พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 แต่ได้เลื่อนเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 2 คราว เป็นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2457 และบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 นามสกุลที่ได้รับพระราชทานครั้งแรก 5 สกุล คือ สุขุม พระราชทาน เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล มาลากุล พระราชทาน พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ กับ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ต่อมาได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมาธิการณาธิบดี) เสนาบดีกระทรวงวัง พึ่งบุญ พระราชทาน พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ) จางวางมหาดเล็กห้องพระบรรทม ณ มหาไชย พระราชทาน พระยาเทพทวาราวดี (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบำเรอบริรักษ์) อธิบดีกรมมหาดเล็ก ไกรฤกษ์ พระราชทาน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อธิบดีกรมชาวที่ และ พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหิธร) กรรมการศาลฎีกา นามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้มีทั้งสิ้น 6464 นามสกุล แยกเป็นนามสกุลตามสมุดทะเบียน 6439 นามสกุล (ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุลที่ได้พระราชทานไปเพียง 6432 นามสกุล) นามสกุลพิเศษ 1 นามสกุล และนามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ 4 อีก 24 นามสกุล นามสกุลพิเศษที่มิได้ลงลำดับที่ในสมุดทะเบียนนามสกุลคือ ณ พิศณุโลก พระราชทาน หม่อมคัธริน ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ นามสกุลสุดท้ายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน คือ ตันตริยานนท์ พระราชทานแก่ นายประดิษฐ์ ผู้ช่วยนายเวรกรมบาญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ปู่ชื่อตันก๊กเหลียง บิดาชื่อตันเต็งหยง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับพระราชทานนามสกุลคือ เด็กชายบัว อายุ 6 ขวบ มหาดเล็กรุ่นจิ๋ว ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ศจิเสวี เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465นามสกุลที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ เศียนเสวี พระราชทาน พระอักษรสมบูรณ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี) เสมียนตรากระทรวงวัง และนายพันตรีในกองทัพบก บิดาเป็นชาวเยอรมัน นามสกุลเดิมว่า “Falck” คือมุ่งว่า “falk” แปลว่าเหยี่ยว แปลกลับเป็นสังสกฤตว่า “เศ์ยน” แผลงเป็นไทยว่า “เศียน” เศวตศิลา พระราชทาน พระวันพฤกษ์พิจารณ (ทองคำ) ปลัดกรมป่าไม้ กับพระกรุงศรีบริรักษ์ (ทองย้อย) ปลัดมณฑลกรุงเก่ากระทรวงมหาดไทย เป็นบุตรนายเฮนรี อาลบาสเตอร์ (แปลนามสกุลเป็น “หินขาว”) สุมิตร พระราชทาน นายอี สเปนช์ สมิต ผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ ขอพระราชทานให้บุตรชายหญิงซึ่งมารดาเป็นไทย เวลานนท์ พระราชทาน รองอำมาตย์เอกเกอรช ฟริดริช เวเลอร์ นายตรวจเอก กรมรถไฟหลวงสายเหนือ (ต่อมาถูกถอนสัญชาติและเรียกคืนนามสกุล เมื่อคราวประเทศสยามประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1) อันตรนิยุกต์ พระราชทาน ขุนทิพรศโอชา (ปีเตอร์) พนักงานครัวเฃ้าต้น กรมมหาดเล็ก นามสกุลเดิม “อันโตนิโอ” สีมันตร พระราชทาน ขุนเลขการวิจิตร (แสวง) นายเวรกรมที่ปฤกษา กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ บิดาเป็นชาวโปรตุเกส นามสกุลเดิมว่า “ซีโมเอนส์” เตชะวณิช พระราชทาน พระอนุวัตร์ราชนิยม (ฮง) สังกัดกรมมหาดเล็ก แส้แต้ อับดุลพันธุ์ พระราชทาน นายหมู่ตรีปุ๋ย ประจำแพนกเกียกกาย กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ ปู่ทวดชื่อเฮเดอรใบ ปู่ชื่อเมียโบ บิดาชื่ออับดุลโคยุม อับดุลละบุตร พระราชทาน พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสงคราม (นิโอ๊ะ) พระยาเมืองยะหริ่ง ปู่ทวดชื่ออับดุลเลาะ คุณะดิลก พระราชทาน พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด ตีเลกี, William Alfred Tilleke) อธิบดีกรมอัยการ กระทรวงยุติธรรม เขาชื่อเช่นนี้มาแต่เดิมแล้วแต่ต้องการได้รับอนุมัติ จึ่งตกลงให้เขียนว่า“คุณะดิลก”เช่นนี้ เพื่อให้เป็นไทย เดิมเขียนว่า“คุณะติละกะ” (ตัวโรมัน“Guna Tilleke”) สิงหลกะ พระราชทาน พระดรุณรักษา (เสงี่ยม) ปลัดบาญชีกรมมหาดเล็ก หลานพระอุดรพิศดาร (สิญญ) ซึ่งเป็นชาวสิงหล
