หลักสูตร FBI

 

“หยุด นี่คือเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ” !!

คำพูดประโยคนี้ คอหนังสืบสวนคงได้ยินจนคุ้นหู ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ที่รู้จักกันในนาม “เอฟบีไอ”ออกปฏิบัติหน้าที่เมื่อไร ต้องกล่าวกับเหล่าอาชญากรทุกครั้งที่มีการจับกุม หรือตรวจค้นต่างๆ ถึงไม่เชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ ในเมืองไทยเองก็มี เอฟบีไอ ในคราบตำรวจทั้งในและนอกราชการ หากนับจาก พล.ต.อ.เสริม จารุรัตน์ อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ (นรป.) ที่เป็นนักเรียนหลักสูตรเอฟบีไอคนแรกของเมืองไทย รุ่นที่ 70 เมื่อปี 2505 รายล่าสุดคือ พ.ต.ท.เขมชาติ หิรัญโตสารวัตรฝ่าย 2 กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

 

 

ปัจจุบันเครือข่ายเอฟบีไอในเมืองไทยนั้นสังกัดอยู่ภายใต้ร่มเงา สมาคมนักเรียนเก่าเอฟบีไอ-เอ็นเอ แห่งประเทศไทย หรือ (FBI-NAAT) ที่มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รั้งเก้าอี้นายกสมาคม ซึ่งถือเป็นสมาคมนักเรียนเก่าของเอฟบีไอสถาบันแรกในโลกที่ก่อตั้งขึ้นนอกพื้นที่สหรัฐที่ยังคงคุณภาพคับแก้ว ถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 47 ปี มีตำรวจเอฟบีไอในเมืองไทยจบมาแล้วกว่า 164 รุ่น รวมแล้ว 126 นาย โดยกระจายกันอยู่ในหน่วยสำคัญของ สตช.มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจนครบาล ที่ดูแลสุขทุกข์คนเมืองหลวง ตำรวจกองปราบปราม ที่มีอำนาจสืบสวนจับกุมทั่วประเทศ ตำรวจสันติบาล ในฐานะเหยี่ยวข่าวความมั่นคงชั้นยอด รวมทั้งยังมี “นักสืบ” ดีกรีสูงจากสหรัฐกระจายอยู่ในงานตำรวจภูธรทั่วประเทศ!!

 

 

คัดเฉพาะหัวกะทิ

ตำรวจจากเมืองไทยน้อยคนนักจะได้รับโอกาสถูกส่งตัวไปร่วมเรียนหลักสูตร 11 สัปดาห์ ในรั้วเอฟบีไอ อะคาเดมี (FBI Academy) เมืองควอนติโก รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ที่ก้าวผ่านไปได้ต้องมีความสามารถพิเศษ นอกจากต้องมีทักษะตำรวจดี ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ยังต้องเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ เพื่อใช้สื่อสารกับเพื่อนตำรวจนานาชาติตลอดหลักสูตรอีกด้วย

ขึ้นชื่อชั้นพะยี่ห้อ เอฟบีไอ หน่วยหลักในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมระดับชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งมายาวนาน และเพิ่งฉลองครบ 100 ปี เมื่อปี 2551 นี้เอง อำนาจสืบสวนและจับกุมของเอฟบีไอนั้นไปได้ทั่วสหรัฐ ยิ่งหากได้รับการฝึกฝนมาดี ก็ยิ่งทำงานง่าย และสยบอาชญากรไม่ให้โงหัวก่อกวนชาวบ้านได้ง่ายๆ และเมื่อได้รับแรงหนุนจาก สมาคมหัวหน้าตำรวจนานาชาติ (International Association of Chiefs of Police) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐด้วยแล้ว หลักสูตรเอฟบีไอก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้นทุกที บนเนื้อที่ 285 เอเคอร์ ซึ่งล้อมรอบด้วยป่าไม้ล้วนๆ ทำให้อะคาเดมีปลอดภัยและเงียบสงบ ไร้สิ่งรบกวนต่างๆ จากโลกภายนอก จึงเหมาะสมกับการฝึกฝนและเรียนรู้หลักสูตรยุทธวิธีของเอฟบีไอเป็นอย่างดี และยังใช้ฝึกหัดเจ้าหน้าที่ใหม่ของหน่วยปราบปรามยาเสพติด หรือ ดีอีเอ (Drug Enforcement Administration) ไปด้วย หากเป็นเมืองไทยพวกนี้ก็คือ ป.ป.ส. ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเหมือนกัน ตำรวจไทยเองได้โควตาเข้าเรียนอัตราแค่ปีละ 1 คนเท่านั้น เมื่อถูกนำไปบ่มความแกร่งกล้าร่วมกับเพื่อนตำรวจจาก 50 รัฐทั่วอเมริกา และตำรวจจาก 150 ชาติทั่วโลก ก็ไม่น่าแปลกใจหากเอฟบีไอจะขยายฐาน Special Agent หรือเจ้าหน้าที่พิเศษ เพิ่มมากขึ้นทุกทีจนเหล่าร้ายหวาดผวา

 

 

 

 

