ต้อหิน อันตรายกว่าที่คุณคิด

 

เรื่องของดวงตา นับว่าสำคัญยิ่ง ยิ่งอายุอานามมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สายตา ดวงตา หรือประสาทตาเสื่อมลง

และอีกหนึ่งโรคซึ่งเกี่ยวกับดวงตาที่นับว่าอันตรายและหลายคนมองข้ามคงหนีไม่พ้น "โรคต้อหิน" ที่เราควรรู้จักเพื่อตั้งรับในวันข้างหน้า

เป็นโรคที่มีการทำลายของเส้นประสาทตาจากหลายสาเหตุซึ่งความดันตาสูงเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งทำให้ลานสายตาเสียไปหรือแคบลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่อาจพบได้ในคนที่มีอายุต่ำกว่านี้ หรือเป็นมาตั้งแต่กำเนิดก็ได้และมักเป็นกับตาทั้งสองข้าง

โดยปกติคนเรามีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ภายในลูกตาน้ำหล่อเลี้ยงนี้ถูกสร้างขึ้นภายในลูกตาและถูกขับออกมาภายนอกลูกตา การสร้างและการขับออกนี้ต้องสมดุลกันความดันลูกตาจึงปกติ ถ้าเกิดการเสียสมดุล เช่น มีการสร้างมากผิดปกติหรือการขับออกน้อยกว่าปกติจะทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการไหลออกของน้ำหล่อเลี้ยงน้อยกว่าปกติทำให้มีการคั่งของน้ำอยู่ภายในลูกตา ตาจะแข็งราวกับหิน จึงเรียกว่า ต้อหิน

ความดันลูกตา

ความดันลูกตาที่สูงผิดปกตินี้จะไปกดประสาทตาซึ่งอยู่ทางด้านหลังของลูกตา ทำให้ประสาทตาเสื่อมและต่อไปจะทำให้ตามัว ทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาตาจะบอดไปในที่สุด แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนความดันลูกตามาเป็นปกติ แต่สายตาที่เสียไปแล้วจากโรคต้อหินไม่สามารถกลับคืนมาดีเหมือนเดิมได้ จึงจัดว่าโรคต้อหิน เป็นโรคตาที่ร้ายแรงมากโรคหนึ่ง

ประเภทของต้อหิน

- ต้อหินชนิดเฉียบพลัน

เกิดจากความดันลูกตาที่ขึ้นสูงทันที่ย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตามาก ปวดศีรษะ ตามัวอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการจะเป็นมากขึ้นตามลำดับ มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป

- ต้อหินชนิดเรื้อรังแบบมุมเปิด

โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ความดันตาขึ้นทีละน้อยจึงไม่มีอาการเจ็บปวด มักเป็นกับตาทั้งสองข้าง โดยในระยะแรกๆ จะไม่มีอาการผิดปกติ ต่อเมื่อโรคดำเนินไปมาก ประสาทตาถูกทำลายไปเรื่อยๆ ทำให้ลานสายตาแคบลง ผู้ป่วยจึงสังเกตและมาพบแพทย์ ถ้ามาช้าเกินไปสายตาอาจบอดสนิทได้

-ต้อหินชนิดเรื้อรังแบบมุดปิด

ตอหินชนิดนี้มักจะไม่มีอาการ โรคจะดำเนินไปทีละน้อย มุมม่านตาปิดเป็นหย่อมๆ ความดันตาจะค่อยๆสูงขึ้น ตรวจขั้วประสาทตาพบว่าขั้วประสาทตาบุ๋มจากต้อหิน และลานสายตาแคบลง

ดังนั้น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจึงควรได้รับการตรวจตาและวัดความดันลูกตาจากจักษุแพทย์เพื่อจะได้ตรวจพบโรคนี้แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่ญาติพี่น้องในครอบครัวเป็นต้อหิน จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนทั่วไป เพราะโรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมด้วย ต้อหินส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดขึ้นเองแต่มีต้อหินในผู้ป่วยบางรายเกิดจากการซื้อยาหยอดตาบางชนิดมาใช้เอง เช่น ยาหยอดตาที่มี คอร์ติโคสเตอรอยด์ประกอบอยู่ ใช้ในการรักษาการอักเสบได้ดีแต่มีโทษทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน คือ ต้อหินได้ถ้าหยอดยานี้ติดต่อกันหลายๆขวด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง ควรใช้ยาเฉพาะที่จักษุแพทย์สั่งให้เท่านั้น

image source

การรักษาต้อหิน

- การใช้ยา

-การยิงแสงเลเซอร์

- การผ่าตัด

การเลือกวิธีรักษาวิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค โดยอยู่ในดุลยพินิจของจักษุแพทย์ผู้รักษาว่าใช้วิธีใดจึงจะได้ผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย เมื่อตาข้างที่เป็นต้อหินได้รับการรักษาแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการป้องกันตาอีกข้างหนึ่งไม่ให้เป็นด้วย เนื่องจากต้อหินมักเป็นกับตาทั้งสองข้าง การป้องกันทำได้โดย หยอดตา ยิงแสงเลเซอร์ หรือผ่าตัดเพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งเป็นต้อหินแล้วค่อยมารักษาสายตาที่เสียไปแล้วมักไม่กลับคืนมา การป้องกันนั้นเป็นเพียงแต่ควบคุมความดันลูกตาให้เป็นปกติ ทำให้สายตาไม่เสียไปมากกว่าที่ได้เสียไปแล้ว

การใช้ยาหยอดตาในการรักษาต้อหินเป็นวิธีที่ได้ผลและนิยมมากที่สุด โดยปัจจุบันนี้มียาหยอดตารักษาต้อหินหลายผลิตภัณฑ์ ที่พบว่าได้ผลดีในการลดความดันในลูกตาคือ กลุ่มอนุพันธ์พรอสตาแกลนดินซึ่งยาในกลุ่มนี้จะให้ความสะดวกต่อผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่หยอดเพียงครั้งละ 1 หยด วันละ 1 ครั้ง ในตอนเย็นหรือก่อนนอน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือ อาจพบอาการตาแดงในบางราย แต่สามารถหายและจางลงได้เองหรือเมื่อใช้ยาไปสักช่วงเวลาหนึ่งอาการตาแดงจะเกิดน้อยลง

ยาลดความดันในลูกตากลุ่มอนุพันธ์พรอสตาแกลนดิน บางชนิดยังให้ความสะดวกต่อผู้ป่วยมากขึ้นเพราะมีความคงตัวสูง สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องได้โดยไม่จำเป็นต้องแช่เย็นให้ยุ่งยากอีกต่อไป นอกจากนี้การให้ความรู้และรายละเอียดการรักษาแก่ผู้ป่วยและญาติเป็นการเพิ่มความร่วมมือในการรักษา โดยหลักการควรใช้ยาน้อยชนิดที่สุดในการรักษา แต่ถ้ายาชนิดใดชนิดหนึ่งไม่สามารถลดความดันตาได้อยู่ในระดับที่จักษุแพทย์ต้องการก็สามารถใช้ยาอื่นที่มีผลในการลดความดันตาร่วมด้วย การใช้ยา 2 ชนิดร่วมกัน ให้เว้นระยะในการหยอดยาห่างกันประมาณ 5 นาที หรืออาจใช้ยา 2 ชนิดที่ผสมอยู่ในขวดเดียวกัน (Fixed Combination) ซึ่งอาจเพิ่มความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยอย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาทุกครั้งว่าท่านได้รับยาชนิดใดมาเพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาและควบคุมโรคต่อไป

Credit: www.e-magazine.info
6 ส.ค. 55 เวลา 07:55 2,224 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...