ที่ห้องพิจารณา 915 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันนี้( 10 ก.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีดำ อ.3060/52 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา อายุ 26 ปี ลูกจ้างประจำงานเก็บขยะมูลฝอย เขตสะพานสูง กทม.เป็นจำเลยในความผิดฐานมีแผ่นซีดีเพลง,ภาพยนตร์เพื่อเสนอจำหน่ายโดยไม่ ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรค 1
กรณีเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2551 จำเลยตั้งแผงจำหน่ายซีดีเพลง 13 แผ่น แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ 83 แผ่น มีลูกค้า 2 คนกำลังดูสินค้าอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก มาขอตรวจดูใบอนุญาตจำหน่ายซีดี ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ แต่จำเลยไม่มี เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงควบคุมตัวดำเนินคดี จำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ เงินจำนวน 2 แสนบาท และลดอัตราส่วนโทษให้ คงปรับจำเลย 133,400 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี
ต่อมากรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม ได้ช่วยเหลือประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์ อ้างว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องความเสมอภาค
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จำเลยไม่เคยยกมาตราใดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไร ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลสืบพยานเกี่ยวกับของกลางในคดีตามบันทึกจับกุม ว่า เป็นของกลางที่ตรงกับของจำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้มีการต่อสู้และศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัย ซึ่งตามบันทึกจับกุม จำเลยได้ลงลายมือชื่อรับไว้ และภายหลังจับกุม จำเลยได้ให้บุคคลใกล้ชิดตรวจดูของกลางก็มีการเซ็นชื่อรับไว้เช่นกัน ขณะที่ ในการสืบพยานจำเลยก็ไม่ได้นำพยานซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดมาเบิกความต่อสู้ ประเด็นดังกล่าว ศาลเชื่อว่าของกลางตามบันทึกจับกุมเป็นของจำเลยจริง ศาลอุทธรณ์จึงไม่วินิจฉัยเพื่อสืบพยานใหม่
สำหรับที่จำเลยอุทธรณ์ต่อสู้ว่า ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ตามความหมายของพ.ร.บ.ภาพยนตร์ ฯ แต่เป็นเพียงผู้เสนอขาย จึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา38 วรรค1 นั้น ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สภาพของกลางแผ่นซีดีเพลง วีซีดีภาพยนตร์ มีแผ่นปกระบุรายละเอียดชื่อภาพยนตร์ ชื่อนักแสดงไว้ชัดเจน และแผ่นพลาสติกใสห่อหุ้มแผ่นซีดี และวีซีดีในสภาพเรียบร้อย ไม่น่าเชื่อว่าเป็นแผ่นซีดีที่เก็บได้จากกองขยะ แต่เป็นแผ่นที่ได้มาจากแหล่งผลิตแล้วจำเลยนำมาวางจำหน่าย ซึ่งตามบันทึกการจับกุมก็มีการทดลองเปิดแผ่นดู พบว่าสามารถรับชมรับฟังได้ แม้จะวางปนเปกับสินค้าอื่นๆ แต่ก็ฟังได้ว่าเป็นจำเลยเป็นผู้จำหน่าย ผู้ประกอบการ ตามความหมายในมาตรา38วรรค1 ที่จำเลยต่อสู้ว่าโทษปรับสูงเกินไป เห็นว่า มาตรา 79 ของกฎหมายนี้ มีโทษปรับตั้งแต่ 2 แสนบาท ถึง1ล้านบาท โดยศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 2 แสนบาท และลดอัตราส่วนโทษให้ก็นับว่าลงโทษสถานเบาที่สุดแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่อาจลงโทษเป็นอย่างอื่นได้ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังฟังคำพิพากษา นายสุรัตน์ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สวมกุญแจมือ จนนางส้มโอภรรยาต้องเบือนหน้า ส่วนลูกสาวคนโตก็ได้แต่กอดน้องคนเล็กไว้แล้วบอกว่าจะไปรอพ่อข้างล่าง(ห้อง ควบคุมตัว)
ด้านนางส้มโอ มณีนพรัตน์สุดา ภรรยา กล่าวว่า ทุกวันนี้สามีเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว เงินเดือน 9,900 บาทไม่พอใช้จ่าย ตนเองก็ถักสร้อยขาย อยากให้หน่วยงานราชการมาช่วย เพราะชาตินี้ ตนไม่เคยจับเงินแสน ไม่รู้จะหาเงินจากไหน กระทรวงยุติธรรมได้ช่วยเหลือประกันตัวให้เฉพาะศาลชั้นต้น แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินที่ไหนประกันตัวสามีเลย.