ปืนลมอัดอากาศ (Pneumatic Gun)

ปืนลมอัดอากาศ (Pneumatic Gun) ปืนอัดอากาศแตกต่างจากปืนสปริงโดยพื้นฐานพลังงานที่ใช้ขับดันกระสุน ในปืนสปริงนั้นการอัด อากาศนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เราเหนี่ยวไกยิง ทำให้สปริงดันลูกสูบเพื่ออัดอากาศในกระบอกสูบ แต่ในปืนอัดอากาศนั้นขั้นตอนนี้เกิดขึ้นก่อนล่วงหน้า โดยทำการอัดอากาศให้มีแรงดันสูงแล้วเก็บไว้ในถังเก็บ เมื่อเหนี่ยวไกยิงนั้นก็เพียงแต่ไปเปิดวาล์วให้อากาศแรงดันสูงออกมาดันกระสุนไปข้างหน้า และด้วยการทำงานในลักษณะนี้เองที่ทำให้ปืนอัดอากาศมีข้อเหนือปืนสปริงในด้านที่มันไม่มีแรงสั่นสะเทือนมากนักในขณะที่เหนี่ยวไกจากวิถีการอัดอากาศให้มีแรงดันเราก็ยังสามารถแบ่งปืนอัดอากาศได้อีกสามชนิดครับ

1. ปืนอัดอากาศชนิดปั๊มหลายครั้ง (Multi Pump)

ปืนอัดอากาศชนิดนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายมากที่ สุดในหมู่นักเลงปืนลมรุ่นเยาว์ ปืนชนิดนี้เราจะสามารถใช้คันง้างอัดอากาศเข้าถังเก็บได้ตั้งแต่สองถึงสิบครั้งแล้วแต่ว่าต้องการความแรงระดับไหน ส่วนใหญ่จะน้ำหนักเบาขนาดกระทัดรัด มีผู้ผลิตปืนลมหลายบริษัทต่างผลิตปืนแบบ Multi Pump นี้ออกมากโกยเงินพวกเราอยู่เสมอ เช่น เบจามิน, ครอสแมน, เดซี่ และ ที่รู้จักกันดีที่สุดในบ้านเราน่าจะเป็นเชอริแดน

ภาพที่ 1 ปืนเชอริแดนModel 397 แบบปั๊มที่ปั๊มได้ตั้งแต่สองถึงสิบครั้ง ขวัญใจของผมในวัยสิบขวบ

ภาพที่ 2 เดซี่ Model 880 Multi-pump ปืนลมชั้นดีราคาถูกสำหรับเด็กๆ
ผมเองก็อาศัยยิงเจ้าเชอริแดน Pump Up ของเพื่อนมาตั้งแต่เด็ก จำได้ว่ามันยิงนิ่มกว่าปืนสปริงกระบอกเก่าแก่ที่ผมได้รับมรดกตกทอดมาจากพี่ชายเป็นอย่างมาก ยิงกระป๋องเล่นปั๊มสักสองครั้งก็ไม่เกินแรงเด็ก ขนาดของมันก็กระทัดรัดเหมาะกับเด็กสิบขวบดีเสียด้วย เมื่อไม่นานมานี้ก็มีเพื่อนรุ่นพี่อีกคนหนึ่งเอาปืนรุ่นนี้ที่คุณพ่อเขาซื้อไว้เมื่อกว่าสี่สิบปีก่อนมาให้ดูโดยที่ปืนยังอยู่ในสภาพเหมือนใหม่และยังยิงได้ดีเสียด้วย

ปืน Multi Pump นี้ไม่ค่อยจะแม่นนักเพราะความเร็วกระสุนไม่ค่อยคงที่ ส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นปืน ราคาถูกที่ทำออกมาให้เด็กยิงเล่นเสียมากกว่า

2. ปืนลมอัดอากาศชนิดปั๊มครั้งเดียว (Single Pump)

