มือโพสต์ใบสั่งว่อนเน็ตขอโทษตร.แจงรู้เท่าไม่ถึงการณ์

จากกรณี มีผู้โพสต์ภาพใบสั่งจราจรลงในเฟซบุ๊ก โดยมีการเปรียบเทียบใบสั่งจริงกับใบสั่งปลอม และมีการอ้างถึงความแตกต่างว่า ใบสั่งที่ออกจากทางราชการจะต้องมีการใช้ตรายางประทับด้วยหมึกสีแดง ส่วนใบสั่งแบบที่ 2 เขียนด้วยลายมือ ไม่มีตรายางประทับ ซึ่งผู้โพสต์ข้อความยังแนะนำด้วยว่าหากผู้ใดได้รับใบสั่งที่ไม่มีตรายางประทับ ให้ทิ้งได้เลยโดยที่ไม่ต้องไปเสียค่าเปรียบเทียบปรับที่โรงพักนั้น
 

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) นายกรวิทย์ ผึ้งสุพรรณ อายุ 23 ปี มือโพสต์ ได้เดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกับบิดามารดาเพื่อขอโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับนำหลักฐานใบสั่งจำนวน 2 ใบ มายืนยันเพื่อเป็นหลักฐานในการชี้แจงด้วย
 

นายกรวิทย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำลงไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากเห็นว่าใบสั่งทั้ง 2 ใบ มีความแตกต่างกัน เพราะใบหนึ่งมีการปั๊มตรายางเครื่องหมายราชการอย่างถูกต้อง ส่วนอีกใบไม่มีตราราชการแต่อย่างใด จึงโพสต์ข้อความพร้อมกับภาพใบสั่งลงบนเฟซบุ๊ก ไม่คิดว่าเรื่องจะบานปลายขนาดนี้ โดยหลังจากที่โพสต์ข้อความไปแล้ว ก็มีเพื่อนโทรศัพท์มาบอกว่ากลายเป็นข่าวและมีการแชร์ข้อมูลจำนวนมาก จึงนำเรื่องไปปรึกษาพ่อแม่และพากันมาพบตำรวจในวันนี้
 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเรื่องไม่พอใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมาก่อนหรือไม่ นายกรวิทย์ กล่าวว่า ไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมาก่อน เป็นเพราะความเข้าใจผิดของตน เรื่องที่เกิดขึ้นก็เป็นอุทาหรณ์สำหรับตัวเอง อยากฝากเตือนทุกคนว่า ก่อนจะโพสต์อะไรลงในเว็บไซต์ต่างๆ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างเสียก่อน ตนต้องขอโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยที่ทำให้เสื่อมเสีย
 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบใบสั่งที่นายกรวิทย์โพสต์ลงเฟซบุ๊กพบว่าเป็นใบสั่งจริงทั้ง 2 ใบ โดยใบแรกเป็นของท้องที่สน.พลับพลาไชย 1 ข้อหาจอดรถในที่ห้ามจอด โดยใบสั่งดังกล่าวแปะไว้ที่หน้ากระจกรถยนต์หมายเลขทะเบียน ถย-4190 กรุงเทพมหานคร ของนายกรวิทย์ ส่วนอีกใบเป็นใบสั่งของ สน.ศาลาแดง ในความผิดข้อหาฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ผ่าไฟแดง) มีการยึดใบขับขี่และระบุชื่อผู้ขับรถทะเบียน ถย 4190 กรุงเทพมหานครไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่วิธีการบันทึกข้อมูลลงในใบสั่งต่างกันระหว่างการเขียนด้วยปากกา กับการปั๊มข้อความ
 

ด้านพล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น. กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบผู้โพสต์พร้อมเจ้าของใบสั่ง แล้วเชิญตัวมาเพื่อชี้แจงความเข้าใจ พร้อมกับแนะนำว่าหากมีข้อสงสัยขอให้มาพูดคุยกัน อย่าเพิ่งไปรีบร้อนแพร่ข่าวสารอย่างผิดๆ เพราะอาจทำให้ประชาชนที่ทั่วไปเกิดความสับสนได้ ส่วนความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตนดูแล้วว่านายกรวิชญ์ไม่มีเจตนา เดี๋ยวคงกลับไปแก้ไขข้อมูล
 

รอง ผบช.น.กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการจับกุมและแจกใบสั่งของตำรวจจราจรในปีหนึ่่งๆ นั้น ตนจำตัวเลขแน่นอนไม่ได้ เพราะในปีหนึ่่งๆ ปรับเยอะ ต้องไปสอบถาม พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสะอาด ผบก.จร. ที่มีข้อมูลถูกต้อง พร้อมกันนี้เชื่อว่า เจ้าหน้าที่จะไม่เสี่ยงปลอมแปลงใบสั่งขึ้นมาอย่างแน่นอน เพราะการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ มีโทษทางอาญา จำคุกถึง 20 ปี แต่หากประชาชนท่านใดสงสัย ก็สามารถตรวจสอบได้.
 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...