เจ้าของบบทเพลงเพลง คิดถึงบ้าน หรือ เดือนเพ็ญ

 

อัศนี พลจันทร์ เกิดเมื่อวันที่   15    กันยายน   2461   ที่บ้านท่าเสา   ตำบลหน้าเมือง   อำเภอเมือง    จังหวัดราชบุรี    บิดาคือพระมนูญกิจวิมลอรรถ ( เจียร พลจันทร์ ) มารดาคือนางสอิ้ง    พลจันทร์   ซึ่งหากสืบเชื้อสาย บิดาขึ้นไปจนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จะพบว่าต้นตระกูลคือ พระยาพย   เดิมชื่อนายจันทร์   เคยรับกับ พม่าจนได้ชัยชนะ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รั้งเมืองกาญจนบุรี ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น   ซึ่งเป็นต้นตระกูลพลจันทร์ , พลกุล , วงศาไพโรจน
          เมื่ออายุได้เพียง 3 เดือน มารดาได้เสียชีวิตไป   เขาถูกทิ้งให้อยู่ในภาระดูแลของย่า ซึ่งเป็นคนเจ้าระเบียบจัด   ส่วนปู่นับเป็นคนมีฐานะระดับเศรษฐี มีกิจการโรงสีและที่นาให้เช่า   นอกจากนั้นยังค้าทอง   ค้าเสาและไม้ฝาง   อัศนีในวัยเด็กจึงเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สิน
         ในปี พ.ศ.2464 ได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดราชบุรี   การเดินทาง ไปเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัด มีรถม้าส่วนตัวและพี่เลี้ยงคอยรับส่งด้วย
          หลังจากจบชั้นมัธยมปีที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2476 แล้วได้เขามาศึกษาต่อ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในกรุงเทพมหานคร จนจบชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 8 แผนกภาษา เมื่อปี พ.ศ.2479 จากนั้นจึงเข้าศึกษาวิชากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2483
          ความสนใจในศิลปวรรณคดีเริ่มต้นจริงจังในช่วงที่ศึกษาอยู่ที่ธรรมศาสตร์   ปี พ.ศ.2480 ขณะอายุเพียง   19 ปี ได้เขียนบทความโต้ทัศนของ ส.ธรรมยศ เกี่ยวแก่เรื่อง " นิราศลำน้ำน้อย " ( ของพระยาตรัง ) ในชื่อ " นางสาว อัศนี "     นามปากกา " นายผี " ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2484 ในนิตยสารรายสัปดาห์ เอกชน ( ก่อตั้งโดยจำกัด พลางกูร และสด    กูรมะโรหิต โดยมีจำนง   สิงหเสนีเป็นบรรณาธิการ )   มีงานเขียนบทความใช้นาม "นายผี" ในคอลัมน์กวี
        นิตยสารรายสัปดาห์เอกชน ฉบับแรกออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2484   เพียงช่วง 2-3 เดือน นาม " นายผี " ก็เป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย   แม้ว่าจะเป็นเนื้อหา ทางความคิดซึ่งยังคงสะท้อนสังคมในแง่มุมกว้างๆ   กับบทกวี ด่าว่าเสียดสีผู้หญิงที่แต่งตัวไม่เหมาะสม   และการโต้ตอบกับกวีฉันทิชย์   กระแสสินธุ์และหลวงบุญยมานพพาณิชย์ (นายสาง) เกี่ยวกับทัศนในวงการกวีเมืองไทย
          เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปีเดียวกัน   ผลงานในนามนายผีก็หยุดชะงักลง   เมื่ออัศนี    พลจันทร์ได้รับการบรรจุเป็น ข้าราชการ ตำแหน่งอัยการฝึกหัด   ชั้นจัตวา อันดับ 7   อัตราเงินเดือน ที่กองคดี   กรมอัยการ 50 บาท
          วิบากกรรมในเส้นทางข้าราชการของอัศนี    พลจันทร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิดคดีหนึ่งที่คนในกรมอัยการ ไม่มีใครกล้าฟ้อง   เพราะจำเลยเป็นน้องชายของผู้เรืองอำนาจ ในทางการเมือง   ที่สุดภาระถูกส่งทอดมาถึงอัศนี     คดีนี้ฝ่ายโจทย์ชนะเหนือความคาดหมาย   เป็นผลให้อัศนีโดนคำสั่งย้ายไปอยู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน อันถือเป็นไซบีเรียของเมืองไทย
          ต่อมาได้ย้ายไปประจำที่จังหวัดปัตตานี   เมื่อวันที่ 1   มีนาคม 2485 มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น   80 บาท แต่ช่วงนั้น อยู่ระหว่างสงครามจึงต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียร   ต้องเหวี่ยงแหหาปลามากินเอง   ทั้งที่เหลือยังเผื่อ แผ่เจือจาน เพื่อนบ้าน   ซื้อไก่มาเลี้ยงเอาไข่และซื้อแพะมาเลี้ยงไว้รีดนม
          วันหนึ่งอัศนีนั่งเขียนหนังสือเพลินอยู่   แพะย่องเข้ามากินต้นฉบับหมดไปหลายแผ่น   ในเวลาต่อมาฉายา " อัยการแพะ " จึงเป็นคำติดปากชาวบ้านโดยปริยาย     ที่ปัตตานีนี่เองที่อัศนีได้มีโอกาสลงมาคลุกคลี อยู่กับชาวบ้าน สามัญ   เขาพยายามทั้งการศึกษาและวัฒนธรรม   ฝึกอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน   ตลอดไปถึงการไม่กินหมูตามแบบอย่างมุสลิม   กระทั่งเวลาต่อมาเขาถึงขั้นสวมหมวกกาบีเยาะห์ด้วยซ้ำ
          เวลา 2 ปีในปัตตานีเขายืนหยัดทำหน้าที่เคียงข้างคนสามัญผู้เสียเปรียบโดยตลอดสร้างความครึกโครม ในหลายคดี    โดยเฉพาะการสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านกว่า 50 คนที่โดนจับด้วยข้อหาไม่สวมหมวกตามนโยบายของจอมพล ป.   พิบูลสงคราม     กระทั่งที่สุดเขาถูกคำสั่งย้ายอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่าเขาเตรียมเข้าร่วมก่อกบฎร่วมกับคนท้องถิ่น   ในวันที่เขาจากมา   ชาวไทยมุสลิมหลายคนร้องห่มร้องไห้ด้วยความอาลัย
         การต้องรับภาระอัยการ   ทำให้อัศนีแทบไม่มีบทกวีในนามนายผีออกมาอีก    ส่วนหนึ่งก็ด้วยเขาใช้เวลา ไปถึงครึ่งปี ในการแปล ภควัทคีตา   จากภาษาสันสกฤต ( ต่อมาลงพิมพ์ในอักษรสาส์น นับแต่ฉบับเดือนตุลาคม 2493 )
          ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2484 - 2487 รัฐบาลจอมพล ป. ได้ออกวรรณคดีสาร มาเป็นเครื่องมือโฆษณานโยบาย " เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย "   ในนั้นมีบทกวีกว่าครึ่งเล่ม   มุ่งยกย่องนายกรัฐมนตรีและชักชวนให้ผู้อ่านคล้อย ตามนโยบาย ดังกล่าว     ยิ่งในฉบับที่ตรงกับวันเกิดนายกรัฐมนตรีและภริยา   นิตยสารเล่มนี้จะเต็มไปด้วยบทกวีอวยพรวันเกิดทั้งเล่ม    ที่นี่เกิดกวีนักกลอนขึ้นมามากที่เป็นเจ้าประจำ เช่น พท.หญิงละเอียด   พิบูลสงคราม , อรุณ   บุญยมานพ , มนตรี ตราโมท    ประเสริฐ   ทรัพย์สุนทร
          ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.2487 นายผีได้เริ่มบทกวี ใน นิกรวันอาทิจ (สะกดตามแบบภาษาวิบัติในสมัยนั้น)   ด้วยบทความที่ชื่อ " ทำไมนายผีจึงหายตัวได้ " โดยแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่าเหตุที่นายผี หยุดเขียนไประยะหนึ่ง ก็เพราะเกิดมีนักกลอน " ขนัดถนน " คนที่เป็นกวีที่แท้จริงจึงจำต้องหลบไปเสีย   และออกบทกวีใน นิกรวันอาทิจ มุ่งวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสร้างชาติของท่านผู้นำในน้ำเสียงหยามหยัน   จึงเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าพนักงานการพิมพ์   และโดนคำสั่งห้ามตีพิมพ์อีกในเดือนสิงหาคมของปีนั้นเอง
          อีกหนึ่งเดือนต่อมา     อัศนีถูกคำสั่งย้ายมาเป็นอัยการผู้ช่วยที่สระบุรี   เมื่อวันที่ 1    มีนาคม 2487 ใช้ชีวิตร่วมกับ วิมล    พลจันทร์ ในบ้านพักหลังเก่าซึ่งไม่มีใครกล้ามาอยู่ ด้วยต้นมะขามใหญ่หลังบ้านเคยมีคนผูกคอตาย
          ปี พ.ศ.2488 ครอบครัวพลจันทร์ก็มีลูกสาวเพิ่มเป็นสมาชิกในครอบครัว   ทำให้ปกติที่เงินเดือนชักหน้า ไม่ถึงหลัง อยู่แล้วกลับยิ่งอัตคัด   ทั้งงานเขียนก็ยากที่จะลงพิมพ์เพื่อหวังเป็นรายได้มาจุนเจือได้อีก    ภรรยาของเขาต้องออกตระเวน ซื้อกล้วย    ถั่วหรือข้าวโพดจากไร่มาขาย   บางครั้งต้องไปไกลถึงพระพุทธบาทซึ่งห่างจากสระบุรี 20 กิโลเมตร
          ในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2489   ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลปรีดี    พนมยงค์ กำลังประสบภาวะวิกฤต ทางการเมืองเนื่องจากกรณ๊สวรรคต   คอลัมน์ " วรรณมาลา " ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก จากเจ้าพนักงานตรวจข่าว มากยิ่งขึ้น   จนกระทั่งพลเรือตรีถวัลย์   ธรรมรงค์ จัดตั้งรัฐบาลใหม่    ภาวะดังกล่าวเริ่มผ่อนคลายลง   นายผีกลับ มาเขียน บทกวีวิพากษ์วิจารณ์สังคมและนโยบายของรัฐด้วยท่วงทำนองที่ค่อนข้างรุนแรงและก้าวร้าว   แสดงให้เห็นถึง ความเป็นนักอนาธิปไตยที่ไม่พอใจสังคมเก่า   แต่ยังขาดเป้าหมายทางการเมืองที่แจ่มชัด
           ในช่วงปี พ.ศ.2490-2491   นายผีย้ายมาเขียนประจำในคอลัมน์ " อักษราวลี " ของหนังสือรายสัปดาห์ สยามสมัย   บทกวียิ่งเพิ่มความแข็งกร้าว   โจมตีบุคคลทางการเมืองเป็นรายตัว   ไม่ว่าจะเป็น จอมพล ป.   พิบูลสงคราม , พลโทผิน    ชุณหวัณ , พลโทกาจ    เก่งสงคราม , มรว.คึกฤทธิ์    ปราโมช   ทำให้ยิ่งถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายบ้านเมือง    ถึงขนาดมีคำสั่งให้กำราบกวีปากกล้าคนนี้เสีย     แต่นายผีกลับไม่หวั่นเกรง   เขียนกวีท้าทายไปบทหนึ่งว่า
