เจาะใจ เฉลิม อยู่บำรุง เล่าตำนาน สารวัตรประเทศไทย กับเบื้องหลังคดีที่เจ็บปวด ?

 

 

 

 

เจาะใจ เฉลิม อยู่บำรุง เล่าตำนาน สารวัตรประเทศไทย กับเบื้องหลังคดีที่เจ็บปวด ?

 

 ส.อ.เฉลิม ครูฝึกโรงเรียนสารวัตรทหาร

"สารวัตร" !

ยังคงเป็นคำที่เหล่าคนสนิท ใช้เรียกขาน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ติดปากมาจนถึง

ทุกวันนี้ แม้ปัจจุบัน "ร.ต.อ.เฉลิม" จะเป็นถึง "รองนายกรัฐมนตรี" แล้วก็ตาม

แต่ตลอดทั้งชีวิต แม้จะมีตำแหน่งทางการเมืองใหญ่โตขนาดไหน สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดสำหรับ "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็ยังคงเป็นการทำงานในตำแหน่ง "สารวัตรกองปราบ" ...

"ช่วงวัยเรียน ผมอาศัยอยู่ในย่านบางขุนเทียน ซึ่งในสมัยนั้นคือชาวสวน ไม่มีถนนหนทาง พ่อของผมซึ่งเป็นตำรวจชั้นประทวน แม้จะเป็นเพียงจ่า 4 บั้ง แต่ก็อยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ" ร.ต.อ.เฉลิมเปิดฉากเล่าถึงเส้นทางชีวิต 

และด้วยความที่เป็นเด็กรักการเรียนและเรียนเก่ง เมื่อ "ด.ช.เฉลิม" ได้เข้าเรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ย่านบางขุนเทียน จึงได้ตัดสินใจมาเป็นเด็กวัดที่วัดกำแพง (ย่านบางขุนเทียน)

"ระหว่างที่ผมเป็นเด็กวัดวัดกำแพง ก็มีการจัดงานประจำปีของวัด และคนแถวนั้นก็เป็นคนสวน เมื่อมางานวัดมีการกินเหล้าเมายากัน แล้วก็ตีกัน ตำรวจเข้าไประงับเหตุ ไม่มีใครฟังตำรวจเลย ปีต่อมาจึงมีการจ้างสารวัตรทหารมารักษาการณ์ในงาน ซึ่งชาวบ้านก็ยังเมาและตีกันเหมือนเดิม แต่สารวัตรทหารไม่สนใจ ใช้หมวกไฟเบอร์ทหารสีขาว ตบ ตี คนที่ตีกัน แต่ชาวบ้านกลับถูกใจ ผมเห็น ก็รู้สึกว่าอาชีพนี้มันใหญ่ดี เมื่อมีการเปิดสอบทหาร ผมก็ไปสอบที่มณฑลทหารบกที่ 1 เขารับ 7 คน ผมได้ที่ 1 ทั่วประเทศรับ 30 คน ผมก็เข้าไปเรียน" รองนายกฯเฉลิมในวันนี้ เล่าย้อนเหตุการณ์ที่ชักพาตัวเองให้เข้าสู่ "นายสิบทหารบก" 

แต่หลังจากเຂ้าเรียนได้เพียง 2 สัปดาห์ หลายอย่างก็ทำให้เขารู้ว่า เส้นทางอาชีพทหารในยศ "นายสิบ" นั้นโอกาสก้าวหน้าแทบจะไม่มี 

เขาจึงตัดสินใจว่า เมื่อเรียนจบก็จะ "ลาออก" !

"ตอนแรกผมคิดว่าจะลาออกเลย แต่ครูฝึกบอกว่าถ้าลาออกจะต้องไปเป็นทหารเกณฑ์อีก 1 ปี ก็เลยตัดสินใจเรียนให้จบ แต่ระหว่างเรียนก็มีคนแนะนำเส้นทางว่าถ้าเรียนได้ที่ 1 ของรุ่นก็จะได้ไปเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งจะมีโอกาสเป็นนายร้อย ก็เลยตั้งใจเรียน แต่สุดท้ายคะแนนก็แพ้เพื่อนในรุ่นที่ได้ที่ 1 ไปแค่ 1 คะแนน ทำให้ผมไม่ได้ไปเรียนเตรียมทหาร แล้วก็ได้บรรจุเข้าเป็นครูฝึก โรงเรียนสารวัตรทหาร และฝึกนักเรียนรุ่นน้อง" 