 ปืนลมชนิดนี้ไม่เน้นความแรงแต่จะให้ความเร็วกระสุนที่ค่อนข้างคงที่จึงทำให้ มีความแม่นยำเหนือกว่าพรรคพวกที่เป็นแบบ Multi Pump อยู่หลายขุมนอกจากปืนระดับยิงเล่นราคาถูกที่ทำกันออกมามากมายแล้ว ปืนแข่งขันมากมายหลายรุ่นหลายยี่ห้อก็ใช้กลไกแบบนี้เช่นกัน Walther นับเป็นบริษัทแรกที่ทำปืนลมแข่งขันแบบSingle Pump ออกมาตั้งแต่ปี 1960 รุ่นแรกชื่อว่า LP2 (LPย่อมาจาก Luftpistole แปลจากเยอรมันเป็นไทยว่าปืนลมสั้น) เจ้าLP2 นี่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักเพราะปัญหาด้านความทนทานของมัน จนกระทั่งปี 1974 Walther จึงได้ประสพความสำเร็จกับปืนยาว Single Pump รุ่น LGR (Luft Gewehr Ruch Tossfrei แปลว่าปืนลมยาวไร้เทียมทาน เอ๊ย ไร้แรงรีคอลย์) LGR ชนะการแข่งขันรายการใหญ่เล็กไปมากมาย จนกระทั่งปี 1980 Feinwerkbau จึงได้ทำปืนลมอัดอากาศชนิดนี้ออกมาแข่ง 
 

ภาพที่ 3 Feinwerkbau C603 ปืนยาว Single Pump ระดับโลกที่ให้ความแน่นอนนัดต่อนัดสูงสุด

ภาพที่ 4 Daisy แบบ Single Pump รุ่น753 ที่ราคาไม่แพงแต่ให้ความแม่นยำสูง น่าจะใช้เป็นปืนฝึกหัดในขั้นแรกเป็นอย่างยิ่ง

ภาพที่ 5 เดซี่ 747 ปืนสั้น Single pumpที่ราคาถูกให้ความแม่นยำดีเหมาะเป็นปืกระบอกแรกของนักยิงปืนระยะสิบเมตร

ภาพที่ 6 IZH 46 ปืนสั้น Single Pump ที่ให้ความแม่นยำไม่แพ้ปืนแพงกว่า เคยเข้ามา
ขายในบ้านเราที่ราคาสองหมื่นกลางๆ นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากตัวหนึ่ง

ภาพ 7 Feinwerkbau M103 ปืนสั้นแข่งขันSinglepump สำหรับนักยิงปืนที่ไม่ต้องการ
พึ่งถังอากาศ

ทุกวันนี้ปืนยาวอัดอากาศแบบ Single Stroke ยังคงครองสนามแข่งขันปืนยาวระยะ 10 เมตรอยู่โดยเริ่มมีปืนอากาศอัด (กำลังจะกล่าวถึงต่อไป) เข้ามาบ้าง ในขณะที่นักปืนลมสั้นหันไปเล่นปืน CO2 หรือ ปืนอากาศอัดกันหมดด้วยสาเหตุหลักที่ว่าปืนแบบ Single Pump ต้องออกแรงง้างค่อนข้างมากทำให้มีผลเสียกับนักยิงปืนสั้นที่ต้องใช้แขนข้างเดียวยกปืนยิงติดต่อกันถึง 60นัด

ข้อจำกัดของปืนชนิดนี้ก็คงจะอยู่ที่ความแรงที่ไม่สะใจนักเลงปืนนอกสนามทั้งหลาย จึงทำให้มันจำกัดอยู่ในแวดวงปืนแข่งขันกับปืนเยาวชนซะเป็นส่วนใหญ่

3. ปืนอากาศอัด (PCP: Pre-Charged Pneumatic)

ขอเรียกปืนชนิดนี้ว่าปืนอากาศอัด เดียวอธิบายการทำงานของมันแล้วก็คงจะเห็นด้วยกับชื่อนี้ ปืนชนิดนี้ไม่มีกลไกเพื่ออัดหรือเพิ่มแรงดันอากาศอยู่ในตัวปืนแต่จะมีถังสำหรับเก็บอากาศแรงดันสูงติดอยู่กับตัวปืนทำให้สามารถใช้อากาศนั้นมาขับกระสุนได้หลายๆนัดด้วยความที่ปืนPCP พึ่งจะได้รับความนิยมมาไม่นานทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าปืนชนิดนี้พึ่งจะเกิดขึ้น แต่ที่แท้จริงแล้วปืนชนิดนี้มีมาตั้งแต่เมื่อ เกือบสี่ร้อยปีที่แล้ว! และมันไม่ใช่เป็นเพียงของเล่น มีหลักฐานยืนยันได้ว่าทหารแม่นปืนชาวออสเตรียใช้ปืนชนิดนี้ซุ่มยิงทหารในกองทัพนโปเลียนที่เข้ามารุกราน

