ครบรอบ166ปี Faberge ผู้สร้างไข่อัญมณีพร้อมภาพหาชมยาก

Coronation Egg (ซ้าย) ที่มีความสวยงามทางศิลปะและมีความหมายทางประวัติศาสตร์
------------------------------------------------

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1918 กลุ่มนายทหารพร้อมปืนไรเฟิลได้เดินทางถึงบ้านของ Peter Carl Faberge หลังจากที่ได้ทุบประตูบ้านเป็นเวลานานจนเจ้าของบ้านต้องยอมเปิดประตูรับ ทหารคนหนึ่งได้ยื่นนามบัตรซึ่งแสดงว่าเป็นตำรวจลับ (Chekha) ที่ได้รับบัญชาจากสมเด็จพระเจ้าซาร์ Nicholas ที่ 2 ให้นำตัว Faberge ไปเข้าเฝ้า Faberge จึงขอเวลาแต่งตัว แล้วบอกให้ตำรวจลับเหล่านั้นคอยที่ห้องโถง ส่วนตัวเขาเองได้หลบหนีออกทางหลังบ้าน

เวลาล่วงเลยไปนานกว่าคนคอยจะรู้ตัวว่าเจ้าของบ้านได้หนีไปแล้ว อีกสองวันต่อมา Faberge ก็เดินทางถึงเมืองริกาในลัตเวีย โดยใช้พาสปอร์ตปลอมที่เพื่อนชาวอังกฤษทำให้ และได้ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีในบ้านเกิดเมืองนอน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ ฐานะทางสังคม และชื่อเสียง เพื่อไปตายดาบหน้า (อย่างโดดเดี่ยวในโรงแรม) ในอีก 2 ปีต่อมาที่เมืองโลซานในสวิตเซอร์แลนด์

 

Peter Carl Faberge ระหว่างทำงาน
--------------------------------



ตลอดชีวิตทำงาน Faberge ไม่เคยคิดว่าตนเป็นช่างอัญมณีในกลุ่มเดียวกับ Tiffany และ Lalique แต่เป็นนักประดิษฐ์ที่มีพรสวรรค์ในการนำความคิดคลาสสิกมาปรับใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถมีสิ่งประดิษฐ์ที่ประดับด้วยอัญมณีราคาแพง จนเป็นที่พึงพอใจของคนซื้อและคนรับและความสามารถของ Faberge ได้กลายมาเป็นตำนานจนทุกวันนี้

ในปลายคริสตศควรรษที่ 17 ต้นตระกูลของ Carl Faberge ได้อพยพมาจากฝรั่งเศสมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในรัสเซีย เมื่อถึงปี 1832 บิดาของ Faberge ที่ชื่อ Gustav ได้ศึกษาวิธีใช้อัญมณีทำเครื่องประดับจนเริ่มมีชื่อเสียง และตั้งแต่ปี 1845 เป็นต้นมา บรรดาเศรษฐินีไฮโซที่ชอบอวดรวยได้เข้ามาเป็นลูกค้าขาประจำของ Faberge ครอบครัว Faberge มีลูกชายหัวปีชื่อ Peter Carl ผู้ถือกำเนิดในปี 1846

เมื่อ Faberge มีอายุ 14 ปี บิดาได้ขายธุรกิจอัญมณีให้เพื่อน แล้วอพยพไปเริ่มชีวิตใหม่ที่เมืองเดรสเดนในเยอรมนี ต่อมา Faberge ได้ศึกษาวิธีนำอัญมณีมาทำเครื่องประดับ อีก 5 ปีต่อมาเขาได้กลับไปตั้งร้านอัญมณีที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีก แต่ธุรกิจไม่รุ่งเพราะตลาดมีการแข่งขันกันมาก Carl จึงคิดจะหาลูกค้าที่เป็นราชนิกูลระดับสูงเพื่อโฆษณาให้สังคมรู้จักฝีมือของตน

