ฆ่าไม่ตาย..โจรหัวปิงปอง!?

ผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนไม่ น้อยอาจรู้สึกลำบากใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในหลายท้อง ที่ แม้วัตถุประสงค์ตามหลักการนั้นเพื่อกำกับดูแลให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อลดอุบัติเหตุ หรืออำนวยความสะดวกเรียบร้อย แต่ในความเป็นจริงกลับมี ‘โจรหัวปิงปอง’ ตำรวจจราจรนอกรีด
       
       สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจแก่ผู้สัญจรไปมาบนท้องถนนเป็นประเด็นร้อน ที่ถูกนำมาถกกันได้ทุกวี่ทุกวัน ทั้งยังมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
       
       ที่ถูกพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ก็มีทั้งกรณีการตั้งด่านตรวจจับซ้ำซ้อนในบางพื้นที่ การดักจับรีดไถ่เงินผู้ขับขี่ รับส่วย กระทั่งปัญหาการจราจรติดขัดกรณีตำรวจตั้งด่าน การทำยอดใบสั่งแชร์รายได้ลับๆ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่หมักหมมในสังคมเรามาหลายสมัย
       
       จะว่าไป ท่านผู้มีอำนาจกำกับดูแลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีนโยบายและเร่งดำเนินการแก้ไขกันมาเป็นทศวรรษ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังเละเทะเช่นเดิม
       
       ล่าสุดก็มีนโยบายกำหราบตำรวจจราจรฉ้อโกงของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. โดยแนะว่าไม่ต้องให้ตำรวจจราจรมุ่งแต่การจับกุมหรือสักแต่ออกใบสั่ง เน้นให้ออกใบเตือนแทน ยกเว้นกรณีไม่สามารถตักเตือนได้จึงค่อยดำเนินการ ห้ามตั้งด่านทับซ้อนเพราะประชาชนได้รับผลกระทบจากการจราจรติดขัด และส่วนของตำรวจจราจรนอกรีดตั้งด่านเถื่อน รับส่วย ข่มเหงประชาชน ฯลฯ ท่านก็ยืนยันว่างานนี้ฟันไม่เลี้ยง จัดหนักทั้งทางวินัยและอาญา
       
       ด้าน พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานด้านจราจร ก็รับลูกนโยบายเร่งด่วน พร้อมเปิดเผยว่านโยบายดังกล่าวสอดรับกับการปฏิบัติงานด้านจราจรของตำรวจที่ ถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว
       
       ฟากผู้ขับขี่ที่ชอบฝ่าฝืนกฎจราจรก็พึ่งระวังกันให้ดีๆ ไม่นานมานี้เอง ครม.ได้อนุมัติร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก ส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ เป็นภาพถ่ายระบุฐานความผิดเรียกเก็บเงินตามอัตราที่ได้กระทำอย่างเข็มงวด
      

 

    จราจรท้องที่ ปะทะ จราจรกลาง
       ต้องอธิบายกันก่อนว่าตำรวจจราจรในบ้านเรานั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ตำรวจจราจรกลาง 2.ตำรวจจราจรประจำท้องที่(สถานีตำรวจต่างๆ)
       
       ในส่วนของความแตกต่างนั้นสังเกตง่าย ตำรวจจราจรกลางจะสวมหมวกพื้นขาวแถบส้ม ส่วนตำรวจแต่ละท้องหมวกพื้นขาวแถบสีดำ แหล่งข่าวปิดในแวดวงจราจร อธิบายถึงความต่างที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งว่า ตำรวจสน.นั้นจะกินเงินได้ในเฉพาะพื้นที่ของตน ต่างกับตำรวจจราจรกลางที่สามารถไปตั้งตรงบริเวณไหนก็ได้ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
       