นามสกุลแยกตามรายอาชีพของผู้เป็นต้นสกุล สกุลพ่อค้า มีคำว่า วณิช หรือวานิช และ เวส ประกอบในนามสกุลเช่น กมุทวณิช, กัณหะเวส, คุปตะวาณิช, กฤษณวนิช สกุลชาวสวน มีคำว่า ผล และ ผลิน ประกอบในนามสกุล เช่น ผลพันธิน, ผลาชีวะ, มณฑลผลิน สกุลชาวนา มีคำว่า กสิกร, เกษตริน และศาลิ ประกอบในนามสกุล เช่น โพธิกสิกร, รัตกสิกร, สนธิเกษตริน, พฤทธิศาลิกร, ศาลิคุปต์ สกุลทหารบก มีคำว่า โยธิน ประกอบในนามสกุล เช่น พหลโยธิน, พินทุโยธิน, อุตตมะโยธิน สกุลทหารเรือ มีคำว่า นาวิน และกลิน ประกอบในนามสกุล เช่น กนกนาวิน, วิเศษนาวิน, โรหิตนาวิน, ไอศะนาวิน, กฤษณกลิน, สุนทรกลิน, บุญยรัตกลิน สกุลทหารอากาศ มีคำว่า อากาศ หรือ นภา ประกอบในนามสกุล เช่น รณนภากาศ สกุลช่างสิบหมู่ มีคำว่า ศิลปิน ประกอบในนามสกุล เช่น เกียรติศิลปิน, เตมียศิลปิน, วิภาตะศิลปิน ศิลปินโขน มีคำว่า นัฏ ประกอบในนามสกุล เช่น กานตะนัฎ, จารุนัฎ, สมรรคนัฎ นักดนตรี มีคำว่า วาทิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลวาทิน, วรวาทิน, สุนทรวาทิน กรมพระอัศวราช มีคำว่า อัศวิน ประกอบในนามสกุล เช่น ศวิน โกมลาศวิน, ชยาศวิน, มณฑาศวิน สกุลแพทย์ มีคำว่า เวช, ไวทยะ, แพทย์ ประกอบในนามสกุล เช่น โกมลเวช, สุนทรเวช, ถาวรเวช, วีระไวทยะ, ไวทยะชีวิน, ตีรแพทย์, มิลินทแพทย์,เวชชาชีวะ โหรหลวง มีคำว่า โชติ ประกอบในนามสกุล เช่น โชติวิท, เศษโชติ, สุนทรโชติ พรามหมณ์ มีคำว่า พราหมณ ประกอบในนามสกุล เช่น จุลละพราหมณ์, พราหมณายน, วินทุพราหมณกุล
นามสกุลที่เนื่องมาแต่ราชสกุลที่โปรดให้เติม ณ กรุงเทพ หรือที่ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้ายนั้น มีทั้งสิ้น 105 นามสกุล สมาชิกกองเสือป่าที่ได้รับพระราชทานนามสกุลมีทั้งสิ้น 864 นามสกุล ในจำนวนนี้เป็น พลเสือป่าถึง 515 นามสกุล นายทหารที่ได้รับพระราชทานนามสกุล มีทั้งสิ้น 1134 นามสกุล นายตำรวจที่ได้รับพระราชทานนามสกุลมี ทั้งสิ้น 457 นามสกุล นักเรียนที่ได้รับพระราชทานนามสกุลมี ทั้งสิ้น 278 นามสกุล แยกเป็น นักเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา คือ นักเรียนมหาดเล็กหลวง และนักเรียนราชวิทยาลัย จำนวน 45 นามสกุล นักเรียนทหารกระบี่หลวง หรือนักเรียนพรานหลวง จำนวน 97 คน นักเรียนระดับชั้น อุดมศึกษา คือ นักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง จำนวน 88 นามสกุล นักเรียนนายร้อย, นักเรียนทำการนายร้อย และนักเรียนทำการนายร้อยตำรวจ จำนวน 22 นามสกุล นักเรียนนายเรือ และนักเรียนทำการนายเรือ จำนวน 11 นามสกุล นักเรียนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 13 นามสกุล นักเรียนราชแพทยาลัย จำนวน 2 นามสกุล
นามสกุลอื่นๆที่ได้รับพระราชทานฯ ได้แก่ จุลดิลก พระราชทานแก่ หลวงประสุตกลการ กรมยานยนตร์ ปู่คือหลวงอินทรโกษา กาญจนาชีวะ พระราชทานแก่ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม) บำเรอเจ้าฯ พระราชทานแก่ หลวงบำเรอบริภักดี (ช้อย)ภายหลังเลื่อนเป็น พระยาบำเรอบริภักดี หังสสูต พระราชทานแก่ พระยาพิพิธโภคัย (เชฐ) บุตร พระยาสุธรรมไมตรี (ห้อง) เป็นต้น
นามสกุลที่ทรงโปรดให้ใช้คำว่า ณ กรุงเทพ (ภายหลัง ร.9 ทรงโปรดให้ใช้เป็น ณ อยุธยา) สำหรับราชสกุลมีทั้งสิ้น 105 ราชสกุล เช่น เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา,สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นต้น นามสกุลพิเศษที่มี ณ ต่อท้ายชื่อสกุลอีกประมาณ 7 นามสกุล เช่น ณ นคร,ณ ถลาง,สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง,ณ เชียงใหม่ เป็นต้น