วันที่ 19 ก.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 และอัลฟ่า 6 ว่า เรื่องนี้ดีเอสไอได้สรุปผลการสอบสวนการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวของ 13 หน่วยงาน ส่งให้ป.ป.ช.ไปแล้ว และจะรอการตรวจสอบภายในของหน่วยงานทั้ง 13 แห่ง เพื่อให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับบริษัทผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายเครื่องดังกล่าว ซึ่งตนขอให้เวลาหน่วยงานเหล่านี้สักระยะ หากไม่มีหน่วยงานใดเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ และยืนยันว่าตรวจสอบการจัดซื้อของหน่วยงานแล้วไม่พบว่าถูกหลอกลวงหรือทุจริต ดีเอสไอจะสอบถามถึงรายละเอียดและเข้าตรวจสอบว่าข้อมูลว่าเป็นจริงหรือไม่ เพราะแม้ไม่มีหน่วยงานใดเข้าร้องทุกข์ แต่จากมูลความผิดที่ดีเอสไอสอบพบก็สามารถดำเนินคดีได้ แต่ช่วงนี้จะให้โอกาสทั้ง 13 หน่วยงานตรวจสอบตัวเองก่อน
“ในการดำเนินคดีอาญา อัยการอาจมีคำขอในทางแพ่ง โดยขอให้ศาลพิพากษาลงโทษทั้งอาญาและให้ชดใช้ในทางแพ่ง โดยต้องดูความเชื่อมโยงระหว่างตัวแทนจำหน่ายในไทยหรือบริษัทแม่ในอังกฤษ หากการซื้อขาดตอนไม่ซื้อบริษัทแม่จะเป็นความรับผิดชอบตัวแทนจำหน่าย แต่ถ้าบริษัทแม่เป็นตัวการซื้อขายความรับผิดชอบของบริษัทแม่ ต้องดูรายละเอียดแต่ละสัญญาที่มีการสั่งซื้อ โดยเชื่อว่าทั้ง 13 หน่วยงานจะไม่รอให้คดีขาดอายุความ ระหว่างนี้ขอให้หน่วยงานที่จัดซื้อไปตรวจสอบกันเองก่อนว่าซื้อแพงหรือไม่ มีการฮั้วหรือไม่ ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพตรงตามที่อวดอ้างหรือไม่ ยืนยันว่าการออกมาเปิดเผยข้อมูลในช่วงนี้ เป็นเพราะถูกทวงถามความคืบหน้าหลังทางการอังกฤษดำเนินคดีฉ้อโกงกับเจ้าของบริษัทที่หลอกลวงขายให้กับลูกค้ากว่า20 ประเทศ” นายธาริต กล่าว
นายธาริต ยังกล่าวถึง กรณีที่รมว.กลาโหมออกมายืนยันประสิทธิภาพการทำงานว่าใช้ได้จริง และขอให้ดีเอสไอสอบถามความเห็นของผู้ใช้งานเพื่อประกอบการพิจารณานั้น ยืนยันว่าดีเอสไอไม่ได้ทำคดีเพื่อจับผิดหน่วยงานใด แต่เมื่อมีการกล่าวหาก็ต้องตรวจสอบไปตามหน้าที่
ด้านพ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กล่าวว่า ผลสอบ 13 หน่วยงานประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร กรมสรรพาวุธ ศูนย์รักษาความปลอดภัย(ศรภ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สงขลา ยะลา เพชรบุรี ชัยนาท พิษณุโลก สิงห์บุรี และภูเก็ต เป็นเพียงการตรวจสอบข้อมูลจัดซื้อของบางหน่วยงานเท่านั้น ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่จัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ ซึ่งจากนี้เป็นหน้าที่ป.ป.ช.ในการไต่สวนขยายผล ในส่วนดีเอสไออยู่ระหว่างรอการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษของหน่วยงานทั้ง 13 แห่ง เนื่องจากองค์กรดังกล่าวถือเป็นนิติบุคคลที่ถูกบริษัทเอกชนหลอกลวง ดังนั้น จึงสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ เพราะมีข้อมูลการตรวจสอบประสิทธิภาพจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) และทางการอังกฤษยืนยันแล้วว่า เครื่องมือดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริง
“แม้ทางกองทัพจะยืนยันใช้เครื่องจีที 200 ตรวจวัถตุระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะเชื่อในประสิทธิภาพ ก็เป็นเรื่องของกองทัพ หากเขาไม่รู้สึกว่าเสียหายก็เป็นเรื่องของเขา แต่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ออกมาเช่นนี้ เราก็จำเป็นต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ส่วนการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้จัดซื้อตามพ.ร.บ.ฮั้วประมูล เป็นคนละเรื่องกับการฟ้องร้องเอาผิดบริษัทผู้ผลิต การส่งข้อมูลให้ป.ป.ช. ดีเอสไอยังไม่ชี้ชัดถึงตัวบุคคลว่ามีระดับใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งในส่วนป.ป.ช.มีอำนาจเรียกข้อมูลเอกสารหลักฐานและผู้ที่เกี่ยวข้องมาไต่สวน”พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ กล่าว
พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศต้นทางอย่างอังกฤษยังดำเนินคดีฉ้อโกงกับบริษัทผู้ผลิต ดังนั้น ในส่วนของไทยก็ต้องพิจารณาความเสียหายของหน่วยงานอย่างรอบคอบ ถ้าพบว่าเสียหายก็ต้องเข้าร้องทุกข์ เบื้องต้นไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเข้าร้องทุกข์ ให้พิจารณาความเหมาะสมเอง ที่ผ่านมาการสอบสวนข้อมูลชัดเจนว่าหลายหน่วยงานเชื่อในตามคำอ้างถึงประสิทธิภาพ โดยไม่ได้ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ก่อนรับสินค้า บางหน่วยงานพบมีการจัดซื้อสินค้าชนิดเดียวกันถึง 2 ครั้ง แต่ราคาไม่เท่ากัน และเมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าชนิดเดียวกันกับหน่วยงานอื่นก็แตกต่างกันสิ้นเชิง เช่น สินค้าเหมือนกันแต่หน่วยงานหนึ่งจัดซื้อราคา 400,000 บาท อีกหน่วยงานจัดซื้อราคา 1,600,000 บาท