า 2.ติดตั้งอุปกรณ์ลดความรุนแรงจากการชน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อ 18 ชุด ในงบประมาณ 8 ล้านบาท โดยจะติดตั้งทั้งหมด 7 แห่ง ประกอบด้วย 1.ทางยกระดับจตุรทิศ แยกมักกะสัน 2.ทางยกระดับคู่ขนานลอยฟ้า บรมราชชนนี 3.สะพานลอยรัชวิภา 4.สะพานลอยข้ามแยกเอกมัยเหนือ 5.สะพานลอยข้ามแยกบางกะปิ 6.สะพานลอยข้ามแยกรามคำแหง และ 7.สะพานลอยข้ามแยกพระรามที่ 2 โดยจะดำเนินการตรวจสอบจุดเสี่ยงเพิ่มเติมต่อไป



ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่โค่นล้มบริเวณปากซอยพระรามที่ 2 ซอย 40 แขวงบางมด เขตจอมทอง กทม. จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ส.ค.นั้น ขณะนี้กำลังตรวจสอบสาเหตุ แต่ได้ดำเนินการรื้อถอนป้ายที่พังลงมาแล้ว ส่วนป้ายที่อยู่คู่กันได้นำผ้าใบและสังกะสีที่ต้านลมออก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เจ้าของอาคารยื่นรายงานการตรวจสอบอาคารเมื่อปี 2553-2554 รับรองว่าป้ายมีความมั่นคงแข็งแรง แต่ในปี 2555 ยังไม่ยื่นรายงานผลการตรวจสอบ สำนักงานเขตจอมทองจึงมีหนังสือแจ้งเจ้าของป้ายให้จัดทำผลการตรวจสอบอาคาร และจัดทำประกันภัยรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ต่อมาเจ้าของเดิมแจ้งว่าขายป้ายดังกล่าวไปแล้ว จึงทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของใหม่ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งยังไม่มีการติดต่อมาแต่อย่างใด



ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของป้ายโฆษณาทั่วไปสั่งการให้สำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอน คือ 1.ตรวจสอบและมีคำสั่งแจ้งเจ้าของป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมายภายใน 15 วัน เพื่อให้เจ้าของป้ายโฆษณาดำเนินการแก้ไขหรือรื้อถอนภายใน 30 วัน 2.ป้ายที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือฟ้องศาลให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง 3.ป้ายที่ถูกต้องตามกฎหมายให้เร่งตรวจสอบป้ายจากผู้ตรวจสอบ เพื่อขอใบรับรองการตรวจสอบ หรือใบ ร.1 4.แจ้งเจ้าของป้ายให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงของป้าย 5.เร่งรัดให้รื้อถอนป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และ 6.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงป้ายทราบถึงอันตราย



ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงผลการประชุมว่า มีการสั่งการเพิ่มเติมคือ 1.ให้สำนักงานเขตตรวจสอบจำนวนป้ายที่มีอยู่ทั้งหมด เพราะมีป้ายที่ขึ้นโดยผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยให้ตรวจสอบความปลอดภัยของป้ายโฆษณาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือในชุมชน 2.ให้สำนักงานเขตแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีทางอาญากับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกทม. 3.ให้ดำเนินการรื้อถอนป้ายโฆษณาที่รื้อถอนได้ โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ซึ่งบางป้ายที่ยังอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องยังไม่สามารถรื้อได้ ต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน 4.ให้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการโดยด่วน และ 5.ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทบทวนนโยบายเกี่ยวกับป้ายว่า หลังจากนี้ไปจะดำเนินการอย่างไร



'สำหรับป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมายและยังอยู่ในกระบวนการของศาล มีป้ายโฆษณาบนดิน 92 ป้าย และป้ายโฆษณาบนอาคาร 50 ป้าย แม้ว่าจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย แต่ถ้าอยู่ในการพิจารณาของศาลก็ไม่สามารถรื้อถอนได้ แต่ได้กำชับให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งไม่ได้ดำเนินการแค่เจ้าของป้ายเท่านั้น แต่จะดำเนินการกับวิศวกรที่เซ็นรับรองด้วย เช่น พักหรือถอนใบขออนุญาต ส่วนป้ายโฆษณาที่ล้มครั้งนี้ผิดกฎหมายแน่นอน เพราะไม่ได้ยื่นใบ ร.1 ตั้งแต่ปี 2547' ผู้ว่าฯกทม. กล่าว



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุน.ส.มาธวี วัฒนกุล บุตรสาวนายโกวิท วัฒนกุล ขับรถพุ่งชนแท่งปูนบริเวณแยกตัววาย บนสะพานข้ามแยกรัชวิภา แล้วร่วงตกลงมากระแทกพื้น ล่าสุด กทม.ได้นำเสายางสีส้มรวม 8 ต้น มาติดตั้งบริเวณแยกตัววาย ก่อนถึงสโลปทางแยก บนทางยกระดับรัชวิภา เพื่อให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาเห็นแยกและป้องกันรถพุ่งตกลงไปอีก

 

15 ส.ค. 55 เวลา 10:19 2,980 5 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...