ปริศนาโบราณคดี เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ มติชนสุดสัปดาห์ 10-16 ส.ค. 2555
ยิ่งตอนนี้ ความวิปริตกาลี ยกขบวนพาเหรดออกมาโชว์โง่ให้เห็นเช่นคราวนี้ดาหน้ามาขอทวงคืน "สีแดง" กันเป็นทิวแถว จนอิฉันอดรนทนฉงนอยู่ไม่ไหว ต้องขอออกมาถอดรหัสเรื่อง "สี" ให้พวกตาเหล่ ตาบอด ได้ตาสว่างกันสักตอน
นับแต่ "หงา คาราวาน" ที่เป็นเอามากๆ ถึงขนาดร่ายกลอนร่อนเน็ตตอบโต้กับ วิสา คัญทัพ ว่า "ขอเรียนศาลแห่งสีที่เคารพ สีต้องใช้ไม่ครบกระบวนสี มีกลุ่มคนผูกขาดในชาตินี้ ยึดสีแดงไปย่ำยีเป็นของตน" เชื่อว่าหากยื่นฎีกาจริง คงสร้างความขบขันต่อคณะ "ตลก" ไม่น้อย
และแล้ว วันร้ายคืนเลว หัวหน้าแมงสาปพร้อมลูกสมุนก็เอาบ้าง คราวนี้ล่อ "เสื้อแดง" ขึ้นเวทีปราศรัยน้ำใจเชือดคอ เรียกร้องขอ "ทวงคืนสีแดงให้แก่ธงชาติ" หลังย่ามใจเคย "ทวงคืนกระชับพื้นที่ราชประสงค์-สี่แยกคอกวัว" ฆ่าประชาชนบริสุทธิ์ไป 98 ศพอย่างไม่รู้สึกรู้สา และไร้ความผิด
เกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามกับ "คนเสื้อแดง" อยู่ดีๆ ก็เลิกฮิตสีเหลือง-ฟ้า-ชมพู-เขียว-ส้ม (สลิ่ม) ที่ตนเองผูกขาด
นึกกระดี๊กระด๊าอะไรมิทราบถึง "อยากทวงคืนสีแดง" จนเก็บอาการกระสันนั้นไม่มิด
จากวรรณะกษัตริย์สู่ศาสนา
ชาติมาปลอมปนเอาทีหลัง
"สีแดง" เคยถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยก "สีเสื้อ" มาแล้ว
ชัดที่สุดก็คือวรรณะทั้ง 4 ของอินเดีย ที่กำหนดให้ พราหมณ์ต้องแต่งสีขาว กษัตริย์แต่งสีแดง แพศย์แต่งสีเหลือง ศูทรแต่งสีดํา
"วรรณะ" คำนี้หมายถึงเชื้อชาติ (race) ภาษาอังกฤษใช้ caste ยืมมาจากภาษาละติน casta หรือที่สันสกฤตใช้คําว่า "ชาติ" (อ่าน ชา-ติ Jati)
"ชาติ" หรือ "วรรณะ" จึงเป็นเครื่องหมายแห่งการแบ่งแยกสีผิว ชั้นชน หรือสีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตามแต่ชาติกำเนิด ด้วยความเชื่อที่ว่าคนเกิดในวรรณะสูงมีผิวกายขาวแบบอารยัน คนวรรณะต่ำมีผิวกายดำแบบทมิฬ
จากแค่เพียง "ขาว" กับ "ดำ" ก็เพิ่ม "แดง" กับ "เหลือง" มาอีกหนึ่งคู่อยู่ตรงกลางให้ครบคนสี่วรรณะ โดยยกสีขาวให้ "พวกพราหมณ์" ไปในฐานะผู้อยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากที่สุด
อุปโลกน์ "สีแดง" มาให้วรรณะกษัตริย์ ผู้เป็นนักรบนักปกครอง และผิวกายต้องกรำแดดจนแดงก่ำในการทำสงครามขยายดินแดน แม้ในเมืองไทยเราเมื่อรับเอาพิธีกรรมของพราหมณ์มาใช้ในราชสำนัก ก็ยังมีธรรมเนียมการแต่งกายที่ระบุไว้ชัดว่า "บัณฑิตนุ่งขาว เจ้านุ่งแดง"
ส่วน "สีเหลือง" คือแพศย์ เป็นชนชั้นของพ่อค้า ชาวไร่ชาวนาทั่วไป (คำว่า "หญิงแพศยา" แท้คือหญิงที่ทําการค้าด้วยขายบริการเรือนร่างตัวเอง ก็มาจากคําว่า แพศยา คำนี้) เป็นสีที่จางจืดลงมาอีกหน่อย ไม่บริสุทธิ์เหมือนสีขาว แต่ก็ไม่ข้นเข้มเหมือนสีแดง