          ในทางราชการ   อัศนีเองเริ่มมีความคิดโต้แย้งมากขึ้น    กระทั่งในปี พ.ศ.2491   ซึ่งร้อยเอกประเสริฐ     สุดบรรทัดอันคบหากันกับนายผีฉันมิตร ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสระบุรี    แต่ถูกข้าหลวงตัดสิทธิ์   อัศนีได้ร้องเรียนไปถึงกรมอัยการ    แต่แล้วในวันที่   10    พฤษภาคม   2491   เขาก็กลับถูกย้ายไปประจำที่อยุธยา   ด้วยเห็นว่า อาของเขาเป็นหัวหน้าอัยการอยู่ที่นั่น จะได้ช่วยควบคุมดูแลไม่ให้ก่อเรื่องได้    และในปีถัดมา เมื่อวันที่ 1   มีนาคม 2492 อัศนีได้เลื่อนขึ้นเป็นข้าราชการชั้นโท   ขณะเดียวกันบทบาทด้านการเมืองของเขายิ่งก้าวไปไกลยิ่งกว่า    ทั้งโดยเปิดเผยและปิดลับ    เมื่อ เปลื้อง      วรรณศรี จะมาปราศรัยหาเสียงที่อยุธยา   นายผีได้เป็นธุระไปขออนุญาต จากข้าหลวงให้เอง   แต่ครึ้งถึงวันปราศรัย   นายอำเภอกลับไม่ยอม   โดยอ้างว่าข้าหลวงไม่อนุญาตแล้ว    จึงเกิดโต้เถียง กันขึ้น   จังหวะหนึ่งนายผีเอื้อมมือจะเกาหลัง   นายอำเภอตกใจคิดว่าจะชักปืนออกมายิง   รีบปั่นจักรยานออกไป      การปราศรัยจึงมีขึ้นได้
          จากกรณีนั้น    มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาสอบสวน    นายอำเภอถูกย้าย   เช่นเดียวกับอัศนีซึ่งถูกคำสั่ง ย้ายตามหลังไปเมื่อเดือนกรกฎาคม กลับมาประจำที่กองคดี   กรมอัยการ
          ระหว่างปี พ.ศ.2492-2495    ถือเป็นช่วงรุ่งโรจน์ของนายผี   เขาใช้เวลาส่วนหนึ่งเข้าไปช่วยทำนิตยสาร อักษรสาส์นรายเดือน    ที่สุภา     ศิริมานนท์   อดีต บก.นิกรวันอาทิจ เปิดขึ้น    เพื่อเป็นเวทีแสดงทัศนะในด้านศิลปวรรณคดีและการเมือง    ทั้งนี้ นายผีก็ยังคงเขียนให้กับสยามนิกรและสยามสมัย ควบคู่กันไปด้วย     บทกวีและเรื่องสั้นของนายผี ช่วงนี้ได้ขยายขอบเขตเนื้อหาจากการวิพากษ์วิจารณ์ การเมืองและรัฐบาลในแนวคิดเกี่ยวกับ   ความแตกต่างระหว่างชนชั้น    การกดขี่ขูดรีด และความอยุติธรรมในสังคม    อับอีกส่วนหนึ่งคือการวิพากษ์วิจารณ์สตรีเพื่อกระตุ้นให้เกิดตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง    เสนอแนวความคิด เกี่ยวแก่ความรักในรูปแบบใหม่   คือความรักระหว่างชนชั้น และความรัก ในมวลชน    นอกจากนี้ ยังมีบทกวีแสดงแนวคิด ปลุกเร้าประชาชนผู้ยากไร้ และชนชั้นกรรมชีพ ให้ตระหนักถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของตน มีหลายบทที่โดดเด่น อาทิ " สันติภาพก่อนเพื่อ "   " ความร้อน " " กำลังอยู่ที่ไหน " " ทารุณกรรมกลางที่ราบสูง " โดยเฉพาะบทกวีที่ชื่อ " อีศาน "   ซึ่งลงพิมพ์ในสยามสมัย    เดือนเมษายน พ.ศ.2495   นับเป็นบทที่สือเลื่อง ในหมู่คนรุ่นหลัง   กระทั่งกลายเป็นตัวแทนของนายผีไปแล้ว     ยิ่งเฉพาะท่อนท้ายสุด ...
