หนังสือพิมพ์ USA Today ออนไลน์ รายงานว่า ทีมนักวิจัยในแคนาดาเปิดเผยในผลการวิจัยชิ้นใหม่ว่า เด็กที่ถูกทำโทษด้วยการพาดเบาๆที่ก้น การตี และแม้แต่การผลัก อาจจะมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นที่จะมีปัญหาทางจิตใจเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ความผิดปกติทางอารมณ์และความเครียด ไปจนถึงการเสพติดสุราและการใช้สารเสพติด
Tracie Afifi หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า แม้ว่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า การทำร้ายร่างกายเด็ก การทำร้ายทางเพศ การละเลยทางด้านจิตใจและการปฏิบัติต่อเด็กอย่างไม่ถูกต้องในหลายรูปแบบ มีความเกี่ยวโยงกับความเจ็บป่วยทางจิตใจ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่การวิจัยพบว่า การลงโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกายแบบไม่รุนแรง เพื่อให้เด็กมีระเบียบวินัย ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตใจหลายประเภทตามมาในภายหลัง
Afifi ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาที่ภาควิชาการสาธารณสุขชุมชน (Department of Community Health Science) มหาวิทยาลัย Manitoba ประเทศแคนาดา เธอบอกว่าเด็กที่เคยถูกทำโทษทางกายมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการเกิดอาการผิดปกติทางจิตใจ ประมาณสองถึงเจ็ดเปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมในการวิจัย ที่มีเกิดอาการป่วยทางจิตใจ เคยถูกทำโทษทางกายเมื่อตอนเป็นเด็ก
ข้อสรุปจากการวิจัยในแคนาดาครั้งนี้ได้สร้างหลักฐานเพิ่มเติมแก่ข้อถกเถียงที่ว่าไม่ควรใช้การทำโทษทางกายทุกชนิดกับเด็กทุกคนและทุกวัย
รายงานข่าวจากนิตยสาร Health Day ออนไลน์ บอกว่าผลสรุปของทีมงานวิจัยในแคนาดานี้ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลการสำรวจชาวสหรัฐวัยผู้ใหญ่จำนวนสามหมื่นสี่พันคน อายุยี่สิบปีขึ้นไป ที่จัดเก็บในช่วงระหว่างปีพุทธศักราช 2547 – 2548 เป็นการสำรวจของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวกับการดื่มสุราและสาเหตุที่เกี่ยวข้องต่างๆ
เจ้าหน้าที่สำรวจทำการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวผู้เข้าร่วมการสำรวจถึงประสบการณ์จากการถูกทำโทษทางกายเมื่อตอนเป็นเด็ก โดยมีระดับให้เลือกตั้งแต่ ไม่เคยเลย จนถึง บ่อยครั้งมาก และต้องตอบคำถามว่าถูกพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านผลัก ลาก ตบ หรือ ตี บ่อยแค่ไหน ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ตอบว่า บางครั้ง จนถึง บ่อย จะถือว่าเป็นผู้เคยถูกทำโทษทางกายรุนแรง
กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อยุติการทำโทษเด็กทางกาย ที่ได้รับการสนุบสนุนจากองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานอื่นๆ ชี้ว่า ในสามสิบสองประเทศทั่วโลก มีการระงับสิทธิ์ของพ่อแม่ในการทำโทษลูกทางกาย แล้ว ยกเว้นในสหรัฐและแคนาดา การวิจัยเมื่อสองปีที่แล้วโดยมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลน่าพบว่าเกือบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของเด็กเล็กก่อนวัยเรียนถูกตีก้นเป็นการทำโทษ
ด้านศาสตราจารย์อลัน กัสดิน แห่งศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับเด็กที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University’s Child Study Center) กล่าวในรายงานข่าวทางการแพททย์ของเอบีซีนิวส์ออนไลน์ว่าการลงโทษเด็กด้วยการตีอาจช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมตรงหน้าได้แต่ไม่แก้ปัญหาในระยะยาว
"จากประสบการณ์การทำงานด้านนี้มานานสามสิบปี เขาพบว่าเด็กที่ถูกตีมีปัญหามก้าวร้าว ผลการเรียนไม่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและพ่อแม่ย่ำแย่ และอาจจะทำให้มีปัญหาด้านจิตใจตามมาในภายหลัง และต้องแก้ปัญหาที่ตัวพ่อแม่ก่อนเพราะเมื่อตีลูกน้อยลง เด็กจะมีพฤติกรรมดีขึ้น และพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างแก่ลูกเสียก่อน หากต้องการให้ลูกปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม " ศาสตราจารย์อลัน กัสดิน กล่าว