สุดท้ายคือ "สีดำ" ยัดเยียดให้เป็นสัญลักษณ์ของหรือศูทร ทั้งๆ ที่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมเจ้าของประเทศ กลับถูกกดขี่ให้กลายเป็นสถุลทาส
ใครเกิดมาวรรณะไหนก็ต้องเป็นคนในวรรณะนั้นไปจนตาย หรือกล่าวให้ง่ายก็คือ ใครถูกกำหนดให้ใส่เสื้อสีใดแล้ว ก็ย่อมสวมเสื้อสีนั้นไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ที่น่าแปลกและกลับตาลปัตรกันก็คือ ณ โลกปัจจุบัน หากไม่นับสีขาวซึ่งยังคงเป็นภาพของนักบวชผู้ทรงศีลดุจเดิม เรากลับเห็นว่าดารา นักร้อง นางแบบ เริ่มจากชาวตะวันตก ล้วนแต่คลั่งไคล้ "สีดำ" กันเป็นบ้าเป็นหลัง จนไม่เหลือร่องรอยแห่งความมอซอขมุกขมัวที่เหล่า "กาฬชน" เคยถูกเหยียดหยาม แต่กลับกลายเป็นสีสุภาพคลาสสิกที่สุดในเวทีสากล
สีเหลืองบ้านเรานี่สิพิลึก เป็นไพร่กระฎุมพีอยู่ดีๆ ก็ "โหน" เลื่อนสถานะตัวเอง จนกลายเป็นอำมาตย์ อำนาจนิยม เมาชาติ
สีแดงซ้ำหนัก ประกาศเรียกตัวเองว่า "ไพร่" แต่ดันไปเอาสีของกษัตริย์อินเดียโบราณมายึดครอง
เหตุเพราะ "สีในเชิงสัญลักษณ์" ต่างๆ นี้มีวิวัฒนาการไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะ "สีแดง" นั้นชาวอุษาคเนย์ที่นับถือพุทธมิใช่ฮินดู นิยมนำมาใช้ในงานพุทธศิลป์มากกว่า "สีขาว" เพราะถือว่าเป็นของพวกพราหมณ์
"สีแดง" อีกนัยหนึ่งจึงเป็นเสมือน "สีแห่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ก็ใช้ "สีแดง" เขียนภาพบนผนังถ้ำเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
ยิ่งยุคสุโขทัย ล้านนา อยุธยา จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ยิ่งชัดเจน สีแดงเจริดแจร่มอยู่บนผนังโบสถ์ วิหาร เสามงคล ดาวเพดาน ทุกหลืบซอกของพุทธสถาปัตย์ ในฐานะที่เป็น "ปริมณฑลอันอุดมมงคล"
สรุปแล้ว "สีแดง" ในอดีตใช่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของ "เจ้า" เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง "พระ" อีกด้วย หากเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ก็ต้องว่า สีแดงถูกนำมารับใช้ทั้งสถาบันกษัตริย์และศาสนาคู่ขนานกัน ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสถาบัน "ชาติ" เลย ด้วย "รัฐชาติ" เป็นเรื่องที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นอย่างกลวงๆ เกรียนๆ ในยุคหลัง
แต่เจ้ากรรมแท้ๆ ที่สีแดง ณ ปัจจุบัน ดันต้องกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ "ชาติ" บนธงไตรรงค์ อันเป็นมูลเหตุให้สาวกลัทธิ "คนดีคลั่งชาติ" มาขอทวงคืน
ธงแดง VS ธงไตรรงค์
พวกที่ลุกขึ้นมาเต้นแร้งเต้นกาประท้วงคนเสื้อแดงนั้น น่าจะไปทวงคืนสัญลักษณ์ "ธงสีแดง" จากกลุ่มประเทศค้อนเคียวทั้งหลายก่อนด้วย
การเดินทางของสีแดงนั้นน่าสนใจยิ่ง มิได้ถูกผูกขาดในความหมายใดเพียงหนึ่งเดียว การใช้สัญลักษณ์สีแดงของกลุ่มที่ถูกตราหน้าว่าหัวเอียงซ้ายนั้น เป็นการนำสีแดงมาให้คุณค่าใหม่ในเชิงสัญญะ แตกต่างไปจากคุณค่าเดิม