 
          ในฟ้าบ่อมีน้ำ            ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย                     คือเลือดหลั่งลงโลมดิน
สองมือเฮามีแฮง                 เสียงเฮาแย้งมีคนยิน
สงสารอีศานสิ้น                  อย่าซุด,สู้ด้วยสองแขน
พายุยิ่งพัดอื้อ                     ราวป่ารื้อราบทั้งแดน
อีศานนับแสนแสน               สิจะพ่ายผู้ใดหนอ?
 
          ลุถึงวันที่   10 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 รัฐบาลจอมพล ป. ได้จับกุมนักเขียน,นักหนังสือพิมพ์และนักการเมือง จำนวนมากในเหตุการณ์ที่เรียกว่า   "กบฎสันติภาพ" นายผีเองได้ถูกตำรวจไปคอยดักจับที่บ้าน    จึงต้องร่อนเร่หลบซ่อน อยู่นอกบ้าน     กระทั่งเย็นวันหนึ่งเขาแอบเข้าไปเก็บเสื้อผ้าเอาลูกเล็กสองคนมากอด   สั่งภรรยา ให้ซื้อผ้าห่มกันหนาว ให้ลูก    แล้วก็หายตัวไปนับแต่บัดนั้น     ทั้งยังยื่นหนังสือลาป่วยติดต่อกันสามเดือนไปยังหน่วยงานสังกัด   แต่ไม่ทันครบระยะก็ยื่นหนังสือลาออกในวันที่   31 ธันวาคม พ.ศ.2495
          ในห้วงเวลาที่นายผีหลบซ่อนนี้    นายผีก็ยังวนเวียนอยู่ในกรุงเทพมหานคร   ทั้งยังสร้างผลงานวรรณกรรม ขึ้นมาสองเรื่อง คือ บทกวียาว " ความเปลี่ยนแปลง "   และเรื่องยาวคำฉันท์ " เราชนะแล้วแม่จ๋า "   และขณะเดียวกัน นายผีก็ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอันเพิ่งก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม    2485 จึงนับเป็น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยุคแรกๆ  
          ผลงานของนายผีปรากฎอีกครั้งระหว่างเดือนมีนาคม 2496 - พฤษภาคม 2497   เป็นเรื่องสั้นจำนวนสี่เรื่อง    ลงพิมพ์ในสยามสมัย   ต่อมาปี พ.ศ.2501   ได้มีบทความ ปรากฏในนิตยสารสายธาร   และบทกวีในปิยมิตรวันจันทร์   กระทั่งถึงเดือนมีนาคม    2502 ก็หยุดไป และมีเรื่องสั้นส่งมาตีพิมพ์อีกในปี พ.ศ.2503 ก่อนจะหายตัวไปจากพระนคร
          ในปี พ.ศ.2504   ชื่ออัศนี     พลจันทร์ปรากฏอีกครั้งในฐานะ " สหายไฟ " โดยได้รับเลือกเป็น หนึ่งในยี่สิบคน ของ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย   ต่อมาในปี พ.ศ.2505   ผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ระดับสูงในนาม รวมวงศ์      พันธุ์ถูกจับกุมตัวและถูกคำสั่งประหารชีวิต   โดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์     ธนะรัชต์   ทำให้ศูนย์การนำต้องโยกย้ายออกจากกรุงเทพมหานคร      สหายไฟและสหายลม(ภรรยา)   ถูกส่งไปกรุงฮานอย ก่อนเดินทางเข้าสู่เมืองคุนหมิง   มณฑลยูนานของ ประเทศจีนในเวลาต่อมา
 
          ชื่อเสียงของนายผีหอมกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง    หลังเหตุการณ์ 14   ตุลาคม   2516 เมื่อนักศึกษาหัวก้าวหน้ากลุ่มต่างๆนำผลงาน ทั้งบทกวี เรื่องสั้น   เรื่องแปลและ บทวิจารณ์วรรณกรรม มารวมเล่ม ออกจำหน่าย    ทำให้ผลงานของนายผีเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย   และขยายขอบเขตรับรู้ออกไปกว้างขวาง
          ในเขตป่าเขา   นายผียังคงเขียนบทกวีและศึกษาศิลปวรรณคดีอย่างแพร่หลายคือ " เพลงคิดถึงบ้าน " หรือ " เดือนเพ็ญ "   นามปากกาซึ่งเคยปรากฏใช้ : นายผี , อินทรายุทธ , กุลิศ   อินทุศักดิ์ , ประไฟ    วิเศษธานี , กินนร   เพลินไพร , หง   เกลียวกาม   , จิล พาใจ ,อำแดงกล่อม , นางสาวอัศนี
          ปี พ.ศ.2518   ประเทศลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยขบวนการคอมมิวนิสต์สายโซเวียต   อันใช้กำลังหลัก จากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม   พรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทยต้องตัดสินใจ ว่าจะใช้ทฤษฏี " โดมิโน "   สายโซเวียต ที่ยึดแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย การใช้กองกำลังต่างชาติเข้าสนับสนุน   หรือจะยึดตามอย่าง สายจีน   ที่เน้นใช้วิธีเปลี่ยนแปลงความคิดประชาชาติ   ปลุกเร้าอุดมการณ์รอจนกว่า   จะเกิดความสุขงอมทางความคิด   ในประชาชาตินั้นๆเอง
          ส่วนหนึ่งรับข้อเสนอของคอมมิวนิสต์สายโซเวียต เตรียมการปฏิวัติโดยกองกำลังตลอดแนวลำน้ำโขง อันเชื่อมต่อประเทศไทย    ในฐานะระดับนำคนหนึ่ง   นายผีได้คัดค้านการใช้กองกำลัง     ยืนยันการเปลี่ยนแปลง ปฏิวัติประเทศต้องเกิดจากเงื่อนไขของสังคมไทย   และโดยคนไทยด้วยกันเอง    จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สหายไฟ ต้องถูกจำกัดการเคลื่อนไหวตลอดเวลาของการอยู่ในลาว    กระทั่งสถานการณ์ขัดแย้ง ระหว่างจีนและเวียดนาม ถึงจุดแตกหัก     พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย   ซึ่งถูกระบุว่าเป็น   คอมมิวนิสต์สายจีน    จึงต้องเคลื่อนย้ายผู้คน ออกจากลาว    และนายผีได้กลับเข้ามาที่ฝั่งไทย ในปี พ.ศ.2522