ภาพที่ 8 ปืนอากาศอัดยุคโบราณที่มีรูปร่างคล้ายปืนคาบศิลา กรุณาสังเกตถังอากาศกลมๆที่ติดอยู่กับตัวปืน

แต่ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาปืนชนิดนี้ก็เสื่อมความนิยมไปด้วยสาเหตุที่การสูบเติมลมแตละครั้งต้องออกแรงกันมากมายจนคนยิงหมดแรงหมดอารมณ์ไปเสียก่อน แต่ในยุคปัจจุบันความลำบากยุ่งยากนี้ก็ถูกกำจัดไปด้วยการเติมลมจากถังดำน้ำแทน ซึ่งก็ทำให้นักเลงปืนลมผู้รักสบายหันกลับมาเล่นปืนชนิดนี้กันเป็นแถว

หลายคนบอกว่าปืนลมชนิดนี้แหละเป็นที่สุดของที่สุดเพราะดูเหมือนจะรวมข้อดีของปืนลมชนิดอื่นไว้จนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความแรง (ที่ปืน Single Pump ไม่มี), ความแม่นยำ (ที่ปืน Multi-pump ขาดไป), ไม่มีแรงรีคอลย์ (อันนี้เป็นธรรมชาติของปืนลมสปริง) และให้ความเร็วกระสุนคงที่โดยไม่ขึ้นกับอุณหภูมิ (อันนี้เป็นปัญหาของปืน CO2) ด้วยข้อดีทั้งหลายนี่แหละทำให้ปืนแข่งขันแบบอากาศอัดนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆทั้งในระบบสากลสิบเมตร, Silhouette, และ Field Target.

ภาพที่ 9 บริษัทปืนอังกฤษอย่าง Daystate และ AirArms เป็นผู้ที่ทำให้ปืนอากาศอัดกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งโดยเฉพาะในสนาม Field Target ในภาพนี้ คือ Daystate CR97 รุ่นสุดยอด สาหรับการแข่งขัน Field Target

ภาพที่ 10  ProTarget จาก AirArms สุดยอดอีกกระบอกจากสนาม Field Target

ภาพที่ 11 นี่ก็อีกกระบอกสำหรับ Field Target  Falcon FN 19 Target

ภาพที่ 12 ปืนSporter อากาศอัดก็มีให้เลือกไม่น้อย กระบอกนี้งามมาก FN19 จาก Falcon

ภาพที่ 13 Falcon Tominator กระบอกนี้นับว่าสุดยอด ติดท่อลดเสียงและลดน้ำหนักพานท้ายเต็มที่

ภาพที่ 14 จุดเด่นอีกอย่างของปืนอากาศอัดก็คือความสามารถในการยิงซ้ำ PH6 จาก Daystate กระบอกนี้มีแม็กกาซีนโรตารี่บรรจุ 6 นัด


ภาพที่ 15 ปืนแข่งขันระยะสิบเมตรก็เปลี่ยนมาเป็นอากาศอัดกันไม่น้อย นี่คือ LP1CP
จาก Steyr หลังจากแบบCO2 ที่มีรูปร่างเดียวกันเป็นปืนสั้นอัดลมที่ได้รับเหรียญ
ระดับนานาชาติมากที่สุด

ภาพที่ 16 P34 ล่าสุดจาก Feinwerkbau คงต้องดูกันว่าจะครองความเป็นจ้าวสนามได้
เหมือนรุ่นก่อนๆหรือไม่                                                                                       แต่ก็ใช่ว่าปืนอากาศอัดจะไม่มีข้อเสียเอาเสียเลย นอกจากเรื่องค่าตัวที่สูงเอาการแล้ว ปัญหาของมันก็อยู่ที่ถังดำน้ำนั่นแหละเพราะไม่ค่อยสะดวกที่จะพกพาไปไหน นอกจากนั้นความดันที่สูงมากของอากาศในถังก็ยังทำให้น่าหวาดเสียวเกินกว่าที่ใส่ท้ายรถหรือแม้กระทั่งเก็บไว้ในบ้านถ้าคุณมองหาปืนที่ทั้งแม่นทั้งแรงและไม่มีรีคอลย์ ปืนอากาศอัดก็น่าจะเป็นทางเลือกของคุณครับ

