ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ 2012 ไม่เพียงเรียกเสียงฮือฮา ในทันทีที่สถานีไทยทีวีสีช่อง 3 ออกอากาศ โชว์การแสดงของ น.ส.ดวงใจ จันทร์เสือน้อย หรือปอนด์ ใช้หน้าอกเปลือยเปล่าวาดรูปเท่านั้น
หากแต่ยังเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เป็นอย่างมากถึงความไม่เหมาะสมในการแพร่ภาพออกอากาศทั้งที่ไม่ใช่รายการสด
ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองว่าเทปนี้อาจมี เบื้องหลังแอบแฝง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องศิลปะโดยตรง และดูเหมือนมีอะไรสลับซับซ้อนยิ่งกว่าภาพที่ปรากฏ เมื่อเพื่อนสนิทของปอนด์ออกมา กล่าวอ้างทุกอย่างคือการวางแผนตระเตรียมการ เพื่อแลกกับเงิน 10,000 บาท ในการสร้างสีสันให้รายการ
จริงไม่จริงเจ้าตัวยังไม่ออกมายืนยันแน่ชัด แต่ผู้ผลิตอย่าง บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์ เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตกที่นั่งลำบาก กลายเป็นจำเลยสังคมทันที โทษฐานจัดฉากเรียกเรตติ้งหวังให้รายการมีชื่อเสียงโด่งดัง
รายการ "ก็อตทาเลนต์" เป็นรายการสัญชาติอังกฤษ ของบริษัท ไซโก ทีวี ที่ ไซมอน โคเวลล์ เป็นเจ้าของ โดยเน้นเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมีโอกาสมาแสดงความสามารถและพรสวรรค์อย่างไม่จำกัดรูปแบบ
เริ่มออนแอร์ครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ใช้ชื่อ บริเทนส์ ก็อตทาเลนต์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ก่อนจะขายลิขสิทธิ์รายการไปยัง 44 ประเทศทั่วโลก
ทั้งสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, เดนมาร์ก, จีน, เกาหลีใต้, กลุ่มประเทศอาหรับ, เยอรมนี, กรีซ, อิสราเอล ฯลฯ
ส่วนไทยได้รับลิขสิทธิ์เป็นประเทศที่ 43 ซึ่ง กรุ๊ป เอ็ม (Group M) เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ แล้วมอบหมายให้เวิร์คพอยท์เป็นมือปืนรับจ้างทำหน้าที่ผลิตให้
หลักๆ แล้วรูปแบบรายการก็ไม่แตกต่างกัน
เพราะไม่ว่าจะไป "ก็อตทาเลนต์" ที่ไหน ข้อจำกัดที่ผูกพันมากับลิขสิทธิ์ก็ระบุไว้ว่ารูปรายการต้องดำเนินไปอย่างไร กรรมการต้องให้เป็นชาย 2 หญิง 1
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการกำหนดคุณลักษณะของกรรมการมาแล้วด้วยซ้ำว่าต้องเป็นคนอย่างไร
เช่น หนึ่งในคุณลักษณะของกรรมการหญิงคือ ต้องเป็นคนที่เซ็นซิทีฟ
เลยไม่ต้องแปลกใจที่พอมีเรื่องใด โชว์ไหนมากระทบจิตใจ แล้วพวกเธอจะแสดงสีหน้า ท่าทาง หรือหนักกว่านั้นคือลุกออกจากเก้าอี้กรรมการทันที
สำหรับการแสดงในรายการที่ผ่านๆ มา จากนานาประเทศจะเห็นได้ว่ามีค่อนข้างหลากหลาย
เว้นแค่ในซาอุดีอาระเบีย ที่ห้ามร้องเพลง และห้ามผู้หญิงขึ้นแสดง
