ย้อนอดีต สนามบินอู่ตะเภา กับประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำ

 จู่ ๆ ก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ติดต่อขอเช่าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาของประเทศไทย เพื่อเป็นฐานในการตรวจสอบสภาพอากาศ และเตรียมจะใช้สนามบินแห่งนี้เป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ (HDRC: Humanitarian and Disaster Relief Centre) ซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ
 
          ข่าวดังกล่าวได้สร้างความวิตกให้หลายฝ่าย เนื่องจากเกรงว่า หากยินยอมให้นาซาใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งอาจมีการดำเนินการเกี่ยวกับการทหารของสหรัฐอเมริกาแฝงอยู่ ก็อาจจะทำให้มหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียอย่าง จีน และรัสเซีย ไม่พอใจ และแน่นอนว่า หากเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้
 
          อย่าง ไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องกับสนามบินเก่าแก่ของ ไทยแห่งนี้ เพราะเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว สหรัฐอเมริกาเคยใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติทางทหารในการทำสงครามอินโด จีน และสนามบินแห่งนี้ก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่คนไทยควรจะรู้ไว้

 

 

ย้อน ไปเมื่อปี พ.ศ. 2504 กองทัพเรือไทยมีโครงการจะสร้างสนามบินทหารเรือ จึงได้เลือกพื้นที่บริเวณหมู่บ้านอู่ตะเภา ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 190 กิโลเมตร เป็นจุดสร้างสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งสนามบินแห่งนี้มีทางวิ่งลาดยางความยาว 1,200 เมตร บนพื้นที่ 20,000 ไร่ 
 
          หลัง จากก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาเสร็จ ก็เป็นช่วงเวลาที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ และลาว กำลังขยายอิทธิพล รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้เข้ามาประเทศไทย และเห็นว่าควรขยายสนามบินขนาดใหญ่ในประเทศไทยเพิ่มเติม ในปี พ.ศ.2508 จึงได้ร่วมมือกับไทยปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเป็นหน่วยในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ภายในประเทศ และเมื่อทำการปรับปรุงสนามบินเสร็จ จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้น ได้เรียกชื่อสนามบินแห่งนี้ว่า "สนามบินอู่ตะเภา" และมอบหมายให้อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือไทย
 
          ในช่วงเวลานั้น ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้สนามบินแห่งนี้เป็นฐานปฏิบัติการทางทหารหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งเมื่อครั้งเกิดสงครามอินโดจีน ในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ย้ายฐานบินทิ้งระเบิด บี 52 จากเกาะกวมมาไว้ที่อู่ตะเภาทั้งหมด และใช้สนามบินแห่งนี้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งกำลังถูกคุกคามด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง 
 
          สหรัฐ อเมริกา ได้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารมาเกือบสิบปี จนรู้จักยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี กระทั่ง ในปี พ.ศ. 2517 กลุ่มนิสิตนักศึกษาประชาชนทนไม่ไหวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้ประเทศไทย เป็นฐานปฏิบัติการทางสงคราม และยังเป็นแหล่งเก็บอาวุธ จึงพากันออกมาชุมนุมขับไล่ทหารอเมริกันในทุกฐานทัพ รวมทั้งที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้ออกไปจากประเทศไทย
 
          ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทหารอเมริกันซึ่งร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาลเวียดนามใต้ ทำสงครามพ่ายแพ้ต่อกองทัพกู้ชาติของโฮจิมินห์ ทำให้ในปีถัดมา ทหารอเมริกันจึงเริ่มถอนกำลังบางส่วนออกไปจากประเทศไทย ในช่วงนั้น ประเทศเพื่อนบ้านมองประเทศไทยอย่างหวาดระแวงมาโดยตลอด

 

 

 
 
จน กระทั่งสหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารออกไปจนหมดในปี พ.ศ. 2519 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ และเป็นสนามบินสำรองของท่าอากาศยานดอนเมือง ภายหลัง กรมการบินพาณิชย์ได้ปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีแนวคิดให้พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานสากล โดยเรียกชื่อใหม่ว่า "สนามบินนานาชาติระยอง-อู่ตะเภา" พร้อมกับพัฒนาให้เป็นสนามบินพาณิชย์ร่วมกับกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ขณะที่สายการบินไทยเอง ก็ได้มาตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานลำตัวกว้างแห่งที่สองขึ้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อรองรับการซ่อมแซมเครื่องบิน ตระกูล Boeing 737,747 และ 777 และเครื่องบินตระกูล Airbus A300 A330 A340 ที่มีขนาดใหญ่
 
          ทั้งนี้ เนื่องจากสนามบินแห่งนี้ อยู่ใกล้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงไม่ค่อยมีเที่ยวบินประจำมากนัก มีเพียงสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ที่มีเที่ยวบินไป-กลับจังหวัดภูเก็ต และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันละ 1 เที่ยวเท่านั้น ขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศ ก็เป็นเครื่องบินเช่าเหมาลำที่ส่วนใหญ่จะเดินทางมาจากประเทศรัสเซีย ยุโรปตะวันออก และจีนมากกว่า สนามบินอู่ตะเภาจึงดูไม่ค่อยมีบทบาทเชิงพาณิชย์เท่าใดนัก

 



อย่าง ไรก็ตาม สนามบินอู่ตะเภา ก็ได้ใช้งานในเชิงพาณิชย์แบบเต็มตัวอีกครั้ง ในช่วงวันที่ 28 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม พ.ศ.2551 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย ได้เข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เครื่องบินไม่สามารถลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ ต้องมาลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภาแทน แต่ก็เกิดปัญหามากมาย เพราะอาคารผู้โดยสารมีขนาดเล็กเกินไป อีกทั้งอุปกรณ์ภาคพื้นมีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความแออัดขึ้น
 
          ปัจจุบัน สนามบินอู่ตะเภา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาพัทยา (U-Tapao Pattaya International Airport) ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นท่าอากาศยาน ที่ใช้งานในภารกิจเที่ยวบินทางทหาร และเที่ยวบินขนส่งเพื่อมนุษยธรรมในเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นที่ตั้งของกองการบินทหารเรือ, กองเรือยุทธการ และกองการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือไทย และขณะนี้ กำลังมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารให้มีรูปแบบใกล้เคียงกับท่าอากาศยาน พิษณุโลก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะเดินทางไปยังจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยไม่ต้องไปลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2555 นี้

21 มิ.ย. 55 เวลา 13:01 3,236 2 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...