เมื่อ 24 มิ.ย. ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทยสเตบิไลซ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ2 และรางวัลหุ่นยนต์ที่มีความสามารถเคลื่อนที่ยอดเยี่ยม (Bestin class - Mobility) ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก World RoboCupRescue 2012 ที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก โดยทีม MRLจากอิหร่าน ได้ครองตำแหน่งชนะเลิศ ทีมเฮกเตอร์ ดามสตัท จากเยอรมนี คว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ1 และทีมสเตบิไลซ์ตัวแทนประเทศไทยครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ2 ร่วมกับทีม YRA จากอิหร่าน
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กรเอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์โลกกล่าวว่า การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเป็นไปอย่างเข้มข้น สร้างความกดดันให้กับทุกทีมอย่างมาก ทีมเยาวชนไทยพยายามฝ่าด่านการแข่งขันในรอบนี้ด้วยสมรรถนะการขับเคลื่อนของหุ่นยนต์และไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้บังคับหุ่นยนต์แต่ด้วยความยากและซับซ้อนของสนามทำให้หุ่นยนต์เสียหายต้องเสียเวลาซ่อมแซมในช่วงต้นประกอบกับหุ่นยนต์เกิดปัญหาขัดข้องในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ ส่งผลให้ทีมไทยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ2 อย่างไรก็ตามทีมเยาวชนไทยยังสามารถโชว์ผลงานเป็นที่ประทับใจผู้ชมและคณะกรรมการจนคว้าตำแหน่งหุ่นยนต์เคลื่อนที่ยอดเยี่ยม(Best in class - Mobility) มาครองได้อีกหนึ่งรางวัล
“รู้สึกชื่นชมน้องๆ เยาวชนไทยทีมสเตบิไลซ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครที่มีความตั้งใจและความสามารถสูง ทำงานเป็นทีม มีไหวพริบดีเยี่ยมในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศหุ่นยนต์กู้ภัยโลกมาได้ นำความยินดีมาสู่คนไทยอีกครั้งเอสซีจี และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยยืนยันที่จะสนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยในปีต่อไปอย่างต่อเนื่องใน2 ประเภท คือ หุ่นยนต์กู้ภัย และหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ Robot@Home เพื่อเฟ้นหาแชมป์ประเทศไทยมาสู่สนามโลกซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนไทยและสถาบันการศึกษาต่างๆมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นต่อไปอีกด้วย” นางวีนัส กล่าว
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศการแข่งขันหุ่นยนต์โลกในแต่ละปีเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆทีมจากประเทศต่างๆ มีการพัฒนาเทคโนโลยีสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็วและมีการนำเทคนิคต่างๆ มาปรับใช้ในการแข่งขันได้อย่างน่าชื่นชม ทีมเยาวชนไทยได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่จึงได้ตำแหน่งรองชนะเลิศหุ่นยนต์กู้ภัยโลกมาครองการที่เยาวชนไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆและนำไปต่อยอดสร้างบรรยากาศความกระหายที่จะเรียนรู้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ให้กับเยาวชนไทย
“ขอแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เชื่อว่าศักยภาพของเยาวชนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกและจะสามารถกลับมาทวงตำแหน่งแชมป์โลกคืนได้ในปีหน้าอย่างแน่นอนเรามีจุดเด่นด้านกลไกการเคลื่อนที่ แต่ต้องมุ่งพัฒนาด้านสมองกลให้มากขึ้น เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆที่มีพัฒนาการเร็วมาก” ดร.จักรกฤษณ์ กล่าว
นายสมประสงค์ จีณณเทศ หรือน้องออโต้ หัวหน้าทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทยกล่าวถึงความรู้สึกว่า “พวกเราทุกคนตั้งใจและทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่ครับ และจะนำความรู้ที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้กลับไปพัฒนาหุ่นยนต์ให้ดียิ่งๆ ขึ้นโดยจะมุ่งเน้นพัฒนาด้านสมองกลหุ่นยนต์อัตโนมัติมากขึ้นให้สอดคล้องกับแนวโน้มการแข่งขันในอนาคตขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแข่งขันครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเอสซีจี และพี่น้องชาวไทยทุกคนที่ส่งแรงใจมาเชียร์”
อาจารย์กมลทิพย์ วัฒกีกำธร อาจารย์ที่ปรึกษาทีมสเตบิไลซ์ กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจในความตั้งใจและมุ่งมั่นของเด็กๆในทีมซึ่งถึงแม้จะพลาดตำแหน่งแชมป์โลกไปในปีนี้ แต่สิ่งที่ได้จากการแข่งขันคือประสบการณ์ดีๆที่สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีในการทำหุ่นยนต์กู้ภัยต่อไป นอกจากนั้นยังรู้สึกประทับใจความมีน้ำใจของเพื่อนร่วมการแข่งขันจากประเทศเยอรมนีที่ช่วยแนะนำเรื่องการทำแผนที่ให้กับทีมนับได้ว่าการแข่งขันครั้งนี้เกิดการแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้ในการทำหุ่นยนต์ซึ่งคิดว่าน่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งของการจัดแข่งขันครั้งนี้”
World RoboCup2012 เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ซึ่งเอสซีจีร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนเยาวชนในฐานะตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัยหรือ World RoboCup Rescue ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน และได้เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉะริยะ หรือ WorldRoboCup@Home ในปี 2555 นี้ เป็นปีแรกโดยการแข่งขันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2555ที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก มีผู้สนใจจากทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันรวม2,243 คนจำนวน 381 ทีมจาก 45 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เยอรมนี อังกฤษ อิหร่าน บราซิลโปรตุเกส สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย และไทยโดยแบ่งการแข่งขันทั้งหมดออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ(RoboCup@Home) หุ่นยนต์เตะฟุตบอล (RoboCup Soccer) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior)
การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย (Thailand Rescue Robot Championship) เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่เอสซีจีริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 และได้ต่อยอดสู่การแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย (Thailand Robot@HomeChampionship) เมื่อปี 2554 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนไทยพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติที่ผ่านมา เอสซีจีได้สนับสนุนทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมแข่งขันระดับโลกมาโดยตลอดและตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาได้ถึง 6 สมัยซ้อน
ทั้งนี้ เยาวชนไทยทีมสเตบิไลซ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีกำหนดเดินทางกลับถึงเมืองไทยในวันที่27 มิถุนายนนี้ เวลา 10.30 น.