ช่องเขาขาด...เส้นทางสายทาส

ช่องเขาที่แบ่งภูเขาหินขนาดย่อมๆ ขาดออกเป็นสองฝั่ง มีทางทอดยาวเข้าไป ดูอย่างไรก็เกิดจากฝีมือมนุษย์มากกว่าธรรมชาติสรรค์สร้าง เพื่อใช้เป็นทางรถไฟจากกาญจนบุรีไปพม่า ถ้าเป็นยุคนี้คงเสียเวลาไม่นานนัก หากแต่เมื่อ 70 ปีก่อน ณ ที่แห่งนี้ได้กลายเป็นนรกสันดาปบนดินอย่างแท้จริง ที่ซึ่งเชลยศึกต้องสังเวยชีวิตมากมายเหลือคณานับ ว่ากันว่า 1 หมอนรางรถไฟเท่ากับ 1 ชีวิตของเชลยศึก !?!

 

ปัจจุบันช่องเขาขาดได้ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ อยู่ภายในกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จากทางหลวงหมายเลข 323 ไปทางทิศตะวันตกของเมืองกาญจน์ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 64-65 ต้องต้อนรับทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 8 หมื่นคนต่อปี ที่เดินทางมาร่วมรำลึกและไว้อาลัยต่อเชลยศึก ตลอดจนแรงงานชาวเอเชียที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อตัวขึ้นในยุโรปเมื่อเยอรมันภายใต้การนำของผู้นำจอมเผด็จการ "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" ได้ยกกองทัพบุกโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2482 ต่อมาปลายปี 2484 สงครามได้ขยายเข้าสู่ยุโรปและตะวันออกกลาง ต่อมาญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมสงครามหาเอเชียบูรพา โดยวางแผนบุกอาณานิคมของอังกฤษ ฮอลแลนด์ และอเมริกา ในเอเชียแปซิฟิก

 วันที่ 7-8 ธันวาคม 2484 สงครามในแปซิฟิกเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อกองทัพญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbour) เมืองท่าสำคัญของมลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา จุดชนวนให้อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัว หลังจากรอดูท่าทีอยู่นาน

 กลางปี 2485 ทหารลูกพระอาทิตย์เข้าสู้รบกับกองทหารอังกฤษในพม่า โดยมีจุดประสงค์หลักคือต้องการรุกคืบเข้าสู่อินเดีย อาณานิคมของสหราชอาณาจักร แต่การทำสงครามกับพม่า ทหารญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้เส้นทางการขนส่งกองกำลังและเสบียง ที่ปลอดภัยมากกว่าการเดินเรือทะเลระหว่างสิงคโปร์กับย่างกุ้ง เพราะล่อแหลมต่อการถูกโจมตีจากฝ่ายพันธมิตร

 

 

ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจสร้างทางรถไฟที่มีความยาวประมาณ 415 กิโลเมตร จาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านผืนป่าและภูเขาสูงชันไปถึง อ.ตันบูชายัต ในประเทศพม่า ด้วยเหตุนี้กองทัพญี่ปุ่นจึงรวบรวมเอาแรงงานหลายเชื้อชาติ ทั้งแรงงานชาวเอเชียราว 2.5 แสนคน และเชลยศึกชาวออสเตรเลีย อังกฤษ ฮอลแลนด์ และอเมริกา มากกว่า 6 หมื่นคน มาก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ขึ้น

 การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นที่ตอนใต้ของพม่าช่วงเดือนตุลาคม 2485 ปลายฝนต้นหนาว ขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างทางรถไฟในประเทศไทย เพื่อไปบรรจบกันที่แก่งคอยท่าในเขตไทย ซึ่งกินเวลานานนับขวบปี

 มีบันทึกหลายแห่งระบุถึงความโหดร้ายทารุณ ที่บรรดาเชลยศึกและแรงงานได้รับ ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ โดยเฉพาะการขุดเจาะช่องเขาเพื่อวางรางรถไฟ กองทัพญี่ปุ่นได้นำเชลยศึกชาวออสซี่ 400 คน ประเดิมขุดเจาะ และเมื่อเห็นว่าการก่อสร้างทางเป็นไปด้วยความล่าช้า จึงเพิ่มเชลยศึกเข้าไปอีก ส่วนใหญ่เป็นทหารออสซี่และจากสหราชอาณาจักร

 ในบันทึกที่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานช่องเขาขาด บรรยายเหตุการณ์เอาไว้อย่างละเอียดว่า บรรดาเชลยศึกเหล่านี้ต้องใช้ค้อนหนัก 8 ปอนด์ สว่าน ระเบิด เสียม พลั่ว จอบ ขุดเจาะช่องเขาทีละนิดๆ แล้วขนใส่ตะกร้าหวายอันเล็กๆ ขนเศษหินและดินออกไปทิ้ง พวกเขาทำงานตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ได้หยุดหย่อน ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เพราะนอกจากงานหนักและทารุณแล้ว ยังมีโรคไข้ป่าเล่นงานเชลยศึก หลายคนเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นใบไม้ร่วง 

 ขณะก่อสร้างเส้นทางสายนี้เป็นช่วงมรสุม เชลยศึกถูกวิศวกรชาวญี่ปุ่นและผู้คุมชาวเกาหลี บังคับให้ทำงานวันละ 18 ชั่วโมง กินอาหารวันละ 2 มื้อ คือ ข้าวกับผักดองเค็ม ระหว่างการก่อสร้างสะพานรถไฟให้เสร็จทันกำหนด เหล่าเชลยศึกฝ่ายพันธมิตรขนานนามช่องเขาขาดว่า "ช่องนรก" หรือ Hell Fire Pass ด้วยเหตุที่พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืน โดยอาศัยแสงสว่างจากคบไฟที่จุดพรึ่บจนสว่างไสวเหมือนกลางวัน

