ธนบุรีก็มีรถรางไฟฟ้า
สมใจ นิ่มเล็ก
รถไฟสายแม่กลองเป็นรถไฟสายสั้นๆ
ทางรถไฟระยะแรกเริ่มจากจังหวัดธนบุรีถึงมหาชัย สาครบุรี หรือสมุทรสาครที่สถานีมหาชัย ถ้าจะเดินทางต่อไปแม่กลองหรือสมุทรสงคราม ก็ต้องลงเรือข้ามปากแม่น้ำท่าจีนไปยังฝั่งท่าฉลอม เพื่อต่อรถไฟไปจนสุดสถานีแม่กลอง
เล่ากันว่า รถไฟสายแม่กลองนี้เป็นสายยุทธศาสตร์ เพราะปลายทางช่วงแรกอยู่ปากอ่าวไทย เหมาะแก่การขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ และเมื่อยกเลิกเดินรถไฟจากต้นสถานี คือสถานีคลองสานริมแม่น้ำเจ้าพระยาถึงบริเวณวงเวียนใหญ่ริมถนนฝั่งซ้ายของ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น ก็มิได้รื้อรางออก หากแต่ทำถนนรถยนต์ชื่อเจริญรัฐคร่อมทับลงไปบนรางรถไฟ คงมีเหตุผลว่าอาจจะกลับมาใช้อีกในกรณีจำเป็น
ปัจจุบัน รถไฟสายแม่กลองจึงเริ่มต้นที่สถานีวงเวียนใหญ่ ริมถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินฝั่งขวาเท่านั้น
รถรางไฟฟ้า
ในสมัยก่อน ฝั่งพระนคร หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบันมีรถรางที่ใช้กระแสไฟฟ้าขับเคลื่อนให้ตู้รถวิ่งบนรางเหล็กที่ฝังในผิวถนน
รางเหล็กจะเป็นร่องเพื่อบังคับล้อให้วิ่งไปตรงๆ และมีขอบรางหนาสำหรับรองรับขอบล้อ สมเหตุสมผลกับความหมายว่าราง (ส่วนรางไฟฟ้าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ควรเรียกว่าราง เพราะมิได้เป็นร่องหรือรางเลย แต่ก็ใช้เรียกไปโดยปริยาย)
จำได้ว่ารถรางฝั่งพระนครมีหลายสาย เช่นสายที่วิ่งไปตามถนนสามเสนถึงบางกระบือ แต่ที่ผู้เขียนขึ้นเป็นประจำตอนเด็กๆ คือสายที่เริ่มต้นจากศาลหลักเมือง ผ่านโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (เพราะช่วงนั้นคุณพ่อของผู้เขียนไปรักษาตาที่นั่นอยู่นาน) ขบวนหนึ่งมีตู้รถสองตู้ จำไม่ได้ว่าตู้หน้าหรือตู้หลังจะแบ่งที่นั่งโดยวางเบาะสีขาว เก็บค่าโดยสารแพงกว่าตู้ซึ่งที่นั่งเป็นพื้นไม้
รถรางฝั่งพระนครตอนนี้ไม่มีแล้ว เลิกวิ่งไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ ส่วนรถรางฝั่งธนบุรียังวิ่งบริการประชาชนอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่เปลี่ยนเป็นหัวรถดีเซลลากแทนตู้รถรางไฟฟ้า