ปืน CO2

ปืนลมที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นแรงขับเคลื่อนกระสุนนั้นเกิดขึ้นมาได้ประมาณ100 ปีมานี่เอง นับว่าอายุน้อยมากเมื่อเทียบกับปืนลมสปริงหรือปืนอากาศอัด ปืนชนิดนี้ค่อนข้างน่าสนใจในแง่ที่ว่าปืน CO2 นี้มีตั้งแตปืนยิงเล่นราคาไม่กี่ร้อยไปจนถึงปืนแข่งขันราคากว่าครึ่งแสน

การที่ก๊าซCO2 ถูกนำมาใช้ในงานนี้ก็เนื่องมาจากที่มันมีราคาถูก, ไม่ไวไฟ, ไม่มีกลิ่น และยังเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวที่ความดันไม่สูงนักซึ่งก็ทำให้สามารถบรรจุให้ยิงได้มากๆนัดต่อการเติมหนึ่งครั้งโดยที่ความดันไม่สูงเกินไป ปืนCO2 มีข้อเด่นที่มันไม่ต้องใช้แรงในการเตรียมยิงเหมือนปืนสปริงหรือปืนปั้มและยังไม่มีแรงรีคอลย์ มันจึงค่อนข้างที่จะเหมาะที่จะเป็นปืนสำหรับสอนเด็กให้ยิงปืน

ปืนลม CO2ราคาถูกซึ่งแพร่หลายอย่างมากในอเมริกามักจะใช้ถัง CO2 ซึ่งเป็นถังโลหะขนาด 12กรัม แบบใช้แล้วทิ้ง ถังหนึ่งก็สามารถทำให้ยิงได้ร่วมร้อยนัด แต่ถัง CO2 แบบนี้ในบ้านเราราคาแพงและไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทย ผมแนะนำว่าอย่าไปซื้อปืนประเภทนี้มาเล่น จะดีกว่า

ภาพที่ 17 Daisy5693 ปืน CO2 ที่ทำเลียนแบบปืนออโต้ของสมิทโปรดสังเกตถังแก๊สแบบใช้แล้วทิ้งขนาด 12 กรัม

ภาพที่ 18 Crosmanเป็นอีกบริษัทที่นิยมทำปืนลมรายาเยา กระบอกนี้ใช้ CO2 เลียนแบบ Colt Phyton

 ภภาพที่ 19 ปืน CO2 บรรจุเดี่ยวจาก Crosman 


ภาพที่ 20 ปืนยาว CO2 จาก เดซี่
ภาพที่ 21 ปืนCO2 ที่ทำรูปร่างเลียนแบบปืนจริงใช่จะมีคุณภาพต่ำไปหมด CP88 จาก Walther กระบอกนี้เปลี่ยนความเข้าใจของเกือบทุกคนที่เคยลองมัน

ปืน CO2 ชั้นดีจะมีถังCO2 ขนาดเล็กติดกับตัวปืนและสามารถเติมCO2ได้   ปืนCO2 มีข้อเสียตรงที่แรงดันของCO2 เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากตามอุณหภูมิของมัน(เทียบกับปืนอากาศอัด) ทำให้ความเร็วของกระสุนเปลี่ยนไป ซึ่งก็จะมีผลต่อตำแหน่งกระสุนตก บ้านเราอาจไม่มีปัญหาเพราะบ้านเราเกือบจะมีฤดูเดียว(ร้อน)อยู่แล้ว แต่ในประเทศเมืองหนาวทั้งหลายอาจมีความแตกต่างของอุณหภูมิห่างกันมากๆได้

Credit: ผิดพลาดปะการใด โปรด อภัยไว้ ณ ที่นี้ ด้วย ข้าพเจ้าอ่อนหัดนัก
#นานา #สาระ
123581321
ช่างเทคนิค
18 ม.ค. 53 เวลา 16:14 47,737 28 180
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...