ชาวจีนเคยเชื่อว่า สีแดงคือสีแห่งมงคล เป็น "ธาตุไฟ" แสงสว่าง อำนาจ ความรุ่งโรจน์ เฮง เฮง เฮง! ถึงขนาดจะทำอะไรยังมีสโลแกนว่า จะถูกจะแพงขอให้ "แดง" ไว้ก่อน
แต่แล้วหลังช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการปฏิวัติในจีน สีแดงกลับแปรเปลี่ยนภาพลักษ์ใหม่เป็น "เลือดมวลประชาผู้หลั่งริน" ขอกระชากบัลลังก์จักรพรรดิมิให้ผูกขาดอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว สีแดงจึงชูไสวบนธงพรรคคอมมิวนิสต์ หรือหน่วยพิทักษ์แดง (เรดการ์ด) และแน่นอนว่าสีนี้ได้กลายเป็นรหัสสากลที่ใช้ในกลุ่มประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันทั่วทั้งโลก
ก็ไม่เห็นมีนักอนุรักษนิยมคนไหนในจีนมาประท้วงกล่าวหาว่าจีนคอมมิวนิสต์ขโมยสีแดงไปจากซอง "อั่งเปา" ของบรรพบุรุษพวกเขาเลย
ธงสยามในอดีตก็เคยสีแดงเกลี้ยง ต่อมาก็แทรกช้างเผือกกลางพื้นแดง อันมีมาก่อนธงของกลุ่มประเทศที่บูชาลัทธิมาร์กซิสต์นั้นด้วยซ้ำ
ด้วยสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของ "เจ้า" และ "พระ" มานานนม กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อสยามได้เข้าร่วมฉลองชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 เห็นธงชาติประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหลายเขามีแต่สี "ไตรรงค์" คือ แดง ขาว น้ำเงิน ไม่ใช่เอกรงค์แบบเรา จึงเอาอย่างเขาบ้าง
ฝรั่งเศสประกาศไว้ชัดว่า "ธงสามสี" ของเขาสืบเนื่องมาจากอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 กอปรด้วย "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" หาใช่ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบที่พี่ไทยดัดแปลง!
คนที่บัญญัติว่าสีแดงหมายถึง "ชาติ" นั้น ไม่ทราบว่าตีความคำว่า "ชาติ" แบบ Nation State สมัยใหม่อย่างตะวันตก หรือยังคงเป็น "ชา-ติ" แบบวรรณะของอินเดีย?
หากคิดว่าสีแดงเหมาะสมกับ "ชาติ" ถ้าเช่นนั้นธงชาติไทยก็ควรหวนกลับไปเป็น "ธงแดงเกลี้ยง" เหมือนเดิม เพราะแถบทั้งสามมีค่าเป็นสีแดงหนึ่งเดียว ก็ในเมื่อโบราณกาล สีแดงเคยเป็นสัญลักษณ์ทั้งกษัตริย์และศาสนามาก่อนแล้ว
การยกสีขาวให้คู่กับ "ศาสนา" ถือเป็นการประกาศว่าเราเป็นเมือง พราหมณ์ปนพุทธ พุทธปนไสย?
ปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจ คือการกำหนดให้กษัตริย์เป็น "สีน้ำเงิน" แทนสีแดง ถือเป็นค่านิยมใหม่ที่รับจากตะวันตก ตามโลกทัศน์ที่ว่า "กษัตริย์ต้องมีเลือดสีน้ำเงิน" คำคำนี้มีที่มาจากกษัตริย์สเปนในศตวรรษที่ 8 ตอนทำสงครามกับแขกมัวร์ เป็นคำประกาศที่ต้องการแยกให้เห็นถึง "ขัตติยมานะ" ของคนที่จะเป็นกษัตริย์ ว่าต้องทระนงองอาจกล้าหาญยิ่งกว่าคนธรรมดาที่มีเลือดสีแดง เหตุเพราะ "คนขาว" นั้นเวลาเอามือที่กุมดาบยื่นออกมากลางเปลวแดดจะเห็นเส้นเลือดใต้ผิว (ที่แสนขาวนั้น) เป็นสีน้ำเงินระเรื่อ ว่าเข้านั่น!
