น้ำลายของเรามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคเอดส์
น้ำลายมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคเอดส์ไม่ให้ทำอันตรายแก่เม็ดเลือดขาว แสดงว่าในน้ำลายคงจะมีสารบางชนิดที่มีคุณสมบัติดังกล่าว...ทำไมน้ำลายจึงมี สารชนิดนี้ แต่เลือดกลับไม่มี
เคยปรากฏรายงานว่า มีการตรวจพบเชื้อโรคเอดส์ในน้ำลายของผู้ป่วย และผู้ที่เป็นพาหะของโรคเอดส์ ข่าวนี้สร้างความตื่นตระหนกให้กับแพทย์ ทันตแพทย์ และผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย และพาหะอย่างมาก แต่ก็น่าแปลกที่นับแต่มีการระบาดของโรคเอดส์มาได้ 10 ปีแล้ว ยังไม่เคยมีใครพบผู้ที่ติดเชื้อโรคเอดส์ทางน้ำลายเลยแม้สักรายเดียว ความจริงที่ขัดแย้งกัน เช่นนี้เป็นที่น่าสงสัยของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เรื่อยมา และแล้ว ดร. ฟิลิป ฟอกซ์ และเพื่อนร่วมทีมวิจัยของเขาก็ได้ทดลองเพื่อหาคำตอบ พวกเขานำน้ำลายของคนปกติ 3 คน ส่วนหนึ่งเอามาจากปาก อีกส่วนหนึ่ง เอามาจากต่อมน้ำลาย เขาคลุกน้ำลายนี้กับเชื้อโรคเอดส์ แล้วนำเม็ดเลือดขาว (ที่เรียกว่าลิมโฟซัยต์) ซึ่งเป็นเซลล์ที่เชื้อโรคเอดส์ชอบเล่นงาน ใส่ลงไปในนำลายที่ผสมเชื้อโรคเอดส์
ปรากฏการณ์ที่พวกเขาค้นพบ คือ เชื้อโรคเอดส์ไม่สามารถทำอันตรายแก่เม็ดเลือดขาวได้เลย คณะวิจัยของ ดร. ฟอกซ์ จึงสรุปว่า น้ำลายคงจะมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคเอดส์ไม่ให้ไปทำอันตรายแก่เม็ดเลือดขาว แสดงว่าในน้ำลายคงจะมีสารบางชนิดที่มีคุณสมบัติดังกล่าว พวกเขายังไม่รู้ว่าสารชนิดนี้คืออะไร แต่เชื่อว่ามันคงมาจากต่อมน้ำลายของคนนั่นเอง มีคำถามที่น่าสนใจว่า ทำไมน้ำลาย จึงมีสารชนิดนี้แต่เลือดกลับไม่มีสารชนิดนี้ คณะของ ดร. ฟอกซ์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากช่องปากเป็นบริเวณของร่างกายที่ต้องสัมผัสกับอาหาร เครื่องดื่ม และอากาศที่ผ่านเข้าสู่ภายในร่างกายตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นของแปลกปลอมสำหรับร่างกาย ช่องปากจึงจำเป็นต้องมีมาตรการคุ้มกันภัยให้กับอวัยวะภายในและตัวเอง และน้ำลายนี่แหละคือ อาวุธป้องกันตัวเองของช่องปาก
แม้ว่าผลการวิจัย นี้ยังไม่ถือเป็นข้อสรุปโดยทั่วไป แต่ข่าวดีอย่างนี้น่าจะทำให้ทุกคนสบายใจขึ้นว่า โอกาสที่จะติดเชื้อโรคเอดส์ผ่านทางน้ำลายของผู้ป่วย และของผู้เป็นพาหะ คงจะเป็นไปได้น้อยเหลือเกิน จนไม่น่ากลัวอย่างที่เคยกลัวกัน
อย่างไรก็ ตาม อย่าหลงเข้าใจว่าน้ำลายมีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น อย่างเช่น เอพสไตน์บารร์ (Epstein Barr) ไวรัสและไวรัสตับอักเสบ บี และผลการวิจัยนี้ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะไม่ติดเชื้อโรคเอดส์จากการจูบกัน อย่างดูดดื่ม หรือจากการใช้ปากในการร่วมเพศ เพราะพฤติกรรม 2 อย่างนี้เสี่ยงต่อการที่เลือดของแต่ละฝ่ายจะสัมผัส กันเมื่อมีแผลในปากอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าตัวอาจไม่รู้ก็เป็นได้
ดร. ฟิลิป ฟอกซ์ และทีมของเขา กำลังทดสอบแบบเดียวกันนี้เพิ่มเติมในอาสาสมัครอีก 50 คน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อหาข้อสรุปว่าผลการวิจัยของเขาเป็นความจริงในทุกเงื่อนไขหรือไม่ ถ้าผลออกมายืนยันรายงานเดิมของเขาว่าสารที่ค้นพบนั้นเป็นสารที่ฤทธิ์ยับยั้ง พิษของเชื้อโรคเอดส์ได้ เราก็คงจะมียารักษาโรคเอดส์ที่ได้ผลในที่สุด
สำหรับ ขณะนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคเอดส์คือ อย่าสำส่อนทางเพศ (แต่ถ้าอดไม่ได้ ก็ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง) และอย่าใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาร่วมกันเป็นอันขาด