       แหล่งข่าวคนเดิมยืนยันว่าในวงการหัวปิงปองนั้นมีการเร่งทำยอดใบสั่ง จริงๆ และเงินที่ได้มาจะถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน ไล่ตั้งแต่ระดับบิ๊กคุมพื้นที่ ส่งตรงไปส่วนกลางที่เหมือนเสือนอนกิน แน่นอนตำรวจชั้นผู้น้อยก็กินกันจนอิ่มหมีพรีมันโดยเฉพาะในย่านธุรกิจที่ สร้างยอดให้เป็นล้านๆ บาทต่อเดือน
       
       ในส่วนของการตั้งด่านตรวจจับนั้นจะมีการรับเงินอยู่ 2 แบบ แหล่งข่าวปิดค่อยๆ อธิบายขึ้น
       
       “ลักษณะการกินมี 2 แบบ หนึ่ง-ตั้งด่านเถื่อนกินเป็นเงินสด สอง-ตั้งด่านที่ถูกต้องตามกฏหมายกินกันเป็นใบสั่ง ถึงแม้ใบสั่งจะมีตัวเลขกำกับชัดเจนซึ่งอาจจะกินกันได้ไม่เต็มที่แต่ก็กินกัน พอเป็นกระษัย แต่ว่าที่กินเป็นเงินสดมันจะเป็นตัวเลขที่ไม่มีการจัดบันทึกไม่มีใบเสร็จ นั้นจะกินง่าย สะดวก”
       
       อิ่มแปล้ตามลำดับขั้น
       ทั้งนี้ทั้งนั้นหัวปิงปองก็จะนำยอดเงินทั้งหมดรวบรวมเป็นเงินก้อนโต แล้วแบ่งสันปันส่วนตามลำดับยศ ซึ่งตามหลักการก็จะแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเอง 40 เปอร์เซ็นต์ และเข้าหลวง 60 เปอร์เซ็นต์
       
       กลายๆ ว่าการตั้งด่านนั้นเป็นคำสั่งมาจากนาย แต่กรณีหัวปิงปองหาเงินไว้กินไว้ใช้เองก็มีไม่น้อย ประเภทที่จอดมอเตอร์ไซค์อยู่ 2 คันพวกนั้นคือนายไม่รู้เรื่องหรอก ไปแอบซุ่มอยู่ตรงเสาไฟฟ้าบริเวณทางแยก ถ้าคันไหนเลี้ยวซ้ายไม่รอสัญญาณไฟโดนแล้ว 100-200 บาท ตำรวจพวกนี้จะไม่กินเยอะแต่จะเน้นเอาปริมาณ แหล่งข่าวกล่าวขึ้นด้วยเสียงหนักแน่นอีกครั้ง
       
       “นายรู้หมดตั้งแต่นายระดับบนไล่ลงมาเรื่อยๆ เลย ไม่มีนายที่ไหนไม่รู้หรอก และรู้กันทั้งสน.นั้นแหละ เพราะมันกินตั้งแต่หัวบนสุดจนถึงชั้นประทวน กินกันทุกคน เพียงแต่ว่ามากน้อยแล้วแต่สัดส่วน อย่างพื้นที่กินเยอะเช่น สุขุมวิท ทองหล่อ พระรามเก้า เพชรบุรี คือโซนที่เป็นอบายมุข พวกโซนอโคจร จะมียอดต่อเดือนเยอะ เป็นหลักล้านนะ นี่ยังไม่นับของจราจรกลางเก็บเงินเข้านครบาลต่างหากนะ”
       
       แน่นอนผู้ขับขี่ส่วนมาถ้าโดนตำรวจเรียกก็มักรีบควักเงินจ่าย เพราะต้องการตัดรำคาญ ไม่อยากยุ่งวุ่นวายเสียเวลาขึ้นโรงพัก แต่ก็มีรถบางประเภทที่จราจรส่วนมาจะไม่แตะต้องอย่างเช่นรถที่ติดตราสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ ตราของสำนักศาล ตราของทหาร เพราะไม่อยากมีปัญหาทีหลัง
       
       แหล่งข่าวปิดยังยืนกรานว่าไม่ว่าพื้นที่ไหนก็มีหัวปิงปองนอกรีดเป็นเหลือบไรไถ่เงินประชาชน
       