          ปี พ.ศ.2526   หลังวันครบรอบวันเกิดนายผีไม่นาน    ได้เกิดศึกภูเมี่ยงขึ้นในเขตน่านเหนือ     ด้วยความเสียหายอย่างหนัก ทำให้นายผีต้องเดินทาง ข้ามลำน้ำโขงไปเจรจาขอซื้อข้าวกับกรรมการกลางเขตหงสาของลาว      ขณะนั้นเกิดการแตกพ่ายของฐานที่มั่นเขต 4   ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย   จังหวัดน่าน ในยุทธการล้อมปราบ ของรัฐบาล     นับตั้งแต่การแตกหนี เข้าสู่ฝั่งลาวในครั้งนั้น    นายผีและพลพรรคสหายที่หนีเข้าสู่ลาว ถูกปลดอาวุธและจำกัดบริเวณ    ขณะที่ป้าลม (วิมล     พลจันทร์ - ภรรยา)   ติดตามขบวนใหญ่ซึ่งเคลื่ออนลงเขตน่านใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของความพลัดพรากตลอดกาล!   และป้าลม จึงได้คืนกลับสู่ นาครในเวลาต่อมา
นับแต่ปี พ.ศ.2526 ซึ่งพลัดพรากจากกัน นายผีอยู่ฐานที่มั่นฝั่งลาว   มีบรรดาเยาวกวี ปัญญาชนหนุ่มสาว ต่างแวะเวียนมาปรับทุกข์   ในความขัดแย้ง สถานการณ์ปฏิวัติ   นายผีผู้เฒ่าจะตรวจงานเขียน   พร้อมคำวิจารณ์และให้กำลังใจ ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ ภายในพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มส่อเค้าความขัดแย้งทางความคิด   ระอุด้วยบรรยากาศอันเกิดแต่การแย่งชิงการชี้นำ ความคิดทางการเมือง    บรรยากาศ เช่นนั้นเอง ที่สร้างความเบื่อหน่ายให้แก่เหล่าปัญญาชนปฏิวัติ   กระทั่งแปรมาเป็นการ ตั้งคำถาม และตรวจสอบเป้าหมาย จนตัดสินใจคืนสู่นาครในที่สุด
          ที่นั่นนายผีดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง   มักโดนตำหนิวิจารณ์จาก สหายนำด้านทฤษฏีว่า เป็นศักดินาปฏิวัติ บ้างก็ว่าเป็น ปัญญาชนนายทุนน้อย   หรือไม่ก็เป็นวีรชนเอกชน   ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของนายผี ที่สุรชัย   จันทิมาธร บันทึกไว้ว่า " เขาเป็นคนหัวแข็งดื้อรั้น สิ่งใดไม่ถูกเขาจะสู้หัวชนฝา " ขณะอยู่ที่ลาว นายผีต้องได้รับความเจ็บปวดจากโรครูมาตอย ช่วงที่มีอากาศหนาวมัก จะล้มหมอนนอนเสื่อ กระดุกกระดิกไม่ได้ด้วยปวดตามกระดูกข้อต่อ    และเจ็บป่วยด้วย โรคกระเพาะเรื้อรังอันกลายมาเป็นมะเร็งในลำไส้
          กระทั่งเมื่อวันที่   28   พฤศจิกายน พ.ศ.2530    นายผีได้เสียชีวิตลงที่แขวงอุดมไชย   ประเทศลาว    อีกหลายปี ต่อมาป้าลมได้ข่าวเป็นที่แน่ชัดว่านายผีได้เสียชีวิตแล้วจริง    ป้าลมปรารถนานำกระดูกนายผีกลับมา ประกอบพิธี ศาสนาแต่ก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง    ด้วยฐานะตำแหน่งนายผีในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น มีความสำคัญ อีกทั้ง กระบวนทัศนะถูกจัดนับอยู่ฝ่ายโต้แย้ง    ผนวกกับการเมือง ของภูมิภาคอินโดจีน อันซับซ้อน   ถึงแม้ว่านายผี จะละร่างไปแล้ว    ทว่าเพียงกระดูกที่เหลืออยู่ ก็เปรียบเสมือนพลังอันยังบรรจุเต็ม ด้วยศักยภาพมากพอที่จะส่งผล กระทบหรือเกิดปัจจัย เคลื่อนไหวบางอย่าง