จากนั้น "นายสิบเฉลิม" ก็รับราชการเป็นครูฝึก โรงเรียนสารวัตรทหารอยู่ 7 ปีเต็ม ซึ่งตลอดเวลาเขาได้คิดทบทวนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ 

และด้วยความที่เป็นลูกตำรวจ ที่เชื่อว่า ตำรวจ จะมีสวัสดิการที่ดีกว่าทหาร จึงทำเรื่องขอโอนย้ายสังกัดไปอยู่ "กองปราบปราม" (ปัจจุบันใช้ชื่อว่ากองบังคับการตำรวจปราบปราม) หรือที่เรียกกันติดปากสมัยนั้นว่า "กองปราบสามยอด" เพื่อเป็นตำรวจ 

"ช่วงต้นปี 2512 ผมถูกเรียกไปทดสอบทุกขั้นตอน ทางตำรวจจึงรับโอน จากสิบเอกทหารบก สังกัดกองพันนักเรียนนายสิบ มาเป็นผู้บังคับหมู่ แผนก 5 กอง 2 กองปราบ หรือคอมมานโด ในช่วงปี 2513 ได้ยศ ส.ต.อ. ซึ่งขณะนั้นมีทุนนักเรียนอังกฤษ ให้ตำรวจสอบไปเรียนหลักสูตรปราบจลาจล ที่ประเทศมาเลเซีย ผมสอบได้ และได้ไปเรียน 7 สัปดาห์ เข้าสู่ปี 2515 ก็มีการเปิดสอบนายตำรวจสัญญาบัตรสายสอบสวน ผมมีสิทธิได้สอบ 3 สนาม พอถึงเวลาประกาศผลสอบ ผมถูกร้องเรียน หาว่าจ้างคนไปสอบแทน เพราะไม่มีใครคิดว่าคนที่ย้ายมาจากทหาร และจะสอบสายสอบสวนได้ สุดท้ายก็มีการให้คัดลอกลายมือ ให้กองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบ ว่าใช่ลายมือผมจริงหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดก็ได้รับการยืนยันว่าผมทำข้อสอบเอง" 

ร.ต.อ.เฉลิมเล่าว่า ระหว่างเตรียมตัวที่จะไปอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เพื่อขึ้นเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร รัฐบาลกังวลว่าช่วงนั้นจะมีการเดินขบวนประท้วงกัน จึงเตรียมการป้องกัน กองปราบจึงเรียกตัวไปเป็นครูฝึกปราบจลาจลให้ทหารที่กรมทหารราบที่ 11 พอเสร็จจากตรงนั้น โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานก็ต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะต้องการเชิญตัวไปเป็นครูฝึกหลักสูตรปราบจลาจล ให้กับนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 27-28 ที่เรียนอยู่ในขณะนั้น



 

เมื่อ "ร.ต.อ.เฉลิม" ผ่านการอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ก็ฝึกงานที่สถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ ซึ่งอยู่ใกล้กับกองปราบปราม สามยอด โดยได้ฝึกพร้อมกับนักเรียนนายร้อยรุ่น 26 ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฝึกงานที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท 

ในเดือนมิถุนายน 2516 เขาก็ได้ติดยศ "ร.ต.ต." แล้วในเดือนตุลาคม 2516 ก็ติดยศ "ร.ต.ท." จากนั้นไม่นานนักเขาก็ได้ติดยศ ร.ต.อ. โดย "ร.ต.อ.เฉลิม" นับว่าเขาได้ใช้เวลา 3 ปีครึ่ง ในเส้นทางตำรวจชั้นประทวน สู่ยศ "ร.ต.อ." หลังจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "สารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม" ที่เรียกกันว่า "สารวัตรประเทศไทย" 

"สารวัตรประเทศไทย มีอำนาจสืบสวนจับกุมออกหมายจับหมายค้นด้วยตัวเองทั่วราชอาณาจักร และเป็นตำแหน่งที่ผมมีความภาคภูมิใจมากที่สุด เพราะในขณะที่ผมอายุ 28 ปี ซึ่งผมเป็นคนแรกและคนสุดท้าย ที่มาจากชั้นประทวน แล้วได้มาอยู่ในตำแหน่งสารวัตรประเทศ" ร.ต.อ.เฉลิมเล่าด้วยความภาคภูมิใจ 

