ถุงลมนิรภัยสำหรับคนเดินถนน (Pedestrian Airbag) เปิดตัวสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกในรถยนต์รุ่น V40 ในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์พบว่าในประเทศจีน คนเดินถนนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์คิดเป็น 25% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งหมด ส่วนในยุโรปมี 14% และในสหรัฐอเมริกา 12% นอกจากนี้ จำนวนคนที่บาดเจ็บมีอีกมากมาย
การบาดเจ็บขั้นรุนแรงที่ศีรษะของคนเดินถนนส่วนใหญ่ เป็นเพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ตัวผู้ถูกชนมักกระเด็นขึ้นไปบนฝากระโปรงรถและศีรษะไปกระแทกกับกระจกหน้ารถ คานโครงสร้างด้านหน้าหรือเสา A-Pillar และส่วนที่เป็นโลหะแข็งใต้ฝากระโปรงรถ
จากสถิติดังกล่าว วอลโวจึงได้พยายามพัฒนารถยนต์ที่มีถุงลมนิรภัยสำหรับคนเดินถนน ที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยปกป้องคนเดินถนนเมื่อเกิดการชนที่ด้านหน้ารถ และการกระแทกบริเวณที่ปัดน้ำฝนและเสา A-Pillar ซึ่งเป็นบริเวณที่มักทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง หลักการทำงานของถุงลมนิรภัยอัจฉริยะนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การทำงานของฝากระโปรงและถุงลมนิรภัย คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ฝากระโปรงหน้ารถจะยกตัวขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ถูกชนกระแทกเข้ากับส่วนที่โลหะแข็งเช่น เครื่องยนต์ที่อยู่ใต้ฝากระโปรงรถ ขณะเดียวกันก็จะมีถุงลมนิรภัยจากใต้ฝากระโปรงที่ขอบล่างของกระจกกันลมหน้าพองตัวออกมาบรรเทาแรงกระแทกให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุ
การทำงานของถุงลมนิรภัยนี้ ต้องอาศัยเซ็นเซอร์ 7 ตัว ซึ่งติดอยู่บริเวณกันชน ทำหน้าที่ตรวจจับคนเดินถนน หรือวัตถุ เมื่อรถชน วัตถุก็จะส่งสัญญาณไปยังหน่วยควบคุม และหากหน่วยควบคุมอ่านได้ว่าวัตถุที่ชนนั้นเป็นขาคน ก็จะสั่งการให้ฝากระโปรงหน้ารถดันตัวขึ้น 10 เซนติเมตร เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างเครื่องยนต์และฝากระโปรง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ตัวของผู้ประสบอุบัติเหตุจะกระแทกกับเครื่องยนต์ซึ่งมีความแข็งมาก โดยในกระบวนการทำงาน วอลโวได้ติดตั้งระบบพิเศษที่จะดึงสลักและปลดล็อกด้านหลังของแผ่นฝากระโปรงหน้า ตรงจุดที่ติดกับกระจกหน้ารถ เพื่อให้ฝากระโปรงยกตัวสูงขึ้นเมื่อถุงลมนิรภัยทำงาน
ขณะเดียวกัน หน่วยควบคุมจะสั่งการให้ถุงลมนิรภัยพองตัวออกด้วยความเร็วสูง ใช้เวลาเพียงเศษเสี้ยวของวินาที โดยถุงลมที่พองตัวเต็มที่แล้วจะคลุมบริเวณที่ปัดน้ำฝนทั้งหมด พื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของกระจกหน้า และด้านล่างของเสา A-Pillar ถุงลมนิรภัยสำหรับคนเดินถนนดังกล่าวจึงทำหน้าที่ 2 ประการ คือ ยกฝากระโปรงหน้า และคลุมส่วนที่แข็งของรถไว้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงของผู้ประสบอุบัติเหตุ นอกจากนี้ เมื่อฝากระโปรงหน้ารถยกตัวขึ้น จะเกิดพื้นที่ว่างข้างใต้ เมื่อเกิดแรงกระแทก ฝากระโปรงจะยุบตัวลง ซึ่งจะผ่อนแรงกระแทกจากตัวผู้ประสบอุบัติเหตุได้มาก ถุงลมนิรภัยสำหรับคนเดินถนนจะทำงานเมื่อรถยนต์วิ่งด้วยความเร็วระหว่าง 20-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ อุบัติเหตุที่เกิดกับคนเดินถนนมักเกิดขึ้นเมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในถุงลมนิรภัยจะประกอบด้วยเครื่องอัดแก๊สและถุงลม เมื่อระบบทำงาน เครื่องอัดแก๊สจะอัดแก๊สเข้าไปในถุงลมจนเต็มภายในเวลาเสี้ยววินาทีเท่านั้น นวัตกรรมใหม่นี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหม่ที่ต่อเนื่องมาจากระบบตรวจจับคนเดินถนนพร้อมระบบเบรกแบบเต็มแรงเบรก (Pedestrian Detection with Full Auto Brake) ซึ่ง เป็นนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยครั้งแรกของโลกที่ช่วยให้หยุดรถได้โดย อัตโนมัติเมื่อมีคนเดินถนนกำลังเดินเข้ามาในทิศทางเดียวกันกับรถ และติดตั้งเป็นครั้งแรกใน S60.