ส่วนในประเทศอื่นจะแสดงอย่างไรก็ไม่มีใครว่า และน่าสังเกตว่าหลายคนที่ขึ้นโชว์บนเวทีนี้จะมีชื่อเสียงโด่งดัง
อย่าง ซูซาน บอยล์ หญิงบ้านนอกวัยกลางคน ที่ชีวิตเปลี่ยนไปทันทีเมื่อร้องเพลง "I dreamed a dream" บนเวที "บริเทนส์ ก็อตทาเลนต์" ที่ทำเอาทุกคนต้องทึ่งไปกับความสามารถ
หรืออีกคนคือ ซังบอง ชอย หรือ "ซูซาน บอยล์" แห่งโคเรีย ก็อตทาเลนต์ กรรมกรหนุ่มที่ใช้ชีวิตจรจัดตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ทว่าพลังเสียงสุดยอด
ไม่ว่าประเทศไหนๆ รายการนี้จึงมีผู้สมัครเข้าแข่งขันอย่างล้นหลาม
อย่างไรก็ตาม หากโชว์ "ไม่เด็ด" หรือเด็ดแต่ซ้ำ คนทำรายการคงเกรงว่าผู้ชมจะเบื่อ แต่ละประเทศจึงได้คัดโชว์แปลกแหวกแนวมาให้ดูเป็นว่าเล่น
ซึ่งหนึ่งในบรรดาโชว์ฮอตฮิตที่มีไปทั่ว เห็นจะเป็นการแก้ผ้าโชว์ อย่างที่กรีซ ชายสองลงทุนเปลื้องผ้ามีเพียงแผ่นซีดีปิดของสงวน แล้วเต้นประกอบเพลง
ขณะที่อีกสองชายโชว์ไอเดียเก๋เล่นเปียโนโดยใช้เจ้าโลก แต่โชคดีที่มีเปียโนหลังใหญ่บังท่อนล่างอันเปลือยเปล่าไว้ ภาพที่ควรจะอุจาด เลยกลายเป็นแค่ภาพชวนขำในความทะเล้นทะลึ่งแทน
ต่างจากโชว์เต้นเพลง บริตนีย์ สเปียร์ส ของสาวใจถึงในอังกฤษ ที่สวมเพียงกางเกงใน จีสตริง และประดับเพชรเป็นจุดเล็กๆ ทั่วตัว สร้างความตกใจให้แก่กรรมการทั้งสามคน จนต้องให้ตกรอบไปอย่างเป็นเอกฉันท์
หรืออย่างของเมืองไทยเอง ปีที่ผ่านมาก็มีชายหนุ่มโชว์เต้นประกอบเพลง ถอด ของ โดม-ปกรณ์ ลัม โดยใช้วิธีเต้นไป ถอดไป จนสุดท้ายเหลือเพียงกางเกงในจีสตริง ทำเอากรรมการรีบสั่งให้หยุดการแสดงแทบไม่ทัน
โชว์พิสดารเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่ผ่านเข้ารอบ หรือถ้าผ่านรอบแรกไปได้ มักไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์
เพราะชื่อก็บอกแล้วว่า "ก็อตทาเลนต์" สุดท้ายคนที่มีความสามารถและพรสวรรค์จริงๆ จึงมักคว้าตำแหน่งไป
การเปลื้องผ้าโชว์จึงมีหน้าที่เพียงเพื่อสร้างสีสัน เรียกเรตติ้ง และทำให้รายการเป็นที่พูดถึงเท่านั้น
ส่วนคนที่มาโชว์ จะสมัครมาด้วยความเต็มใจ เพราะหวังให้ตัวเองเป็นที่รู้จักเพียงชั่วข้ามคืน หรือว่าจ้างจากคนทำรายการเพื่อหวังผลนั่นก็แล้วแต่กรณีไป
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังโชว์นั้นหากประเทศไหนรับได้ก็รับไปส่วนชาติใดต่อต้านถ้ามองในทางการตลาดก็ยังไม่เห็นเป็นปัญหา เพราะอย่างน้อยเมื่อมีคนด่า ก็แปลว่ารายการจะถูกพูดถึง ให้คนที่ไม่รู้จัก ได้รู้จัก คนที่ไม่เคยดูก็ต้องขวนขวายหามาดูว่าเขาด่าอะไรกัน
ดังได้อีก
แต่แม้จะคำนึงถึงการตลาดขนาดไหน กรณี "ใช้นมวาดรูป" ของไทยที่ออกอากาศในช่วงเวลาสำหรับครอบครัว ก็สะท้อนให้เห็นการคำนึงถึงแต่เรตติ้งจน "เกินงาม"