พบรูป′ช้างผูกโบภาพเขียนสีโบราณที่ จ.เลย สุจิตต์ วงษ์เทศ ′คาดอายุกว่า 2 พันปี จี้กรมศิลป์สำรวจ คาดที่อีสานมีภาพเขียนโบราณอีก
ชาวบ้านในนาม "กลุ่มรักษ์บ้านเกิด" ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ที่บริษัท ทุ่งทอง จำกัด ได้รับประทานบัตรและกำลังขยายเขตประทานบัตรเพิ่ม อาจกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชน ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับสารพิษ รวมทั้งการทำเหมืองทองคำอาจส่งผลกระทบต่อภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ประทานบัตรการทำเหมือง ซึ่งเป็นที่หวงแหนของชาวบ้าน และเห็นว่าควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อการศึกษา สืบค้นภาพที่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะนี้ต่อไป
ต่อมา ผู้สื่อข่าว "มติชน" ลงพื้นที่บุกป่าเข้าสำรวจภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ดังกล่าว โดยสอบถามจากชาวบ้านกกสะทอน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จากนั้น เดินเท้าไปตามเส้นทางที่ชาวบ้านบอก ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 2 ชั่วโมง จนพบภาพเขียนอยู่บนภูผาพุง ในพื้นที่ของวัดถ้ำผาพุง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า การขึ้นไปบนถ้ำสามารถเดินขึ้นบันไดปูนไปได้เพียงครึ่งทาง จากนั้น จะต้องปีนป่ายโขดหิน ลอดถ้ำไปตามทางเดินที่สลับซับซ้อน ซึ่งคาดว่าเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้หาของป่า จนกระทั่งพบกับภาพเขียนสีโบราณปรากฏอยู่ที่บนหน้าผาสูงชัน มีพื้นที่ยืนชมห่างจากแนวผาประมาณ 2 เมตร ภาพเขียนสีที่พบมีอยู่ 2 จุดใหญ่ โดยจุดแรกอยู่สูงจากผาประมาณ 6 เมตร มีลักษณะเป็นรูปช้าง เขียนด้วยลายเส้นสีแดง บนหัวของช้างมีลายเส้นคล้ายเครื่องประดับ มองคล้ายกับช้างผูกโบ หรืออาจเป็นรูปช้างแสดงอาการบางอย่าง ทำให้หูกางออก เป็นประเด็นรอการค้นคว้าจากนักวิชาการ นอกจากนี้ ในลำตัวช้างยังมีเส้นตารางเขียนอยู่ ซึ่งแตกต่างจากภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยพบเห็นทั่วไป และใกล้ๆ กันยังมีภาพที่ไม่สามารถมองออกว่าคือภาพอะไร
ส่วนจุดที่ 2 อยู่ห่างจากจุดแรกไปทางซ้ายมือประมาณ 6 เมตร สูงกว่าระดับพื้นประมาณครึ่งเมตร ไม่สามารถมองออกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นภาพอะไร ซึ่งภาพเขียนทั้งหมดนั้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม มีการกะเทาะของสีออกมาให้เห็นบ้างแล้ว
นายสมัย ภักมี อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) เขาหลวง ในฐานะประธานกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ภาพเขียนประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึง คนในพื้นที่ค้นพบราวปี 2535 ขณะนั้น มีพระอาจารย์ชื่อดังเดินทางมาปฏิบัติธรรมอยู่ภายในถ้ำผาพุง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับภาพเขียน ชาวบ้านที่เลื่อมใสจึงขึ้นไปกราบนมัสการพระ และได้พบกับภาพเขียนดังกล่าว ชาวบ้านในพื้นที่จะรู้ดีว่ามีภาพเขียนอยู่ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใด เพราะไม่คิดว่าเป็นภาพเขียนประวัติศาสตร์
"การ ทำเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งทอง จำกัด นอกจากจะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารพิษต่างๆ แล้ว ยังอาจทำให้ภาพเขียน ดังกล่าวได้รับผลกระทบด้วย ถ้าเป็นภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์จริง กับนับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง" นายสมัยกล่าว
นางมา พิมมะขัน ชาวบ้าน ต.เขาหลวง กล่าวว่า ไม่ทราบว่าภาพเขียนดังกล่าวมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะที่ผ่านมาไม่มีนักวิชาการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล ภาพดังกล่าวนั้น ชาวบ้านในพื้นที่รู้จักกันดี ส่วนคนภายนอกจะไม่รู้เลยว่าพื้นที่นี้มีภาพเขียนดังกล่าวอยู่
น.ส.ชนา ธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น กล่าวว่า ได้รับรายงานจากชาวบ้านถึงภาพเขียนสีดังกล่าวแล้ว และเตรียมเข้าไปตรวจสอบ ที่ผ่านมากรมศิลปากรยังไม่เคยเข้าไปสำรวจอย่างทั่วถึงเต็มพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่มีขนาดกว้างใหญ่และมีความสลับซับซ้อน ประกอบกับขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ ทั้งนี้ คาดว่าจะเข้าตรวจสอบภายในสิ้นเดือนนี้
"ภาพเขียนดังกล่าวมีความเป็น ไปได้ที่จะอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลสำรวจก่อนถึงจะทราบว่าเป็นภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์จริงหรือ ไม่ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง จึงจะสามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้" น.ส. ชนาธิปกล่าว
นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน ผู้ค้นคว้า ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวว่า มักมีการพบภาพเขียนสีโบราณได้ทั่วภาคอีสาน เช่น ภาพเขียนสีที่ผาแต้ม จ.อุบลราชธานี เป็นต้น เนื่องจากดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงในภาคอีสานมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ดังนั้น พื้นที่บริเวณนี้จึงมีมนุษย์อาศัยอย่างต่อเนื่องราว 5,000 ปีมาแล้ว
"ภาพเขียนสีคือสิ่งยืนยันได้ว่าในอดีตเคยมีชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ในบริเวณนี้ ภาพเขียนสีที่วัดถ้ำผาพุง อ.วังสะพุง จ.เลย น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี ดังนั้น ชุนชนควรเรียกร้องให้กรมศิลปากรเข้าไปสำรวจและอนุรักษ์ เนื่องจากพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกันอาจจะมีภาพเขียนสีแบบเดียวกันอีกก็เป็น ได้" นายสุจิตต์กล่าว