แต่การจะให้ราชสำนักรู้จักและยอมรับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย Faberge จึงเข้าทำงานที่ Hermitage อันเป็นพระคลังสำหรับเก็บทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ของพระเจ้าซาร์ และมีหน้าที่ซ่อมแซมสิ่งของราคาแพงที่ปรักหักพัง ผลงานชิ้นแรกที่ Faberge กับน้องชายชื่อ Agaton ร่วมกันประดิษฐ์คือออกแบบเครื่องประดับอัญมณีรูปทรงสไตล์กรีก การได้ไปฝึกงานที่ Hermitage ทำให้ Faberge ได้มีโอกาสศึกษาและรู้ประวัติความเป็นมาของอัญมณีต่างๆ ดีมาก

แต่สิ่งประดิษฐ์ของ Faberge ที่ทำให้ประชาชนรัสเซีย และราชสำนักเริ่มสนใจและสังเกตคือ สิ่งประดิษฐ์รูปไข่ที่ผิวไข่มีอัญมณีประดับ

 

ไข่อัญมณี
-------------------



อันที่จริงไข่ประดิษฐ์นี้มิได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ ช่างเครื่องประดับชาวเยอรมันได้รู้จักประดับไข่ด้วยอัญมณีเป็นของขวัญในวันอีสเตอร์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 Faberge จึงคิดจะฟื้นฟูประเพณีที่ถูกละเลยนี้ และได้ทูลเสนอจักรพรรดิซาร์ Alexander ให้ทรงมอบไข่ทองคำเป็นของขวัญแด่สมเด็จพระราชินี Maria Feodoroyna เมื่อ Alexander ทรงเห็นชอบ Faberge ได้ใช้เวลาทำไข่นี้จนถึงวันอีสเตอร์ของปี 1885 ไข่ประดิษฐ์ที่เคลือบด้วยทองคำและแพลททินัมก็เสร็จ ไข่ชื่อ “The First Hen Egg” นี้มีแม่ไก่ขนาดเล็กอยู่ภายใน และเมื่อเปิดตัวแม่ไก่ออกจะเห็นภายในมีมงกุฎจำลองประดับเพชรของพระราชินี ของขวัญชิ้นนี้ทำให้พระนาง Feodoroya ทรงพอพระทัยมากและทำให้ชื่อของ Fabergeดังกระฉ่อน เพราะเขาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นช่างอัญมณีแห่งราชสำนัก ผู้มีหน้าที่ประดิษฐ์ของขวัญซึ่งได้แก่ไข่วิจิตร ถวายพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ในวันอีสเตอร์ เวลาไม่ทำงานถวาย Faberge เปิดร้านของตนเองให้บริการแก่สามัญชนทั่วไป

ตามปรกติ Faberge มักไม่บอกลูกค้าว่าภายในไข่มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง เพราะเขาต้องการให้ลูกค้าประหลาดใจ และบอกว่าลูกค้าคนที่เขาเอาใจยากที่สุดคือ พระราชินี Alexandra ในพระเจ้าซาร์ Nicholas ที่ 2 ผู้ซึ่งได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1894 เพราะพระนางทรงคิดว่าพระนางทรงมีรสนิยมสูง จึงทรงประทานภาพสเกตซ์ของไข่ที่พระนางประสงค์จะให้ Faberge ประดิษฐ์ถวาย ซึ่งแบบที่พระนางพระราชทานมาล้วนเป็นการออกแบบที่เทวดาก็ทำให้ไม่ได้ เท่านั้นยังไม่พอ พระนางยังพระราชทานค่าจ้างเป็นเงินจำนวนน้อยนิดด้วย แต่ Faberge ก็ไม่เคยทูลขอเพิ่มเพราะไม่ต้องการให้พระนางทรงกริ้ว ดังนั้นเขาจึงต้องหาทางออกโดยเท็จทูลว่า แบบที่พระนางทรงวาดได้หายไป หรือช่างผู้ช่วยของ Faberge ได้ดัดแปลงและปรับเปลี่ยนแบบที่พระนางทรงคิดให้จนไข่เสียรูปทรงไป ทั้งนี้เพราะไม่เข้าใจพระดำริของพระนางนั่นเอง

