แม้กรุงธนบุรี จะดำรงช่วงระยะเวลาแห่งการเป็นราชธานีสยาม เพียงแค่ 15 ปี (พ.ศ. 2310 - 2325) โดยมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว นับแต่การกอบกู้เอกราชเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาปราชัยแก่พม่า แต่ปริศนา "กษัตริย์ที่ถูกโค่นบัลลังก์เพราะเป็นบ้า" เรื่องราวอันเป็นมูลเหตุแห่งความ "ฟั่นเฟือน" ของพระเจ้าตาก ยังคงกลายเป็นประเด็นปัญหา ให้อนุชนรุ่นหลังยังค้นหาคำตอบไม่มีสิ้นสุด
ก่อนที่ร่วมเจาะลึกปริศนาพระเจ้าตากฯ พร้อมๆ กับการล่องเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าตาก ไม่ว่าจะเป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร และวัดอินทราม ผ่านทัวร์ "คลองสองแผ่นดิน พระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 3 " ที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายนนี้ กับมติชนอคาเดมี นี้นั้น
อาจารย์ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เขียนหนังสือ "สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" และ "ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี" ซึ่งจะเป็นผู้นำทัวร์ในครั้งนี้ เรียกน้ำย่อยเล่าเหตุการณ์ที่สร้างความสนใจให้กับปวงชนชาวไทย กับเรื่องราวของ วีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีที่สุด ว่า ที่จริงประวัติศาสตร์ไทยทุกตอนมีปริศนาหมด เพราะพงศาวดารบ้านเรามันไม่สมบูรณ์ เว่อร์บ้าง เหลือเชื่อบ้าง ใส่ไข่บ้าง แต่บังเอิญเรื่องพระเจ้าตากเป็นประเด็นระคายเคือง คนมักจะเอาปริศนาพระเจ้าตากไปเป็นประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งมันไม่ใช่ คือเราต้องเข้าใจกติกาทางการเมืองสมัยนั้นเสียก่อน แพ้เป็นพระชนะเป็นเจ้า มันเรื่องของกติกา ไม่ใช่เอาความถูกต้องชอบธรรมในปัจจุบันไปจับ ปริศนาพระเจ้าตากถึงเป็นที่สนใจมากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น แม้แต่พระนเรศวรก็ตาม
"สัญลักษณ์ของพระเจ้าตากสิน เป็นไปตามยุคสมัย ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านถูกพูดถึงในฐานะกษัตริย์ที่ค่อนข้างฟั่นเฟือน ลูกหลานเลยต้องพลอยรับเอาสัญลักษณ์นั้นติดตัวไปด้วย แต่พอมาช่วงหลังปฏิวัติ 2475 เรื่องราวของท่านถูกนำกลับมาพูดใหม่ ในฐานะวีรบุรุษสงคราม บวกไปกับความเป็นกษัตริย์สามัญชน ท่านถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของนักต่อสู้สามัญชนนั่นแหละ เพราะชาติสมัยนั้น มันไม่ใช่ชาติของพระมหากษัตริย์อย่างที่เคยเป็นมา แต่เป็นประชาชาติของประชาชน มีรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักสิทธิ์เหนือสิ่งอื่นใด สัญลักษณ์แบบนี้เลยทำให้เรื่องพระเจ้าตากกลายเป็นเรื่องระคายเคืองไป
"พอมายุคสงครามสี ท่านขี่ม้าอยู่ดีๆ ก็เอาท่านมาเล่นการเมือง ทั้งสองฝ่ายแหละ ฝ่ายหนึ่งใช้ท่านเป็นสัญลักษณ์ของการกู้ชาติ มีนักรบพระเจ้าตาก อีกฝ่ายก็มีธงพระเจ้าตาก ให้ท่านนำม็อบ เอาเข้าจริงตอนปะทะกันก็ไม่เห็นธงพระเจ้าตากนะ พวกการ์ดทั้งสองฝ่ายส่วนใหญ่จะใช้ธงพระเจ้าตากเป็นสัญลักษณ์ คือเอาท่านมาเป็น รปภ. แล้วเป็นไง โดนตีแตกทั้งสองฝ่ายเลย คือจริงๆ ตอนที่ท่านหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา ท่านคงยังไม่คิดจะกู้บ้านกู้เมืองอะไรหรอกนะ หนีไว้ก่อน คือท่านเป็นข้าราชการบ้านนอก เพิ่งจะวิ่งเต้นเข้ารับราชการได้ไม่เท่าไหร่ ใครจะกล้าเอาด้วย ขนาดหลวงศรเสนีเพื่อนที่หนีมาด้วยกันยังชิ่งหนีเลย ท่านมาประกาศจะกู้กรุงศรีฯ หลังจากท่านหนีออกมาระยะหนึ่งแล้ว บางฉบับยังว่าประกาศที่เมืองระยอง แต่สุดท้ายท่านก็ทำได้ เพราะตอนหลังเลยมีคนเอาด้วยเยอะ สรุปว่าท่านถูกทำให้เป็นเป็นสัญลักษณ์ของนักรบผู้กอบกู้บ้านเมือง แต่จะเป็นนักรบของใครก็แล้วแต่สถานการณ์นั้นๆ " อาจารย์ปรามินทร์ว่า