"สารวัตรเฉลิม" เล่าว่า การทำงานในตำแหน่งสารวัตรประเทศ ทำให้เขามีชื่อเสียงมาก และได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น 

"ระหว่างทำงาน ผมทำคดีสำคัญหลายคดี เมื่อมีผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ มีครั้งหนึ่ง นายตำรวจระดับ รองอธิบดีกรมตำรวจ สั่งให้ผมไปจับบ่อนการพนันแห่งหนึ่ง ผมก็ไปจับ ปรากฏว่าเจ้าของบ่อน เป็นภรรยาของเจ้าของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในขณะนั้นเป็นเศรษฐีเบอร์ 1 ของเมืองไทย หลังจากจับเสร็จ ผมถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เรียกไปด่า 2 ชั่วโมง ที่กระทรวงมหาดไทย และด่าแบบเสียๆ หายๆ ไร้คุณธรรม ไร้จริยธรรม ไม่มีความเป็นผู้บังคับบัญชา

 

เมื่อกลับมาที่กองปราบก็มีคำสั่งย้ายผม จากสารวัตรประเทศไทย ไปเป็นหัวหน้าแผนก 8 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 8 อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยแพทย์ และคนที่จะเป็นได้ ต้องจบแพทย์ พอเอาผมไปอยู่ ก็ไม่ได้ทำงานอะไร ผมอยู่ที่นั่น 1 ปี 3 เดือน ถูกงดบำเหน็จ 6 ปีเต็ม ก็รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกลั่นแกล้ง จึงได้ซึมซับ และตกผลึก" 

ต่อมามีคดีใหญ่ซึ่ง "ร.ต.อ.เฉลิม" สามารถจับคนร้ายและคลี่คลายคดีได้ จึงมีโอกาสย้ายกลับมาเป็นสารวัตรประเทศอีกครั้งหนึ่ง ! 

"เมื่อกลับมางานในตำแหน่งเดิมอีกครั้ง 

ผมก็ทำการสอบสวนคดีตามปกติ แต่สืบไปสืบมามีอยู่คดีหนึ่งไปเจอตอ ผมไปบอกผู้ใหญ่ให้

ดำเนินการ แต่ผู้ใหญ่ไม่กล้า จนคดีนั้นต้องพับไป ผมเห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีความเป็นธรรม 

จึงเห็นว่าถ้ายังเดินสายนี้ต่อไปน่าจะก้าวหน้ายาก เพราะผมมีความจริงจังและจริงใจในการทำงานมากไป" 

ร.ต.อ.เฉลิมเล่าว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ไปมีความสนิทสนมกับ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และมีความผูกพันกันพอสมควร พอช่วงเดือนเมษายน 2524 หรือที่เกิดเหตุการณ์ ยึดอำนาจ "เมษาฮาวาย" เขาจึงได้นำตำรวจกองปราบฯ ร่วมกับคณะผู้ก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลในขณะนั้น !

ผลปรากฏว่า การยึดอำนาจไม่สำเร็จ ฝ่าย "ผู้ก่อการ" พ่ายแพ้ถูกจับ และ "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในโทษฐาน "กบฏ" 

"เมื่อปฏิวัติแพ้ ผมก็ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำบางเขน 1 เดือน และต่อมามีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก็เท่ากับว่าผมไม่มีความผิด ผู้บังคับบัญชา จึงชวนผมกลับมาเป็นตำรวจอีก แต่ผมขออนุญาต เพราะได้ตัดสินใจเลือกที่จะเดินบนเส้นทางการเมืองแล้ว" 

จากนั้น "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็เดินเข้าสมัครเป็นสมาชิก "พรรคประชาธิปัตย์" และลงสมัครรับเลือกตั้งจนได้เป็น "ส.ส.กทม."

เป็น "รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" 

เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม" 

เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข" 

เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย" 

และเป็น "รองนายกรัฐมนตรี" ในวันนี้...

 

 

 

Credit: http://www.babnee.com/knowledge-id2180.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...