          สิบปีต่อมาหลังจากการเสียชีวิตของนายผี คือในปี พ.ศ.2540 ป้าลมร่วมกับกลุ่มมิตรสหายซึ่งศรัทธาในตัวนายผี   เช่น   กลุ่มเครือข่ายเดือนตุลาฯ ,   กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อชีวิต , กลุ่มนักเขียน   ได้ติดต่อนำกระดูกนายผีกลับบ้าน ด้วยการติดต่อผ่านสถานทูตและประสานกับสมาคมมิตรภาพไทย-ลาว    ในวันที่ 21    พฤศจิกายน   2540 ป้าลม พร้อมด้วย สุรชัย     จันทิมาธรและแสวง     รัตนมงคลมาศ   ข้ามฝั่งลำน้ำโขง   เข้าสู่เวียงจันทน์    จึงได้พบกับภาพถ่าย สุดท้ายของนายผี   เป็นภาพชายชราในลักษณะ อ่อนโรยด้วยอายุ และเชื้อไข้   ผมสีดอกอ้อเพิ่มมากกว่าที่เคยเห็น    ทว่านัยน์ตานั้น ยังเปล่งประกายบริสุทธิ์เยี่ยงเดียวกับคืนวันเก่าก่อน
          หลังพิธีสวดบังสกุล , ได้นำกระดูกซึ่งอาบน้ำยาไว้ เกือบสมบูรณ์ทุกชิ้นส่วน ออกจากกระเป๋ามาจัดวางบนผ้าขาว    ทำพิธีรดน้ำศพ    ต่อเมื่อบรรจุกระดูกลงในโลงไม้ ป้าลมดึงผ้าแพรสีแดงเลือดนกฝืนใหญ่ออกมา   ประดับด้วยดาว เหลืองดวงใหญ่ห่มคลุมร่าง " ลุงไฟ "      อีกชั่วโมงถัดมา   โลงสีขาวถูกยกขึ้นรถคัดเดิม   ขบวนต้อนรับ นายผีคืนถิ่น แผ่นดินแม่ละจากฝั่งโขง   มุ่งหน้าสู่นครราชสีมา   โดยมีรถนำขบวน จากกองปราบปรามพิเศษ คอยอำนวน ความสะดวก    นับเป็นประจักษ์พยานยืนยัน ถึงห้วงเวลาอัน สงบสันติ   แม้ครั้งหนึ่งเขาจะยืนอยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาลไทย   ถึงขั้นจับอาวุธขึ้นต่อสู้   แต่เมื่อกลับถึบงวันเวลาที่เขากลับมา  เขาได้รับทั้งเกียรติและการคารวะ
          คืนวันที่   22 พฤศจิกายน 2540   ณ   สนามฟุตบอล   สถาบันราชภัฏนครราชสีมา    บทเพลง " คิดถึงบ้าน "   ถูกขับขาน ร่วมกันด้วยน้ำเสียงของคนกว่าสามหมื่นคน   อาจเป็นการขับขาน บทเพลงนี้     ซึ่งกระหึ่มดังมากที่สุด   ในจำนวนนับแสน นับล้านเที่ยว ซึ่งเพลงบทนี้ ได้รับการขับขานมาตลอดห้วยเวลา   14 ปี   นับแต่คาราวานนำมาบันทึกเสียงไว้ใน อัลบัม " บ้านนาสะเทือน "   เมื่อปี 2526    ปีเดียวกับที่เจ้าของบทเพลงพลัดพรากจากถิ่นแผ่นดินเกิด
 
           หลังพิธีเผาในวันที่ 11   มกราคม 2541   อัศนี    พลจันทร์ ได้นอนอย่างสงบภายในอนุสรณ์สถานซึ่งสลัก คำว่า " เดือนเพ็ญ "   ไว้บนพื้นหินอ่อน   กลางไร่อ้อย ของคู่ชีวิต ณ   จังหวัดกำแพงเพชร      สงบลงในความเชื่อมั่นที่ว่า   เพ็ญนั้นคงยังเด่นดวง   ตราบใดที่สังคมยังเหลื่อมล้ำ และมีคนลุกขึ้นต่อกรกับความไม่เป็นธรรม...
Credit: เจ้าของบบทเพลงเพลง คิดถึงบ้าน หรือ เดือนเพ็ญ
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...