ในช่วงเวลานี้ชื่อเสียงของ Faberge ได้โด่งดังมาก และฐานะก็เริ่มดีขึ้นๆ เพราะบรรดากษัตริย์ในราชวงศ์ต่างๆ เริ่มซื้อไข่อัญมณีของ Faberge เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญให้แก่กันและบางคนก็เพื่อเก็บสะสม ลูกค้าที่มีฐานะดีก็มีมากขึ้นจน Faberge ต้องเปิดร้านสาขาใหม่ที่มอสโกและลอนดอน ร้านของ Faberge มีลูกค้าที่เป็นทั้งเจ้าชาย เจ้าหญิง เศรษฐี และคนมีชื่อเสียงต่างก็หลั่งไหลมาซื้อสิ่งประดิษฐ์ที่ประดับด้วยอัญมณี โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งเป็นเวลาที่ลูกค้าจะสั่งสินค้ามากจน Faberge ทำสนองความต้องการของตลาดไม่ทัน เพราะลูกค้าแต่ละคนต่างก็ต้องการซื้อไข่ที่มีเอกลักษณ์พิเศษคือ ไม่เหมือนไข่ของคนอื่นๆ เลย จนบางครั้ง Faberge ต้องบอกว่าตนจะออกแบบไข่ให้ใหม่เป็นไข่ทรงลูกบาศก์และจะให้ลูกค้าคนนั้นเป็นคนแรก แต่ลูกค้าคนนั้นไม่เข้าใจความหมายที่แฝงในคำพูดของ Faberge จึงหวนกลับมาในอีก 3 สัปดาห์ต่อมาและก็ได้รับคำบอกกล่าวว่าการประดิษฐ์ครั้งนั้นยุ่งยากมากจนช่างทำให้ไม่ได้

เวลาทำงาน FaFabergebergé มักใจลอยและจำไม่ได้ว่าลูกค้าได้บอกกำหนดรายละเอียดอะไรบ้าง เขาจึงให้ผู้ช่วยของเขามานั่งฟังเวลาลูกค้าสั่งสินค้าด้วย จนเป็นที่เลื่องลือว่าคนที่รับผิดชอบด้านความสวยงามในสินค้าตัวจริงไม่ใช่ Faberge แต่เป็นคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ

การรีบทำและรีบประดิษฐ์ให้เสร็จเพื่อให้ทันเวลานัดหมายได้สร้างความโกลาหลแก่ธุรกิจของ Faberge บ่อยครั้ง เช่น เวลาช่างได้รับแบบสเกตซ์หยาบๆ จาก Faberge แล้วได้เลือกวัสดุที่ไม่ตรงกับที่ Faberge กำหนด หรือเวลาไข่ประดิษฐ์ขาดสมมาตร คือข้างซ้ายและขวาแตกต่างกัน เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ Faberge หลุดปากว่า “น่าเกลียด” แต่เมื่อช่างบอกว่า “ก็นายเองเป็นคนออกแบบ” Faberge จะเขินแล้วเอ่ยแก้ตัวว่า “ถ้าไม่มีใครกล้าติ ฉันก็ต้องติตัวเองบ้าง”

นับตั้งแต่ปี 1885 ที่ไข่ใบแรกของ Faberge ปรากฏ จนกระทั่งถึงปี 1916 บริษัทของ Faberge ได้ประดิษฐ์ไข่ถวายพระเจ้าซาร์รวมทั้งสิ้น 50 ชิ้น เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 ซึ่งได้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในรัสเซีย พระเจ้าซาร์ Nicholas ที่ 2 ทรงสละราชสมบัติ รัสเซียจึงมีรัฐบาลชั่วคราวปกครองประเทศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม 1917 ในช่วงเวลานี้ร้านของ Faberge มีลูกค้าที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง เช่น ทหาร และตำรวจหลายนายที่สนใจซื้อไข่ประดิษฐ์ แต่เมื่อถึงเดือนตุลาคมปีนั้นเอง กลุ่มทหารบอลเชวิคเข้ายึดอำนาจในรัสเซียได้อย่างสมบูรณ์ Faberge เกรงว่าร้านของตนจะถูกทหารยึดกิจการไปด้วยจึงให้เพื่อนสนิทชาวสวิสเช่ากิจการต่อ เพราะคิดว่าร้านของคนต่างชาติจะปลอดภัย แต่ Faberge คาดการณ์ผิด เพราะในวันที่ 4 พฤศจิกายนปีนั้นเอง ทหารและตำรวจลับได้เข้ายึดร้านของ Faberge และขนไข่อัญมณีไปเป็นหีบ โดยตั้งข้อหาว่าไข่เหล่านั้นเป็นไข่อัญมณีในพระเจ้าซาร์ ส่วนลูกชายของ Faberge นั้นถูกจับกุมให้ไปนั่งจำแนกแยกเพชรที่ตำรวจลับยึดมาได้จากธนาคาร สำหรับ Faberge เองได้หลบหนีออกนอกประเทศตั้งแต่เดือนกันยายน

