"แมลง-เนื้อหลอดแก้ว"อาหารแห่งอนาคต? เราจะกินอะไรในอีก 20 ปีข้างหน้า

นักทำนายอนาคตกล่าวว่า ราคาอาหารที่ปรับขึ้นเป็นรายวัน รวมถึงประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาจหมายถึงว่ามนุษย์ควรกลับมาทบทวนถึงสิ่งที่เรากินใหม่อีกครั้ง สหประชาชาติ รวมถึงรัฐบาลของประเทศต่างๆ กำลังแสดงความกังวลว่า แล้วในอนาคตข้างหน้า พวกเราจะต้องกินอะไรกัน?


มอร์เกน เกย์ นักทำนายอนาคต และสมาชิกสมาคมอาหารทดลองแห่งยุโรป กล่าวว่า ประชากรในชาติตะวันตกส่วนใหญ่เติบโตมาได้ ก็เพราะรับประทานเนื้อสัตว์ซี่งมีราคาถูกและอุดมสมบูรณ์เป็นอาหารหลัก แต่เมื่อราคาอาหารเพิ่มขึ้น เราต้องเริ่มหันกลับมามองว่า เนื้อเหล่านั้นอาจกลายเป็นสิ่งที่แพงเกินความจำเป็น ผลก็คือ มนุษย์จำเป็นต้องหาวิธีเพื่อมาเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว


แต่อาหารประเภทใดที่จะมาเติมช่องว่างและกระเพาะอาหารของมนุษย์และเราจะรับประทานมันได้อย่างไร?


 

 

"แมลง" จะกลายเป็น"อาหารหลัก"ของมนุษย์ในอนาคต

 

 

 


เมื่อมองด้วยเหตุผล แมลงให้สารอาหารเช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ทั่วไป รวมถึงเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยวาเกนิงเกน ประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์จำพวกแมลง ต่ำกว่าการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ค่อนข้างมาก พวกมันบริโภตอาหารและน้ำน้อยกว่า รวมถึงปล่อยของเสียน้อยกว่า อีกทั้งยังพบว่า แมลงที่มนุษย์สามารถนำไปบริโภคได้ยังมีกว่า 1,400 ชนิด


เกย์กล่าวว่า แมลงจำพวกจิ้งหรีดหรือตั๊กแตน สามารถนำมาแปรรูป และใช้เป็นส่วนผสมในอาหารประเภทเบอร์เกอร์ได้


รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวอย่างจริงจัง และเริ่มทุ่มเงินกว่า 1 ล้านยูโร ในการวิจัยเพื่อนำแมลงมาดัดแปลงเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน และเพื่อเตรียมออกกฎหมายในการทำฟาร์มเลี้ยงแมลง


เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประชากรในหลายภูมิภาคของโลกได้บริโภคแมลงกันมาช้านาน ชาวแอฟริกานิยมบริโภคด้วงและตั๊กแตนยักษ์ ตัวต่อได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่น และชาวไทยก็นิยมบริโภคจิ้งหรีดกันมานาน


แต่แมลงที่ว่ามานี้ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการการปรับโฉม เพื่อให้น่าตาดูน่าบริโภคและเหมาะกับชาวตะวันตก ที่มองว่าการบริโภคแมลงเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง เกย์เชื่อว่า แมลงจะกลายเป็นเมนูที่ได้รับความนิยม จากมันถูกทำให้ดูห่างไกลจากคำว่าแมลง และใช้คำเรียกใหม่ ที่คล้ายกับคำว่า "ปศุสัตว์ขนาดเล็ก"

 


 

อาหารที่ผ่านการปรับปรุงรสชาติด้วยเสียง


มีการศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่ารูปลักษณ์และกลิ่นของอาหาร ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของมนุษย์ แต่ผลกระทบจากเสียง ที่มีต่อรสชาติอาหารยังคงมีการวิจัย ผลการศึกษาล่าสุดโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด พบว่า โทนเสียงในระดับหนึ่งสามารถช่วยทำให้รสชาติอาหาร"หวานขึ้น"หรือ"ขมขึ้น"ได้


รัสเซล โจนส์ จากบริษัทคอนดิเมนต์ จังกี้ ที่ร่วมทำการศึกษา กล่าวว่า คนเรามักสนใจแต่รูปลักษณ์และกลิ่นของอาหาร แต่มักไม่ทราบว่าเสียงก็มีผลต่ออาหารเช่นกัน


โดยการศึกษาในหัวข้อ "The Bittersweet Study" โดยชาร์ลส์ สเปนซ์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการทดลอง จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด พบว่ารสชาติอาหารสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยการเปลี่ยนเสียงที่เป็นแบ็คกราวด์ เขากล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดนักว่าเกิดอะไรขึ้นในสมองของมนุษย์ แต่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน

 

 

เมนู "Sound of the Sea"

 


การทดลองเริ่มขึ้่นโดยให้เชฟเฮสตัน บลูเมนทัล จากร้านอาหารแฟต ดั๊ก ปรุงอาหารมาหนึ่งจาน โดยตั้งชื่อเมนูว่า "Sound of the Sea" หรือ"เสียงจากท้องทะเล" ซึ่งเสิร์ฟพร้อมกับเครื่องเล่นไอพอด ซึ่งบรรเลงเสียงบรรยากาศชายทะเล รายงานกล่าวว่า เสียงทำให้ผู้ทานรู้สึกว่าอาหารสดขึ้น


