ความสำคัญ และอานิสงฆ์ของผู้รักษาศีล 5
อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๑
ผู้รักษาศีลข้อ ๑ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๒๓ ประการ คือ มีร่างกายสมประกอบไม่พิการ, มีรูปร่างสูงต่ำพอสมส่วน, มีเชาว์ว่องไว, มีเท้าถูกส่วนเหมาะเจาะ, มีท่าทางสง่าราศี, มีองคาพยพสะอาดปราศจากตำหนิแผลไฝ, มีลักษณะอ่อนละมุนละม่อน, มีความสุขสมบูรณ์, มีลักษณะกล้าหาญ, มีกำลังมาก, มีถ้อยคำสละสลวยเพราะพริ้ง, มีบริษัทที่ใครๆ จะทำลายไม่ได้, มีลักษณะไม่สะดุ้งตื่นเต้นตกใจ, ไม่มีศัตรูคิดทำร้ายได้, ไม่ตายด้วยความเพียรของคนอื่น, มีบริวารอยู่ทุกแห่งหน, มีรูปสวยงาม, มีทรวดทรงงาม, มีความเจ็บไข้น้อย, ไม่มีเรื่องเศร้าใจ, เป็นที่รักของชาวโลก, ไม่พลัดพรากจากผู้คนและสิ่งที่รักที่ชอบใจ, มีอายุยืน
อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๒
ผู้รักษาศีลข้อ ๒ คือ เว้นจากลักฉ้อ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ มีทรัพย์สมบัติมาก, มีข้าวของและอาหารเพียงพอ, หาโภคทรัพย์ได้ไม่ขาดสาย, โภคทรัพย์ที่ยงไม่ได้ ก็จะได้, โภคทรัพย์ที่ได้ไว้แล้ว ก็ยั่งยืน, หาสิ่งที่ต้องการได้รวดเร็ว, โภคสมบัติไม่กระจัดกระจายด้วยราชภัย โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย หรือถูกฉ้อโกง, หาทรัพย์ได้โดยไม่ถูกแบ่ง, จะได้โลกุตตรทรัพย์, ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยิน คำว่าไม่มี, อยู่ที่ไหนเป็นสุขสำราญ
อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๓
ผู้รักษาศีลข้อ ๓ คือ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๒๐ ประการ คือ ไม่มีศัตรู, เป็นที่รักของปวงชน, หาข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่ได้ง่าย, หลับนอนเป็นสุข, ตื่นขึ้นเป็นสุข, ปลอดภัยในอบาย, เกิดเป็นหญิงชายสมบูรณ์, ไม่มักโกรธ, ทำอะไรเป็นระเบียบเรียบร้อย, ทำอะไรโดยเปิดเผย คือ มีคนไว้วางใจไม่ระแวงสงสัย, มีท่าทางสง่าคอไม่ตก, มีหน้าไม่ก้ม คือ หน้ารับแขก, เป็นที่รักของเพื่อนฝูง, มีตา หู จมูก ลิ้น กาย บริบูรณ์, มีลักษณะสมเป็นชายเป็นหญิง, ไม่มีใครรังเกียจ, หากินได้ง่ายไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย, อยู่เป็นสุขทุกแห่งหน, ไม่มีภัยแต่ใครๆ, ไม่ค่อยพลัดพรากจากคู่รัก
อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๔
ผู้รักษาศีลข้อ ๔ คือ เว้นจากพูดเท็จล่อลวง ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๑๔ ประการ คือ มีตา หู จมูก กลิ่นกายผ่องใส, มีวาจาสละสลวยไพเราะ, มีฟันเสมอแนบสนิทสะอาด, ไม่อ้วนนัก, ไม่ผอมนัก, ไม่ต่ำนัก, ไม่สูงนัก, ได้สัมผัสสบาย, ปากหอมเหมือนดอกบัว, มีบริวารเชื่อฟัง, มีถ้อยคำที่คนอื่นเอื้อเฟื้อเชื่อถือ, มีลิ้นบางอ่อนแดงเหมือนกลีบดอกบัว, มีใจหนักแน่นมั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน, ไม่ติดอ่าง, ไม่เป็นใบ้
อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๕
ผู้รักษาศีลข้อ ๕ คือ เว้นจากดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๓๕ ประการ คือ รู้ทันในกรณียกิจได้เร็วทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน, มีสติมั่นคงทุกเมื่อ, ไม่เป็นบ้า, มีความรู้สึกง่าย, ไม่หวั่นไหวตามใครในทางผิด, ไม่งุนงงเซอะซะเซ่อซ่า, ไม่เป็นใบ้ ไม่มัวเมา, ไม่พลั้งเผลอ, ไม่หลงใหล, ไม่สะดุ้งหวาดกลัว, ไม่มีเรื่องรำคาญใจ, ไม่มีใครริษยา, มีความขวนขวายพอสมตัว, มีแต่ความสุข, มีคนนับถือยำเกรง, ชอบพูดแต่คำสัตย์จริง, ไม่มีใครส่อเสียด, ไม่มีใครพูดหยาบด้วย, ไม่ชอบพูดเล่นโปรยประโยชน์, ไม่เกียจคร้านทุกคืนวัน, มีความกตัญญู, มีความกตเวที, ไม่ตระหนี่, รู้จักเฉลี่ยเจือจาน, มีศีลธรรม, ซื่อตรง, ไม่มักโกรธ, มีความละอายแก่ใจ, รู้จักกลัวบาป, มีความเห็นถูกทาง, มีปัญญามาก, มีความเฉลียวฉลาด, มีลักษณะเป็นบัณฑิต, ฉลาดรู้เท่าทันในความเจริญและความเสื่อม
สำหรับโทษที่เกิดจากการประพฤติผิดศีลทั้ง ๕ ข้อ กล่าวคือไม่รักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี เป็นศีลขาด ทะลุ ด่าง และพร้อย ก็ย่อมจะได้รับผลกรรมตรงกันข้ามกับอานิสงส์ดังกล่าวข้างต้น
สรุปคือทุกบททุกข้อสำคัญเท่ากัน
