ธารน้ำแข็งปีเตอร์แมนน์ ทางตอนเหนือของเกาะกรีนแลนด์ ได้แตกออกเป็นแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ ซึ่งมีขนาดเป็นสองเท่าของเกาะแมนฮัตตันของสหรัฐฯ
ภาพถ่ายดาวเทียมจากกล้อง Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer บนดาวเทียม"อะควา" ขององค์การนาซา ชี้ให้เห็นแผ่นน้ำแข็งที่แตกออกจนกลายเป็นเกาะขนาดใหญ่ บริเวณส่วนปลายสุดของธารน้ำแข็ง และเริ่มลอยออกเมื่อวันที่ 16-17 ก.ค.
ทั้งนี้ เมื่อปี 2010 ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้ เมื่อธารน้ำแข็งปีเตอร์แมนน์ แตกออกเป็นเกาะขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 250 ตารางกิโลเมตร
ตามธรรมชาติแล้ว ธารน้ำแข็งจะแตกตัวออกเป็นแผ่นน้ำแข็งเป็นปกติ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่าแผ่นน้ำแข็งเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ โดยอีริก ริโญต์ ผู้เชี่ยวชาญจากนาซา กล่าวว่า นี่ไม่ใช่การแตกตัวธรรมดา แต่เป็นเหตุการณ์ที่น่าตกตะลึง
ด้านคอนราด สเตฟเฟน ผู้อำนวยการสถาบันป่าไม้ หิมะ และภูมิทัศน์แห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์ คาดว่า แผ่นน้ำแข็งดังกล่าว เมื่อกะขนาดโดยคร่าวๆ จะมีขนาดเป็นครึ้งหนึ่งของแผ่นน้ำแข็งที่แตกออกเมื่อปี 2010
อย่างไรก็ดี คาดว่าแผ่นน้ำแข็งที่แตกออกไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลมากนัก แม้ว่ามันจะเริ่มลอยออกห่างบ้างแล้ว
จากข้อมูลของสมาคมแคนาเดียน ไอซ์ เซอร์วิส แผ่นน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งปีเตอร์แมนน์ บางครั้งมักจะลอยออกไปไกลถึงชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินเรือและการทำประมง
นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังแสดงความเป็นห่วงว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แผ่นน้ำแข็งจากเกาะกรีนแลนด์ เริ่มมีความบางลงเรื่อยๆ ขณะที่อากาสก็เริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน