ในปี พ.ศ.2553 อันเป็นปีที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 อันเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งเข้ามาแทนที่กฎหมายฉบับเก่า ที่ได้ถูกยกเลิกไป คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534
หลายเรื่องในกฎหมายใหม่ฉบับนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ในอันที่จะคุ้มครองสิทธิของเด็ก หรือเยาวชน แต่หลักการหลายเรื่องก็คงยังเหมือนเดิมอยู่ กฎหมายฉบับนี้มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดอาญา และหลักการสำคัญหลายเรื่องในกฎหมายวิธีสบัญญัติฉบับนี้เอง อันเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความอย่างหนึ่งที่ใช้เฉพาะกับเด็กหรือเยาวชน ก็อาจกลับกลายเป็นประเด็นสร้างความไม่เข้าใจให้กับประชาชนบางส่วนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในส่วนนี้ได้
ฉะนั้น เริ่มต้นจึงควรน่าจะทำความเข้าใจกับหลักการและแนวคิดของกฎหมาย วิ เด็ก เป็นการเบื้องต้นก่อน
คดีความที่จะเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายฉบับนี้ หลักๆ ที่น่าสนใจจะมี 2 ส่วน คือ คดีแพ่ง อันหมายถึงคดีครอบครัว และคดีอาญา อันมีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด
เฉพาะคดีอาญา กรณีของเด็ก จะหมายถึงบุคคลที่อายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ในขณะที่เยาวชน จะหมายถึงบุคคลที่อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเมื่อเยาวชนคนใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายอาญา ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตามแนวทางของกฎหมายศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งถ้าเป็นบุคคลที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือผู้ใหญ่โดยทั่วๆ ไป ก็ต้องว่ากันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 หรือบางท่านเรียกย่อๆว่า วิ เด็ก นี้ มีหลักการในการพิจารณาคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ที่สำคัญ ดังปรากฏในมาตรา 119 ที่บัญญัติว่า
"ในการพิจารณาและพิพากษาคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษและในการพิพากษาคดีนั้นให้ศาลคำนึงถึงบุคลิกลักษณะ สภาพร่างกายและสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งแตกต่างกันเป็นคนๆ ไป และลงโทษหรือเปลี่ยนโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชน และพฤติการณ์เฉพาะเรื่อง แม้เด็กหรือเยาวชนนั้นจะได้กระทำความผิดร่วมกัน"
I
การลงโทษ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นในมาตรา 119 คือการลงโทษทางอาญา อันได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน ซึ่งอันที่จริงแล้วกรณีเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญา โดยหลักการกฎหมาย ต้องการอยากให้โอกาสเด็กหรือเยาวชน ในการปรับตนเป็นคนดีอีกครั้ง
ฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้ จึงกำหนดวิธีการในกฎหมายเพื่อช่วยให้โอกาสเด็กหรือเยาวชน ได้มีทางกลับตนเป็นคนดีอีกครั้ง
การแก้ไขเด็กหรือเยาวชน โดยศาลจะยังไม่มีคำพิพากษานั้น อาจแบ่งได้เป็นสองแนวทางคือ
1.มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา
2.การแก้ไขเด็กหรือเยาวชน ก่อนศาลมีคำพิพากษา
เฉพาะกรณีมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ถือเป็นเรื่องใหม่ตามกฎหมาย วิ เด็ก ปี 2553 ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจ น่าจะอยู่ที่ความในมาตรา 90 ที่บัญญัติว่า
"เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินยี่สิบปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือเยาวชนไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกมาก่อน เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ก่อนมีคำพิพากษา หากเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำและผู้เสียหายยินยอมและโจทก์ไม่คัดค้าน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร และศาลเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นคนดีได้ และผู้เสียหายอาจได้รับการชดเชยเยียวยาตามสมควร หากนำวิธีจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเด็กหรือเยาวชนและต่อผู้เสียหายมากกว่าการพิจารณาพิพากษา ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรจัดให้มีการดำเนินการเพื่อจัดทำแผนดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชน บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การ ซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติ แล้วเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่ที่ศาลมีคำสั่ง
หากศาลเห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้ดำเนินการตามนั้นและให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หากศาลไม่เห็นชอบ ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป"
เงื่อนไขสำคัญ ที่เยาวชนจะได้รับโอกาสตามมาตรานี้ก็คือ
เด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำ เนื่องจากมีบางท่านให้ความคิดความเห็นว่าการสำนึกในการกระทำ มิใช่การสารภาพ
แต่หมายถึง เด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิเสธข้อกล่าวหารู้สาเหตุรู้ผลของการกระทำ ว่าเกิดอะไรถ้าแก้ไขได้ จะทำอย่างไร
กรณีความเห็นดังกล่าว ในมุมมองของนักวิชาการคนหนึ่งกลับไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง สำหรับกรณีข้อเท็จจริงในบางคดี ที่เยาวชนคนดังกล่าวอาจทราบหรือรู้อยู่ว่าตนกำลังทำอะไร แต่กลับไม่สนใจใยดีต่อผลที่จะเกิด ยกตัวอย่างกรณีขับรถยนต์โดยประมาท และใช้ความเร็วสูง ด้วยความคึกคะนอง จนกระทั่งกระทำความผิดแล้ว กลับไม่ยอมรับผิดในสิ่งที่ตนเองกระทำ
ในกรณีผู้ปกครองของเยาวชนที่ทราบว่าบุตรหลานกระทำความผิดอาญา ใช้ช่องทางหรือช่องว่างกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้บุตรหลานของตนที่รู้ว่าทำผิดจริงจะต้องรับผิด โดยการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรืออาจมองว่าพยานหลักฐานมิน่าจะโยงเข้าหาบุตรหลานของตนได้ ก็ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ หรือการกล่าวออกสื่อทำนองว่า อยากให้เรื่องจบๆ ไป แล้วจะได้ไปต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาพิจารณา
หากเด็กหรือเยาวชนนั้น ประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา
ทั้งๆ ที่มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ก็มีเจตนาจะช่วยเหลือเด็กหรือเยาวชนที่ได้พลาดพลั้งกระทำความผิดอาญาไปแล้ว เพราะฉะนั้น การสำนึกในการกระทำ จึงน่าจะหมายถึงการยอมรับสิ่งที่ตนเองทำว่าผิด
สำหรับเยาวชนบางคน ที่อายุใกล้ 18 แล้วน่าจะมีวุฒิภาวะ ความรู้สึกผิดชอบ ที่น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า การกระทำของตนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วยังฝืนทำ
อันที่จริงแล้ว แม้เด็กหรือเยาวชนคนใดได้ทำผิดจริง และความผิดอาญานั้นจะรุนแรงในแง่ความรู้สึกหรือข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด ขอเพียงเยาวชนสำนึก ยอมรับ และอยากได้โอกาสจากญาติของผู้เสียหาย ก็น่าเชื่อว่าหลายท่านอาจจะพร้อมให้อภัยแก่เด็กหรือเยาวชนคนดังกล่าวได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง การบังคับใช้กฎหมาย โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ก็น่าจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์
แต่หากเด็กหรือเยาวชนที่ทำผิดจริง มิได้รู้สำนึกในสิ่งที่ตนเองกระทำ ไม่แยแสต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการกระทำความผิด การเข้าสู่กระบวนการพิพากษาคดีอาญา ก็น่าจะถือทางออกที่ดีเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับทางฝ่ายผู้เสียหาย
คนทำผิดจริงๆ แต่ไม่รู้สำนึก ไม่ยอมรับผิด ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนทำผิด ก็ไม่น่าจะได้รับโอกาสอีกครั้งจากกฎหมายหรือสังคม ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะถ้าคนทำผิดไม่รู้สำนึก และกลับหวังใช้ช่องทางที่กฎหมายประสงค์จะช่วยให้เยาวชนกลับตนเป็นคนดี เป็นหนทางเพียงเพื่อให้ตนเอง
รอดพ้นจากคดีความ โดยไม่แยแสต่อสิ่งที่ตนทำผิดไว้
สังคมก็คงต้องหวนกลับมาคิดอีกครั้งว่า มันคือความสำเร็จหรือความล้มเหลวจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่ฉบับนี้ จริงไหมครับ
โดย ผศ.นพดล ปกรณ์นิมิตดี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (มติชนรายวัน 10 กรกฎาคม2555)