มือชา ปัญหาที่พบได้บ่อย

มือชาเท้าชา เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่มักเกิดกับคนในวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้องนั่งทำงานประจำออฟฟิศ ทำงานนั่งโต๊ะใช้คอมพิวเตอร์นานๆ นพ.กวี ภัทราดูลย์ ศัลยแพทย์ทางมือและจุลศัลยกรรม โรงพยาบาลเวชธานี ให้ข้อมูลว่า “คนที่ต้องนั่งทำงานอยู่ท่าเดิมนานๆ ก็อาจมีโอกาสเกิดอาการมือเท้าชาได้มากกว่าปกติบ้าง จากการที่เส้นประสาทโดนกดทับ ที่พบบ่อยคือบริเวณข้อมือ จากการที่ข้อมืออยู่ในท่าแอ่น หรืองอนานๆ เช่น การใช้เม้าส์ หรือพิมพ์งาน เป็นต้น

อาการมือเท้าชาในคนทำงานเกิดจากการที่เส้นประสาทที่พาดผ่านบริเวณข้อมือถูกกดทับ ซึ่งเส้นประสาทนี้จะผ่านจากแขนไปยังข้อมือเพื่อไปรับความรู้สึกที่บริเวณมือ โดยทอดผ่านบริเวณข้อมือและลอดผ่านเอ็นที่ยึดบริเวณข้อมือ อาจมีสาเหตุบางประการที่ทำให้เส้นประสาทนี้ถูกกดทับได้ จึงทำให้มือชา ร่วมกับมีอาการปวดชาร้าวไปยังท่อนแขนหรือต้นแขนได้ และบางคนพบว่ามือข้างที่เป็นอ่อนแรงหยิบจับสิ่งของไม่ถนัด ถ้าทิ้งไว้จะพบว่ากล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มืออาจจะแฟบลง เมื่อเทียบกับมืออีกข้างหนึ่ง พบในเพศหญิงมากกว่าชาย ระหว่างวัย 30-60 ปี

-การกระแทกที่บริเวณข้อมืออยู่เป็นประจำ เช่น ใช้เครื่องตัดหญ้า เครื่องเจาะสกรู กำไม้เทนนิส ไม้กอล์ฟ 
-กระดูกข้อมือหัก หรือการหลุดเคลื่อนของข้อ 
-โรคไขข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ เกาต์ 
-คนที่เป็นเบาหวาน กลุ่มไทรอยด์บกพร่อง
-ภาวะบวมน้ำจากโรคไต และตับ 
-ภาวะตั้งครรภ์
-คนที่มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนจากการหมดประจำเดือน

เดิมเชื่อว่าความอ้วนน่าจะเป็นเหตุปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานยืนยันชัดเจน จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีความสัมพันธ์กัน

อาการมือเท้าช้าที่อาจสังเกตได้ถึงความผิดปกติอย่างชัดเจนซึ่งควรมาพบแพทย์ คือ อาการเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการชานิ้วมือ ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วกลางและนิ้วนาง รวมทั้งนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือชาได้ เริ่มแรกอาการมักจะชาตอนกลางคืน สะบัดข้อมืออาการจะดีขึ้น หรือชาตอนทำงาน ต่อมาอาการชาจะเป็นมากขึ้นและบ่อยขึ้น จนกระทั่งชาเกือบตลอดเวลา มักจะมีอาการปวดตื้อๆ ร่วมด้วยที่มือและแขน ร่วมกับอาการชา นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีแรง มีของหลุดจากมือโดยไม่ได้ตั้งใจ ถ้าเป็นนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการอุ้งมือด้านข้างลีบได้


 

การรักษาอาการมือชาที่มาจากการกดทับเส้นประสาท มีทั้งวิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด การรักษาเบื้องต้นโดยการไม่ผ่าตัด ลดความดันในโพรงข้อมือ ได้แก่

การดามข้อมือ พบว่าถ้าให้ข้อมืออยู่นิ่งๆ ตรงๆ จะมีความดันในโพรงข้อมือต่ำสุด ซึ่งจะทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงเส้นประสาทดีขึ้น ถ้าเป็นระยะแรก (พังผืดยังไม่หนามากนัก จะได้ผลค่อนข้างดี)

ปรับการใช้ข้อมือในการทำงานและชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง พบว่าการทำงานที่ต้องใช้ข้อมือกระดกขึ้น หรืองอข้อมือซ้ำๆ กันนานๆ รวมทั้งงานที่มีการสั่นกระแทก จะทำให้ความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้นได้ การปรับอุปกรณ์การทำงานให้ถูกตามหลักอาชีวศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

การให้ยาต้านโรครูมาตอยด์จะช่วยลดความดันบริเวณข้อมือได้ ในรายที่เป็นโรคนี้แบบทุติยภูมิ เช่น จากภาวะรูมาตอยด์ และมีเยื่อหุ้มเอ็นหนาตัวขึ้น

ถ้าอาการเป็นมากขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในบริเวณที่เส้นประสาททอดผ่าน ซึ่งยานี้จะแพร่กระจายไปยังบริเวณเยื่อบุผิวข้อ และเส้นเอ็นที่มีการอักเสบ และบวม ทำให้อาการบวมยุบลง การกดเส้นประสาทจะน้อยลง ปริมาณของยาที่ใช้ฉีดไม่มากนักและไม่มีอันตรายที่รุนแรง การรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้จะได้ผลดีในกรณีที่เส้นประสาทไม่ถูกกดทับมากนัก ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยตัดเอาส่วนของพังผืด เส้นเอ็นในส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก หลังผ่าตัดอาการก็จะดีขึ้น อาการปวดลดลง อาการชาลดลง แต่อาจไม่ถึงกับหายสนิท ยังจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ยารับประทานที่มักนิยมใช้คือ ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์และยาบำรุงเส้นประสาท

อาการมือชา ถ้าไม่รับการรักษาและปล่อยทิ้งไว้นานๆ จนส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงได้นั้น คือ การที่กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งนิ้วหัวแม่มือลีบไป และทำให้กำลังมือลดลง

-หลีกเลี่ยงการใช้งานมือในลักษณะเกร็งนานๆ 
-ควบคุมหรือรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวานให้ดี 
-การใช้ยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดรับประทานมักจะได้ผลดี โดยอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ 
-บางรายอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยดามข้อมือชั่วคราว

 

โรงพยาบาลเวชธานี 

8 มิ.ย. 55 เวลา 16:31 1,208 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...