สรุปแล้ว แนวคิดเรื่องสีที่ใช้แทนสัญลักษณ์กษัตริย์ ไม่ว่าโลกตะวันออกหรือตะวันตก ก็หนีไม่พ้นเรื่องการเหยียดผิวแบ่งแยกชนชั้นวรรณะอยู่นั่นเอง
ในที่สุด "ธงสามสี" ของไทยแลนด์ก็นำมาบังคับให้ยืนตรงเคารพวันละสองรอบ พร้อมท่องจำใส่หัวไว้ว่า สีแดงหมายถึงชาติ (ถ้า "ชาด" ล่ะไม่ว่า) สีขาวหมายถึงศาสนา (ขอยืมพราหมณ์มาให้พุทธ) และสีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ นอกจากจะลอกแนวคิดเรื่อง Blue Blood แล้ว สีนํ้าเงินยังเป็นสีประจำพระชนมวารเฉพาะของรัชกาลที่ 6 อีกด้วย จึงลงตัวพอดิบพอดี
ข้ออ้างของหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ว่าการมาทวง "สีแดง" คืนครั้งนี้ ก็เพราะเป็นสีหนึ่งในสามที่อยู่บนธงชาติ พูดราวกับว่าน้อยใจชะตากรรมที่ "สีเหลือง-ฟ้า-เขียว-ชมพู-ส้ม" มิได้เป็นหนึ่งในแถบริ้วธงชาติไทยกระนั้น
หรือกรณีของ "หงา คาราวาน" ที่อุทธรณ์ต่อศาลในบทจบว่า "เอาสีแดงคืนมาให้ข้าเถิด ก่อนจะเกิดสงครามห้ามไม่ได้ ทุกวันนี้พวกข้าไม่กล้าใช้ เพราะว่าใจไม่มีให้สีแดง..."
หากอยากจะใส่เสื้อสีแดงจริงก็ไม่เห็นมีใครเขาหวงห้าม ในขณะที่คนส่วนใหญ่เขากล้าใส่เสื้อแดงออกมายืนต่อสู้ประกาศจุดยืนทางความคิดบนท้องถนน แต่กลับมีคนบางคนกลับลืมความขมขื่นก่อนยุค "คืนรัง" ถ้ารู้สึกอายก็เอาเสื้อแดงมาใส่เป็น "แจ๋ว" อยู่กับบ้าน ปลูกผักดายหญ้า ล้างรถก็ได้ที่นา ไม่จำเป็นต้องมาข่มขู่กันเรื่องสงครามอะไรนั่น
ความอัปยศของเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 นั้นยังไม่เลวร้ายพอที่จะเรียกว่า "สงคราม" อีกดอกรึ?
อันที่จริงพวกคุณไม่ต้องลุกขึ้นมาทวงสีแดงจาก "คนเสื้อแดง" ให้อายเด็กประถม ตราบที่ในหัวสมองยังเวียนวนแต่เรื่อง "ดีแต่พูด หนีทหาร สองสัญชาติ สองมาตรฐาน"
สีแดงคงมีค่าเพียงภาพลวงตาของ "ชาติไทย" ที่คุณแสนจะรักและเทิดทูนประดับไว้บนธงไตรรงค์ โดยที่หัวใจคุณยังบอดใบ้หาได้สำเหนียกซึ้งถึงแก่นแท้และความหมายของ "สีแดง" ไม่
ว่าแท้จริงแล้ว มันคือสีเลือดของคนบริสุทธิ์ที่ถูกยีย่ำ กดขี่ให้จมอยู่ใต้ฝุ่นตีนของทรราษฎร์ ..."สีแดง" มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ ประชาธิปไตย ไม่รัฐประหาร ไม่สองมาตรฐาน ไม่มีอภิสิทธิ์ชน
กลายเป็นสีประจำ "คนเหมือนกัน" อย่างถาวรไปแล้ว