       “ทุกสถานนีต้องกินต้องใช้ เงินเดือนตำรวจชั้นประทวน เดือนหนึ่ง 6,000-7,000 บาท จะพอหรอ..ไหนจะลูกไหนจะเมีย ไหนจะค่าเหล้า ฯลฯ มันก็เลยจำเป็นต้องมีเรื่องแบบนี้ เป็นทุกสถานีแหละ แต่ว่าต่างพื้นที่ก็กินแตกต่างกันไป บางสถานีพื้นที่ไกลปืนเที่ยง ไม่มีอะไรเลย หาคนกระทำผิดแทบจะไม่มี”
       
       ตำรวจจราจรดีก็มี..แต่น้อย
       ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่าง บูรณาการ พูดถึงปัญหาการตั้งด่านจราจรของตำรวจที่ประชาชนมักเข้าใจว่าเป็นการรีดไถว่า เกิดท่าที และพฤติกรรมซึ่งเป็นผลพวงมาจากระบบงานจราจรที่ยังมีปัญหา
       
       “ท่าทีของตำรวจที่ไปสุ่มดักจับประชาชน การไปตั้งด่านในที่คนมักทำผิดกฎโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงบริบทของพื้นที่ก็ทำให้ ประชาชนเข้าใจผิดกันได้ว่า ตำรวจพยายามรีดไถประชาชน ซึ่งก็ยอมรับว่าอาจจะมีตำรวจที่จงใจรีดไถประชาชนอยู่ แต่การตั้งด่านเพื่อตรวจสอบนั้นก็เป็นมาตรการที่จำเป็นต้องทำ”
       
       เพราะการตั้งดักตรวจนั้นเกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรซึ่ง ประเทศไทยถือว่ามีสถิติติดอันดับโลกในเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยในปีที่ผ่านมาการรณรงค์เรื่องหมวกกันน๊อคทุ่มงบไปหลายล้านบาทก็มีส่วนให้ การสวมใส่หมวกกันน็อคเพิ่มขึ้นมาเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้มาตรการในการบังคับกฎหมายใช้ถูกยกขึ้นมาเป็นมาตการหลักในการลด อุบัติเหตุบนท้องถนนแทน
       
       “ตอนนี้เลยมีโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและ ป้องกันอย่างบูรณาการขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยโดยมีการเปลี่ยนบทบาทของตำรวจจราจร จากการปราบปรามผู้กระทำผิด มาเป็นการลดการเจ็บและการตายบนท้องถนน”
       
       ในรายละเอียของโครงการคือการศึกษาเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิด อุบัติเหตุบนท้องถนนในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีปัจจัยที่แตกต่างกัน มีลักษณะของการผ่อนปรนตามแต่ละบริบทของพื้นที่มากขึ้น ซึ่งหากความผิดไม่รุนแรง เจ้าหน้าที่จะทำแค่การตักเตือนเท่านั้น
       
       “การทำยอดของใบสั่งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย แต่ตอนวัตถุประสงค์ของตำรวจจราจรเปลี่ยนไปแล้ว ตำรวจจราจรก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่แค่การบังคับใช้กฏหมาย แต่เป็นการลดการเจ็บและการตายบนท้องถนน ซึ่งมันมีขอบเขตของหน้าที่มากกว่าออกใบสั่ง”
       
       ….....................
        คงเป็นเรื่องยากที่คนไทยจะได้พบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานด้านจราจร ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่เอาเอารัดเอาเปรียบ ในเมื่อหัวปิงปองยังเต็มไปด้วยความกลวงโบ๋ก็คงต้องสูบเงินด้วยวิถีของคนใน เครื่องแบบ ประชาชนตาดำๆ ก็เผชิญปัญหาแบบลูกโซ่กันต่อไป

Credit: Manage Online
8 ส.ค. 55 เวลา 13:58 13,283 19 170
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...