อาทิตย์ที่ผ่านมา หรือวันที่ ๙ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ ๓๐ คนในสนามโอลิมปิกสเตเดี้ยมที่กรุงลอนดอนพร้อมกับผู้ที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันวิ่ง ๔๐๐ เมตรชาย ปรบมือกึกก้องให้กับ นักวิ่งสัญชาติแอฟริกาใต้ชื่อ “ออสการ์ พิสโทริอุส” ที่เข้าเส้นชัยเป็นลำดับสุดท้ายอย่างกึกก้อง พิสโทริอุส คนนี้เป็นเจ้าของวลีที่พูดว่า
“ผู้พ่ายแพ้ไม่ใช่คนที่เข้ามีส่วนร่วมแล้วเข้าเส้นชัยหลังสุด แต่คือคนที่ไม่คิดที่จะมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นมากกว่า”
เจ้าของวลีคนนี้เป็นนักวิ่ง ๔๐๐ เมตรชายทีมชาติแอฟริกาใต้ที่มลักษณะพิเศษกว่านักกรีฑาคนอื่นๆในโอลิมปิกเกมส์นั่นคือเขาเป็นนักวิ่งที่ไม่มีขาสองข้างเพราะว่าพิการมาตั้งแต่กำเนิด แต่แม้ว่าเขาจะไม่มีขาแต่เขาเชื่อว่าเขา “วิ่งได้”และฝึกวิ่งด้วยขาเทียมจนกระทั่งได้ขาเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีน้ำหนักเบาเหมาะกับการเล่นกีฬา
และเข้าวิ่ง พาราลิมปิก (โอลิมปิกสำหรับผู้พิการ) และกีฬาพาราฯของเครือจักรภพ จนได้เหรียญทองและก้าวเข้ามาเป็นนักกีฬา “โอลิมปิก” แข่งขันกับผู้มีร่างกายปกติครบ ๓๒
พิสโทริอุส ผ่านรอบคัดเลือกมาได้ และเข้าสู่รอบ ๒๔ คนสุดท้าย (ตัดตัวเหลือเพียงแค่ ๘ คนเพื่อแข่งในรอบชิงชนะเลิศ)ที่เขาวิ่งเคียงบ่าเคียงไหลกับนักวิ่งอื่นๆที่ถึงแม้ว่าเขาจะมาเป็นอันดับสุดท้ายใน ๒๔ คน แต่ก็ช้ากว่านักวิ่งที่ได้อันดับที่ ๒๓ เพียงแค่ เสี้ยววินาที และห่างจากผู้ได้อันดับ๑ เพียงแค่ ๒ วินาทีเศษๆเท่านั้น
เพียงแค่การปรากฏกายของ “เบลด รันเนอร์” (ฉายาของเขาจากสัณฐานของขาเทียมที่เหมือนกับใบมีด) ในสนามในรอบรองชนะเลิศก็สร้างความรู้สึกดีๆให้กับผู้เข้าชมการแข่งขันทั้งในสนามกีฬาที่ลอนดอนและในทีวีผ่านการถ่ายทอดสด ว่าในโลกนี้ สิ่งที่ทำให้คนเราเท่าเทียมกันคือ “จิตใจที่เข้มแข็ง”
ก่อนจะมาถึงวันนี้ พิสโทริอุส คงต้องฝ่าฟันปัญหามหาศาลก่อนที่จะก้าวมายืนอยู่ที่หัวแถวของโลกกีฬาระดับโอลิมปิก ในวันนี้ หนึ่งในนั้นคือการถกเถียงที่เผ็ดร้อนของคนในวงการกรีฑาที่บอกว่า การที่เขาใช้ขาเทียมคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าขาจริงถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นการเอาเปรียบคู่แข่งอื่น (ที่สุดแล้วคำค้านที่จะให้เขาเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกนั้นก็ตกไปเพราะไม่สามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันได้ว่า ขาเทียมไฟเบอร์นั้นทำให้เขาวิ่งได้เร็วกว่าผู้อื่นจริง).. (อยากถามว่าจิตใจของผู้ที่พยายามสกัดไม่ให้เขาลงแข่งวิ่ง ๔๐๐ เมตรนั้นทำด้วยอะไร)
นอกเหนือจากที่ พิสโทริอุส จะเป็นนักวิ่งที่ยิ่งใหญ่แล้วเขายังเป็น นักสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกโดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเหมือนกับเขาคือ ไม่มีแขนขาครบสมบูรณ์เหมือนกับตัวเขาเอง
จริง ๆ แล้วเขาคือ นักกีฬา พาราลิมปิกคนที่สองของอาฟริกใต้ที่ก้าวเข้ามาแข่งกีฬาโอลิมปิกเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักกีฬาที่ครบสมบูรณ์ คนแรกคือ “นาตาลี ดูตัวต์” นักว่ายน้ำระยะ ๑๐,๐๐๐ เมตร นาตาลีนั้นเป็นนักว่ายน้ำเยาวชนแต่สูญเสียขาซ้ายตั้งแต่ใต้เข่าลงไปจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ แต่ กลับมาว่ายน้ำด้วยขาเพียงข้างเดียว (ปฏิเสธที่จะใช้ขาเทียม) จนกระทั่ง เข้าแข่งกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี ๒๐๐๘ (เป็นคนเชิญธงชาติแอฟริกาใต้เข้าสนามทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์) แม้ว่าเธอจะไม่ชนะได้เหรียญอะไรในโอลิมปิกครั้งที่ ๒๙ จากการว่ายน้ำ หนึ่งหมื่นเมตร (สิบกิโลเมตร) แต่เธอคืออีกหนึ่งตัวอย่างที่จะบอกกับชาวโลก (โดยเฉพาะกับผู้ที่ครบ ๓๒) ว่า จะใหญ่หรือเล็กชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ขึ้นกับร่างกายของเรา แต่มันขึ้นกับ “ขนาดของใจ” เราต่างหากว่าจะทำให้ชีวิตเราเป็นอย่างไรต่อไป
แล้วคุณล่ะ จิตใจของท่านใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าพวกเขาเหล่านั้น ท่านเคยบริหารจิตใจของท่านให้ทำในสิ่งที่หวังไว้แล้วหรือยัง.