 "เชลยศึก 6 หมื่นคน 20 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิต แรงงานอีกไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นคน ต้องสังเวยชีวิตระหว่างการก่อสร้างรถไฟแห่งนี้ จนมีผู้เปรียบเปรยว่า 1 หมอนรางรถไฟเท่ากับ 1 ชีวิตของเหล่าเชลยศึก" ทิม เอี่ยมทอง อดีตผู้ใหญ่บ้านท่าทุ่งนา หมู่ 2 ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี วัย 60 เศษ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มานาน ได้ฟังคำบอกเล่าต่อๆ กันมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย กล่าวกับ "คม ชัด ลึก"

 เมื่อทางรถไฟสายดังกล่าวสร้างเสร็จสิ้นภายในเวลา 20 เดือน เชลยศึกบางส่วนถูกส่งกลับไปสิงคโปร์ บางส่วนถูกกักขังไว้ในประเทศไทย กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เชลยศึกที่หลงเหลืออยู่จึงถูกส่งกลับประเทศ พร้อมกับการดูแลอย่างเหมาะสม แม้ว่าจะมีชีวิตรอดกลับสู่มาตุภูมิ แต่ความทรงจำอันแสนเลวร้ายที่ได้รับระหว่างการอยู่ใต้อำนาจของกองทัพญี่ปุ่น กลายเป็นบาดแผลในใจที่ยากเยียวยา

 ส่วนเชลยศึกที่นำชีวิตมาทิ้งไว้ ณ ที่แห่งนี้ ได้รับการขุดร่างไร้วิญญาณไปทำพิธีฝังใหม่ ณ สุสานเครือจักรภพที่ตันบูชายัต ประเทศพม่า สุสานช่องไก่ และสุสานกาญจนบุรี ประเทศไทย ส่วนศพเชลยศึกชาวอเมริกันถูกส่งกลับไปที่สหรัฐ

 แม้วันนี้ที่ช่องเขาขาดจะ ปราศจากคบไฟ แรงงานเชลยศึก และการทรกรรม แต่หินทุกก้อน ต้นไม้ทุกต้น ก็มีเรื่องราวให้เล่าขานถึงเหตุการณ์เมื่อวันวาน วันที่เชลยศึกและแรงงานนับหมื่นนับแสนคนเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่ โดยไม่มีวันได้หวนกลับคืนสู่มาตุภูมิไปชั่วนิรันดร์ !?!

 

 

ประวัติศาสตร์มีชีวิต

 ช่องเขาขาดเป็นทางแคบๆ ตัดผ่านเนินเขา มูลดิน ทางรถไฟ และสะพาน ปัจจุบันได้กลายเป็นโครงการพิพิธภัณฑสถานช่องเขาขาด เพื่อรำลึกถึงเหล่าทหารที่ต้องทุกข์ทรมานจากการก่อสร้างเส้นทางสายทาสนี้ โดย เจ จี ทอม มอรีส ชาวออสเตรเลีย หนึ่งในเชลยศึกที่อยู่ร่วมชะตากรรมนรกบนดินครั้งนั้น เป็นคนริเริ่มพัฒนาและบำรุงรักษาไว้ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ถึงความโหดร้ายที่เชลยศึกได้รับระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

 ขณะอายุได้ 17 ปี ทอมสมัครเข้าเป็นทหารยศสิบโท กองพลน้อยที่ 22 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2484 เขาถูกจับเป็นเชลยศึกระหว่างทำสงครามที่สิงคโปร์ เดือนกุมภาพันธ์ 2485 หลังจากนั้นถูกนำตัวมากักขังในฐานะเชลยศึกนานถึง 3 ปี ในกองกำลังเอฟอร์ซ (A-Force) ระหว่างถูกคุมขังทอมถูกบังคับให้ทำงานก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่าสายประวัติ ศาสตร์นี้ และถูกนำตัวไปขังไว้ตามค่ายทหารต่างๆ ถึง 10 ค่าย จนเป็นต้นเหตุให้เขาติดเชื้อไข้มาลาเรียและโรคบิด ต่อมาเขาได้ทำหน้าที่ทหารเสนารักษ์ คอยช่วยเหลือเชลยศึกคนอื่นๆ ในค่ายพยาบาลบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 55

 หลังพ้นจากนรกขุมสุดท้าย ทอมได้กลับบ้านที่ออสเตรเลียและอาศัยอยู่ที่นั่นนานกว่า 40 ปี เขาจึงตกลงใจกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง เพื่อหาที่ตั้งของจุด "ช่องเขาขาด" (Hell Fire Pass) เมื่อปี 2527 และความพยายามอันมุ่งมั่นของเขาก็ประสบความสำเร็จ นอกจากจะพบที่ตั้งของช่องเขาขาดที่ อยู่ใจกลางป่าทึบแล้ว ทอมยังมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะบูรณะพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่ต้องนำเอาเลือดเนื้อและวิญญาณมาสังเวยให้แก่ ทางรถไฟสายนี้

 โดยทอมได้นำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อของบประมาณบูรณะพัฒนาช่องเขาขาดให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ในลักษณะกองทุน โดยเงินก้อนแรกถูกส่งมาเมื่อปี 2530 ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานช่องเขาขาด ต่อมาปี 2537 ได้รับเงินสนับสนุนอีกครั้ง จึงนำไปใช้สร้างพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด เพื่อจัดแสดงมินิเธียเตอร์และรวบรวมข้อมูลภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเมื่อ 70 ปีก่อน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2542

Credit: http://www.komchadluek.net/detail/20090
12 ส.ค. 55 เวลา 13:28 9,698 3 140
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...