จากกรณีข่าวสุด ช็อกของหญิงเกาหลีใต้วัย 63 ปี ที่พบว่ามีลูกหมึก 12 ตัวฝังอยู่ในปาก หลังจากที่เธอได้รับประทานเมนูหมึกเข้าไปนั้น ปรากฎว่าล่าสุด ประเด็นดังกล่าวได้สร้างความสงสัยให้กับชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยว่า เหตุใดสเปิร์มของหมึกจึงสามารถฝังตัวอยู่ในปากของหญิงคนดังกล่าวได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีไข่อยู่ในปากคน และเหตุใดสเปิร์มดังกล่าวจึงสามารถฟักเป็นตัวในปากของคนได้เช่นกัน
เกี่ยวกับประเด็นนี้ เอกสารทางวิทยาศาสตร์ของศูนย์ข้อมูลชีววิทยาแห่งชาติ ในรัฐแมรีแลนด์ของสหรัฐฯ ได้อธิบายไว้ว่า สิ่ง ที่ฝังอยู่ในกระพุ้งแก้ม ลิ้น และเหงือกของหญิงชาวเกาหลีใต้รายนี้ จริง ๆ แล้วไม่ใช่ลูกหมึกแต่อย่างใด แต่เป็นอสุจิของหมึกตัวผู้ ที่ถูกฉีดเข้าไปในช่องเพศของหมึกตัวเมีย ซึ่งอสุจิที่ถูกฉีดเข้าไปในหมึกตัวเมียนี้ จะมีลักษณะคล้ายกับปรสิตที่มีถุงเมือกห่อหุ้มเอาไว้เป็นจำนวนมากมาย ดังนั้นเมื่อหญิงรายนี้กัดเอาหมึกตัวเมียเข้าไป ถุงน้ำเชื้อที่บรรจุสเปิร์มลักษณะคล้ายกับปรสิตก็ไปแตกในปากของเธอ ทำให้ตัวอสุจิรูปร่างคล้ายแมลงสีขาวขนาดเล็กจิ๋วนี้เข้าไปเกาะอยู่ตาม กระพุ้งแก้ม ลิ้น และเหงือก อย่างแน่นหนา
ส่วนที่มีการตั้งประเด็นว่าเธอไม่ได้รักษาความสะอาดในช่องปากจนทำให้มันเข้าไปฝังตัวได้นั้น รายงานระบุว่า หลัง จากที่หญิงรายนี้เคี้ยวหมึกซึ่งปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบเข้าไป เธอก็คายมันออกมาทันที เพราะรู้สึกว่ามันมีสิ่งแปลกปลอมบางอย่างเคลื่อนไหว และรู้สึกเหมือนมีอะไรเล็ก ๆ แทงอยู่ภายในช่องปาก ทำให้รู้สึกเจ็บปวดไม่น้อย จึงไปพบแพทย์ทันที ไม่ได้รอให้มันฟักตัวนานอย่างที่เข้าใจกันแต่อย่างใด และแพทย์ก็ได้พบว่า สิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กที่ติดอยู่ในปากของเธอนั้น คือ ถุงน้ำเชื้อของหมึกนั่นเอง ส่วนมันเข้าไปฝังตัวในผิวได้อย่างไรนั้น แพทย์ยังคงหาคำตอบไม่ได้
นอกจากนี้ แพทย์ยังเปิดเผยว่า แม้ว่าหมึกที่หญิงรายนี้ทานเข้าไป จะเป็นหมึกที่ผ่านการปรุง (เกือบ) สุกมาแล้ว แต่การที่มันไม่ได้หั่นเป็นชิ้นก่อนปรุงสุก อาจทำให้ข้างในมันยังดิบอยู่ และถุงน้ำเชื้อของหมึกตัวผู้ก็ยังคงมีชีวิตอยู่ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ หมึกตัวผู้จะผสมพันธุ์กับหมึกตัวเมียโดยการใช้อวัยวะเพศซึ่งมีลักษณะยาว คล้ายกับหนวดของมัน สอดถุงน้ำเชื้อเข้าไปในช่องเพศของหมึกตัวเมีย เมื่อไข่ของหมึกได้รับการผสมน้ำเชื้อจากหมึกตัวผู้แล้ว ตัวเมียจะวางไข่ติดตามพื้นทะเล หรือตามสาหร่าย ลูกหมึกในวัยอ่อนที่เริ่มเปลี่ยนสภาพจากไข่กลายเป็นตัวจะมีลักษณะคล้าย แพลงก์ตอน ล่องลอยไปตามกระแสคลื่นระยะต่อมาจึงค่อย ๆ จมตัวลงสู่น้ำทะเลในระดับลึก