นอกจากนั้น ยังมีการทำการศึกษาเพิ่มเติมซึ่งอาจให้ผลที่น่าสนใจ โดยการใช้เสียงดนตรี เพื่อลบส่วนประกอบในอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายออกไป โดยที่ผู้ทานไม่ทันสังเกตถึงความแตกต่างในรสชาติ โจนส์กล่าวว่า การใช้เสียงที่มีความถี่ในระดับหนึ่ง จะทำให้ผู้ทานที่ไม่นิยมกินอาหารหวาน รู้สึกว่าอาหารที่ตนกำลังทานนั้น มีความหวานในระดับที่รับได้ ทั้งๆที่อาหารดังกล่าวมีความหวานเกินปกติ


บริษัทหลายแห่ง ยังเพิ่มการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงระหว่างอาหารและเสียงมากขึ้นโดยใช้แพ็คเกจ บริษัทผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวยี่ห้อหนึ่ง เปลี่ยนวัสดุที่ใช้มาทำห่อขนม ที่สร้างเสียงที่คล้ายกับความกรุบกรอบของขนม ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าขนมมีความสดใหม่อยู่เสมอ นอกจากนั้น ประโยชน์จากเสียงยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟ้าในบ้านขนาดใหญ่ อาทิ ตู้เย็น โดยเสียงฮัมเบาๆของมันจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าอาหารที่อยู่ภายในสดใหม่อยู่เสมอ

 

 

 

เนื้อที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ

 

 

 


เมื่อต้นปีนักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ ประสบความสำเร็จในการผลิตเนื้อสัตว์ที่เรียกว่า "in-vitro" หรือเนื้อที่เพาะเลี้ยงในหลอดแก้ว โดยอาศัยการเพาะเลี้ยงชิ้นส่วนกล้ามเนื้อที่ได้มาจากสเต็มเซลล์ของวัว ที่มีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับปลาหมึก พวกเขาหวังที่จะผลิต"เบอร์เกอร์เนื้อหลอดแก้ว"ชิ้นแรกในโลกให้ได้ภายในสิ้นปีนี้้อีกด้วย


ทั้งนี้การทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องแล็บครั้งแรก ได้รับการสนับสนุนเงินวิจัยโดยนาซา เพื่อวิจัยเนื้อดังกล่าวว่าสามารถนำไปเป็นอาหารแก่นักบินอวกาศได้หรือไม่ หลังจากสิบปีผ่านไป นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่างส่งเสริมให้มีการนำเนื้อดังกล่าวไปบริโภคได้ทั่วไป เนื่องจากมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเนื้อปกติ


ผลการศึกษาล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดพบว่าเนื้อที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสัตว์ที่มีการเลี้ยงตามปกติ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า อีกทั้งยังใช้พลังงาน พื้นที่ และน้ำน้อยกว่า อีกทั้งยังสามารถเพิ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ได้ตามต้องการ


ศ.มาร์ก โพสต์ จากมหาวิทยาลัยมาสทริตช์ของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า เขาต้องการผลิตเนื้อที่มีความคล้ายคลึงกับเนื้อจริงมากที่สุด แม้ความจริงจะทำไม่ได้เช่นนั้นก็ตาม ขณะที่ดร.นีล สตีเฟน จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ กล่าวว่า ยังคงมีการถกเถียงกันว่าเนื้อประเภทใหม่นี้ควรมีหน้าตาเช่นใด และอาจเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะยอมรับ เนื่องจากยังไม่มีใครผลิตออกมาอย่างจริงจัง

 


สาหร่ายทะเล

 

 

 

 

สาหร่ายทะเลอาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหารแต่มันก็อาจเป็นทางออกต่อปัญหาที่ซับซ้อนที่สุดในโลกบางอย่าง ซึ่งรวมถึงภาวะการขาดแคลนอาหารเช่นกัน


นักวิจัยกล่าวว่า สาหร่ายสามารถนำมาเป็นอาหารทั้งในมนุษย์และสัตว์ รวมถึงยังสามารถเพาะเลี้ยงได้ในทะเล แทนที่จะเติบโตบนแผ่นดินหรือน้ำจืด ซึ่งขณะนี้กำลังร่อยหรอหรือเสื่อมสภาพลง นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า เชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้จากสาหร่ายทะเล ยังช่วยลดการบริโภคพลังงานจากเชื้อเพลิงจากฟอสซิล


บุคคลในวงการอุตสาหกรรมอาหารแบบยั่งยืนยังเคยทำนายว่าการทำฟาร์มสาหร่าย จะกลายเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้วในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้


ดร.เครก โรส ผู้อำนวยการมูลนิธิสาหร่ายทะเลเพื่อสุขภาพเปิดเผยว่า ในอังกฤษ ยังคงไม่มีฟาร์มเพาะสาหร่ายขนาดใหญ่ แม้สภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศจะเป็นใจก็ตาม สาหร่ายมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นพืชที่โตเร็วที่สุด

 

เช่นเดียวกับแมลง สาหร่ายให้คุณค่าทางอาหารเช่นเดียวกับแมลงอย่างที่เราคาดไม่ถึง นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ฮัลลาม ใช้เมล็ดเล็กๆบนใบสาหร่าย เพื่อทดแทนเกลือในการผลิตขนมปังหรือในกระบวนการผลิตอาหาร โดยเมล็ดเล็กๆดังกล่าว จะเป็นตัวช่วยเพิ่มรสชาติ แต่ให้ความเค็มไม่มากนัก ที่ใช้แทนเกลือ ที่อาจส่งผลให้เกิดความดันเลือดสูง และเชื่อกันว่าเริ่มมีการใช้เมล็ดดังกล่าวเป็นส่วนผสมในอาหารพร้อมรับประทาน ไส้กรอก และชีส ที่วางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต

 

มอร์เกน เกย์กล่าวว่า สาหร่ายให้ประโยชน์หลายประการ และเพิ่งมีการค้นพบไม่มากนัก และถือเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ที่เรายังเข้าถึงไม่มากนัก ด้วยจำนวนมากกว่า 10,000 ชนิด

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...