เมื่อถึงปลายเดือนพฤศจิกายน Iakov Smirnov ภัณฑารักษ์แห่ง Hermitage ได้รับคำสั่งให้ไปตรวจทรัพย์สมบัติทุกชิ้นของพระเจ้าซาร์ และนั่นหมายความว่าไข่ Faberge ทุกชิ้นต้องถูกส่งไปตรวจที่มอสโกและถูกนำไปจดทะเบียนเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ในปี 1924 เมื่อรัฐบาลรัสเซียต้องการเงินมหาศาล เพราะประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาก ทหารบอลเชวิคหลายคนจึงคิดขายไข่ Faberge เพื่อนำเงินเข้าประเทศ และได้นำออกขายกว่า 80 ชิ้น ซึ่งมีตั้งแต่เก้าอี้นั่งเล่นของจักรพรรดินี Catherine โถส้วมสไตล์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มงกุฎของพระราชธิดาในพระเจ้าซาร์ สมุดบันทึกสีชมพูของพระราชินี Alexandra และสิ่งหนึ่งที่คนทุกคนสนใจและอยากซื้อสิ่งนั้นก็คือ ไข่ Faberge อันเป็นอัญมณีเปื้อนเลือดของจักรพรรดิ

เจ็ดปีหลังจากที่ Faberge เสียชีวิต หนังสือพิมพ์ในอังกฤษได้ลงข่าวว่า Faberge ยังมีชีวิตอยู่และเป็นนักโทษในความควบคุมของทหารบอลเชวิค และมีหน้าที่ประเมินค่าของอัญมณีที่กองทัพยึดได้ ข่าวนี้ไม่เป็นความจริง เพราะคนบุคคลที่นักข่าวเห็นคือลูกชายของ Fabergé

ณ วันนี้ Eugène และ Alexander ผู้เป็นลูกชายของ Faberge ได้จัดตั้งบริษัท Faberge ขึ้นที่ปารีสและมีสาขาทั่วโลก

ในปี 2004 ไข่ “Coronation Egg” ของ Faberge ได้ถูกนำออกประมูลขายที่นิวยอร์กในด้วยราคา 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าแพงมาก เพราะผู้ประมูลเชื่อว่า ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพียงเพื่อแสดงความสวยงามเชิงศิลปะเท่านั้น แต่ยังแสดงความหมายเชิงประวัติศาสตร์ด้วยว่าในช่วงเวลาที่พระเจ้าซาร์ Nicholas ที่ 2 และพระราชินี Alexandra ทรงใช้ชีวิตสมรสร่วมกันนั้น ชีวิตของคนทั้งสองมีความงดงาม ความหมายและความสุขเพียงใด เดือนมิถุนายนปี 2007 ในงานแสดงศิลปะที่ Grosvenor House ในลอนดอน นักธุรกิจรัสเซียผู้ร่ำรวย ชื่อ Iveta Tamaz Manasherov และ Viktor Vekselberg ได้ทุ่มเงิน 150 ล้านดอลลาร์ ซื้อไข่ Faberge เพื่อนำผลงานของศิลปินอัจฉริยะผู้นี้กลับไปรัสเซียครับ

Credit: ครบรอบ166ปี Faberge ผู้สร้างไข่อัญมณีพร้อมภาพชมยาก
30 พ.ค. 55 เวลา 04:31 3,016 3 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...