ฝึกจริง-แก้ไขสถานการณ์

ในแต่ละคอร์สของหลักสูตรเอฟบีไอมีนักเรียนไม่น้อยกว่ารุ่นละ 250 นาย นักเรียนแต่ละชาตินั้นต้องได้รับการส่งตัวจากอธิบดีตำรวจ หรือผู้บัญชาการตำรวจ ให้เข้าร่วมเรียนอย่างเป็นทางการเท่านั้น เนื้อหาวิชาที่ร่ำเรียนก็เอื้อต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น วิชากฎหมาย พฤติกรรมอาชญากร นิติวิทยาศาสตร์ การออกกำลังกายตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา การยิงปืนยุทธวิธี และพัฒนาบุคลิกผู้นำ นอกเหนือจาก “ตำรวจท้องถิ่น” จาก 50 รัฐ และตำรวจจากอีกกว่า 150 ชาติทั่วโลก ที่ได้รับสิทธิหมายเลข 1 ในรั้วเอฟบีไอแล้ว เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายอื่นๆ (Law Enforcement) เช่น เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่สรรพสามิต นายอำเภอ ตำรวจรัฐ พัศดีผู้คุมเรือนจำ ตำรวจศาล สารวัตรทหาร 3 เหล่าทัพสหรัฐ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ ก็ได้รับสิทธิเข้าศึกษาหลักสูตรเอฟบีไอได้เหมือนกัน ทำให้ตอบโจทย์ได้ว่า สาเหตุที่มีตัวย่อ NA ในหลักสูตรนั้นก็มาจากคำว่า National Academy คือหลักสูตรฝึกฝนสำหรับเจ้าหน้าที่สืบสวนนานาชาติที่ร่วมคอร์สเรียนนั่นเอง ศิษย์เก่าเอฟบีไอ รุ่นที่ 159 เมื่อปี 2532 ที่ชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร ก็เคยกินอยู่หลับนอนและเล่าเรียนหลักสูตรเอฟบีไอ ซึ่งอยู่ในรั้วเดียวกับฐานฝึกนาวิกโยธินสหรัฐมาแล้ว

 

 

 

สถานที่ขึ้นชื่อในการฝึกต้องยกให้ “โฮแกนส์ อัลเลย์” (Hogan’s Alley) ซึ่งจำลองรูปแบบชีวิตในเมืองไว้สมบูรณ์แบบ มีทั้ง ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ปั๊มน้ำมัน สถานบันเทิง ฯลฯ ซึ่งเมืองแห่งนี้จะเป็นบันไดชั้นดีเพื่อทดสอบงานปราบอาชญากรรม สืบสวน ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ของเจ้าหน้าที่เอฟบีไอหน้าใหม่ ในการแก้ไขสถานการณ์จริงที่อยู่นอกตำราเรียน และสั่งสมประสบการณ์เบื้องต้นเอาไว้ใช้ในปฏิบัติการจริงที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ในอาชีพผู้พิทักษ์กฎหมาย สิ่งที่เป็นประโยชน์กับนักเรียนเอฟบีไออย่างยิ่งคือ เมื่อจบแต่ละหลักสูตรแล้วยังสามารถนำหน่วยกิตที่ได้จากอะคาเดมีแห่งนี้ไปเทียบหน่วยกิตกับมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียได้อีกด้วย เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว จบหลักสูตรเอฟบีไอแล้วยังเรียนได้ดีกรีเรียนมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียอีกต่างหาก หลังจากทุกคนผ่านหลักสูตรเอฟบีไอเรียบร้อยแล้ว นักเรียนแต่ละคนก็จะได้เป็นสมาชิกสมาคมวิทยาลัยนานาชาติเอฟบีไอ (National Academy Associates) ที่มีมวลหมู่เพื่อนพ้องมากกว่า 1.5 หมื่นคน ในเพื่อนร่วมอาชีพพิทักษ์กฎหมายจากทั่วสหรัฐและทั่วโลก กลายเป็นเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมชั้นดี เนื่องจากทุกคนยังคงติดต่อและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่ตลอด ยิ่งเมื่อประสานพลังกันไล่ล่าอาชญากรที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ขึ้นมาก่อกวนสังคม ศิษย์เก่าเอฟบีไอก็ยิ่งได้ลองวิชาทักษะ และกลยุทธ์ที่คร่ำเคร่งร่ำเรียนกันมา 11 สัปดาห์ ยิ่งก้าวประชิดอาชญากรมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งเก่งกล้าขึ้นทุกที

 

 

 

หลักสูตร FBI National Academy เป็นหลักสูตรระดับ Professional ของหน่วยงานFBI สถานที่ฝึกอบรมตั้งอยู่ที่ เมืองควอนติโก รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ใช้เวลาฝึกอบรมประมาณ 10 สัปดาห์ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 250 คนต่อรุ่น โดยจัดปีละ 4 รุ่น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมประกอบไปด้วยผู้รักษากฎหมายระดับผู้นำและผู้บริหารจากสหรัฐอเมริกาและผู้รักษากฎหมายกว่า 150 ประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐาน พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่างผู้รักษากฎหมายทั่วโลก 

        สำหรับประเทศไทย นับได้ว่าเป็นประเทศที่ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนี้มากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยส่งเข้ารับการฝึกอบรมเฉลี่ยปีละ 3 รุ่น และมีผู้สำเร็จการศึกษามากกว่า 100 นาย  ปัจจุบัน ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมได้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ มากมาย และได้นำองค์ความรู้มาใช้ในการพัฒนาหน่วยงานได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งเป็นสมาคมนักเรียนเก่า FBI-NA ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างองค์การสมาคมนักเรียนเก่า FBI-NA ตลอดจนองค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกสมาคมนักเรียนเก่า FBI-NA ทั้งในประเทศและในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดจนประสานงานให้เกิดผลที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และนำความสงบสุขมาสู่สังคมไทย

 

ขอบคุณ :: www.fbinaat.org/th.wikipedia.org/wiki/วิเชียร_พจน์โพธิ์ศรี

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...