แต่จะทำได้และได้ทำครบข้อไหนสุดแต่ใจเราและตัวเราทำได้
ศิล5ครบ ก็มีสุขแล้ว สุขแบบยั้งยืนด้วย
************************************************************************************
คำว่า ศีล ได้แก่สภาพเช่นไร ศีลอย่างแท้จริงเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร ระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม คอยบังคับกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ ศีลที่เกิดจากการรักษามีสภาพปกติไม่คะนองทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นที่เกลียด นอกจากความปกติงดงามทางกาย วาจา ใจ ของผู้มีศีลว่าเป็นศีล เป็นธรรม
เราควรรักษาศีล 5
1. สิ่งที่มีชีวิต เป็นสิ่งที่มีคุณค่า จึงไม่ควรเบียดเบียน ข่มเหง และทำลายคุณค่าแห่งความเป็นอยู่ของเขาให้ตกไป
2. สิ่งของของใคร ๆ ก็รักและสงวน ไม่ควรทำลาย ฉกลัก ปล้น จี้ เป็นต้นอันเป็นการทำลายสมบัติและทำลายจิตใจกัน
3. ลูก หลาน สามี ภรรยา ใคร ๆ ก็รักสงวนอย่างยิ่ง ไม่ปรารถนาให้ใครมาอาจเอื้อม ล่วงเกิน เป็นการทำลายจิตใจของผู้อื่นอย่างหนัก และเป็นบาปไม่มีประมาณ
4. มุสา การโกหกพกลม เป็นสิ่งทำลายความเชื่อถือของผู้อื่นให้ขาดสะบั้นลงอย่างไม่มีดี แม้เดรัจฉานก็ไม่พอใจคำหลอกลวง จึงไม่ควรโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย
5. สุรา ยาเสพติด เป็นของมึนเมาและให้โทษ ดื่มเข้าไปย่อมทำให้คนดี ๆ กลายเป็นคนบ้าได้ ลดคุณค่าลงโดยลำดับ ผู้ต้องการเป็นคนดีมีสติปกครองตัว อย่างมนุษย์จึงไม่ควรดื่มสุรา เครื่องทำลายสุขภาพทางร่างกายและใจอย่างยิ่ง เป็นการทำลายตัวเอง และผู้อื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน
อานิสงส์ของการรักษาศีล 5
1. ทำให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
2. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวี เบียดเบียนทำลาย
3. ระหว่างลูก หลาน สามี ภริยา อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำกล้ำกรายต่างครองกันอยู่ด้วยความเป็นสุข
4. พูดอะไร มีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะ ด้วยสัตย์ด้วยศีล
5. เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้าหลงหลัง จับโน่นชนนี่เหมือนคนบ้าคนบอหาสติไม่ได้ ผู้มีศีล เป็นผู้ปลูกและส่งเสริมสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลกให้ มีแต่ความอบอุ่นไม่เป็นระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
ศีล นั้นอยู่ที่ไหน มีตัวตนเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รักษาแล้วก็รู้ว่า ผู้นั้นเป็นตัวศีล ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ เจตนาเป็นตัวศีล เจตนา คือ จิตใจ คนเราถ้าจิตไม่มี ก็ไม่เรียกว่าตน มีแต่กายจะทำอะไรได้ ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่าง ๆ ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษ จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว ไม่มีเรื่องหลงหาหลงขอคนที่หา คนที่ขอ ต้องเป็นทุกข์ ขอเท่าไรยิ่งไม่มี ยิ่งอดอยาก ยากเข็ญยิ่งไม่มี
กายกับจิต เราได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว ได้จากบิดามารดาพร้อมบริบูรณ์แล้ว จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เรานี้แล้ว รักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลไม่มีกาล
ผู้มีศีล ย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีล ย่อมมีความสุข ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์ สมบูรณ์ ไม่อด ไม่อยาก ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลได้สมบูรณ์ จิตดวงเดียว เป็นศีลเป็นสมาธิ เป็นปัญญา
ผู้มีศีลแท้.........(จิตที่เข้าถึงศีลอย่างเป็นธรรม) เป็นผู้หมดเวรหมดภัย ซึ่งเปรียบเสมือนจิตที่อยู่ในกรอบป้องกันของธรรมชาติ ไม่ถูกกระแสการผลักของกรรมในวัฏสงสารได้ (ภายใต้กฎธรรมชาติ-ปฏิจสมุปบาท)
**************************************************************************************************
ขอบคุณ ทุกความรู้ และภาพ ประกอบทางเน็ต
http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=5a3eefd11862dad4