ผู้เขียน "ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี" บอกอีกว่า ตอนอวสานพระเจ้าตาก เป็นเรื่องที่ คนไทยน่าจะศึกษาไว้ ซึ่งจะทำให้เห็นเลยว่า เพราะอะไรกรุงธนบุรีจึงล้มครืนลงมาในเวลาไม่กี่ชั่วโมง คนของพระยาสรรค์แค่ 300 คนก็ยึดกรุงธนบุรีได้ ปลดพระเจ้าตากออกจากพระราชบัลลังก์ ทั้งๆ ที่ศึกเหนือศึกใต้ท่านรบยึดบ้านยึดเมืองมาได้หมด
" เป็นเพราะท่านเป็นขุนนางบ้านนอก รบจนได้ราชบัลลังก์มา แต่เล่นการเมืองไม่เป็น ไม่เอาใจใส่โบราณราชประเพณี ปราสาทราชวังก็ไม่สร้าง จะอ้างว่ามัวแต่รบก็ฟังลำบาก เพราะเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ท่านก็รบ แต่ใช้เวลาปีสองปีก็สร้างวังใหญ่โตได้ แล้วท่านก็ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมอย่างเก่ามาหมด ยังรับสั่งว่า การไม่ถือโบราณราชประเพณี ทำให้ไม่มีศิริมงคล เทวดาเกลียด คือจะเห็นว่าเหตุที่กรุงธนบุรีถึงจุดจบเนี่ย มันไม่ได้มาจากเรื่องบ้าไม่บ้าหรอก มันยังมีเรื่องอื่นด้วย แต่ที่ยังเป็นปริศนาก็คือ ทำไมอยู่ๆ เมื่อเวลาผ่านตั้งไปสองปีแล้ว รัชกาลที่ 1 ถึงให้ขุดพระศพพระเจ้าตากที่วัดอินทาราม มาพระราชทานเพลิง ทั้งที่ยังไม่หายโมโห เพราะฝ่ายในฝ่ายหน้าในแผ่นดินพระเจ้าตากที่ร้องไห้ในงานศพยังถูกโบยหลังทุก คน ทำไมกรมพระยาดำรงฯ จึงทรงเซนเซอร์ข้อความนี้ทิ้ง น่าสงสัยมั้ย ถ้าใครไปกับทัวร์อาจจะเผลอเล่าให้ฟังก่อน"
วัดหงส์รัตนารามกับวัดอินทาราม เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากอย่างไร?
อาจารย์ปรามินทร์ อธิบายว่า วัดหงส์รัตนาราม เป็นวัดติดกับพระราชวังพระเจ้าตาก เคยเป็นวัดของพระสังฆราชในสมัยกรุงธนบุรี ลูกพระเจ้าตากก็บวชที่นี่ สมัยกรุงธนบุรีพระเจ้าตากท่านสร้างไว้ใหญ่โต มาปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกทีตอนสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่น่าสนใจก็คือรูปเขียนสีใส่กรอบกระจกเป็นเรื่องตำนานพระแก้วมรกต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กล่าวถึงอิทธิฤทธิ์ของพระแก้วมรกตพาดพิงถึงพระเจ้าตากอยู่ด้วย
"น่าสงสัยอีกว่า อิทธิฤทธิ์พระแก้วมรกตนี้เพราะอะไรยังส่งผลถึงผู้นำไทยบางคน ที่ถูกเอาเกียรติประวัติไปเทียบเคียงกับพระเจ้าตากบ้าง ชื่อพ้องบ้าง ทำให้มีตอนจบไม่ค่อยดี อยากรู้ใช่มั้ยว่าเป็นใครยังไง เก็บไว้เม้าท์ที่วัดหงส์ฯ ดีกว่า ส่วนที่วัดอินทาราม ก็เป็นวัดสำคัญที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี ท่านโปรดวัดนี้มาก สร้างไว้ใหญ่โตมโหฬาร ท่านเผาพระศพพระราชชนนีที่นี่ แม่เจ้าฟ้าเหม็นก็เผาที่นี่ ทรงนั่งกรรมฐานก็ที่นี่ พระบรมศพท่านก็เผาที่นี่ พระบรมอัฐิก็เก็บไว้ที่นี่ เป็นอนุสรณ์ของพระเจ้าตากที่สำคัญกว่าวงเวียนใหญ่แน่ๆ ที่นี่เราน่าจะได้คุยกันเรื่องพระเจ้าตากเป็นบ้าจริงหรือไม่กัน"
วัดหงส์รัตนาราม
วัดอินทาราม
แม้จะเป็นการถ่ายทอดเรื่องเล่าพระเจ้าตาก ผ่านการพูดคุย และนำชมสถานที่จริงครั้งแรกของอาจารย์ปรามินทร์ แต่รับรองว่า เนื้อหาการทัวร์"คลองสองแผ่นดิน พระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 3 " ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เข้มข้นถึงอารมณ์ประวัติศาสตร์แน่นอน ไม่เพียงแต่เรื่องราวของพระเจ้าตากสินเท่านั้น ที่ผู้ร่วมทัวร์จะได้ยินได้ฟัง เรื่องเล่าแบบลับเฉพาะอย่างที่ไม่เคยได้ฟังที่ไหนมาก่อน
ขณะเดียวกันผู้ร่วมทริปก็จะได้ท่องคลองด่านผ่านวัดดัง แห่งเมืองกรุงธนบุรี ไปกับ ผศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ในการไปเยือนย่านต้นเผ่าเหล่าสกุลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พร้อมฟังบรรยายเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ โดยละเอียดยิบทีเดียว สลับเกร็ดความรู้สนุกๆ ที่ทำให้เราเพลิดเพลินและอยากค้นหาประวัติศาสตร์แต่เก่าก่อนโดยไม่มีที่สิ้น สุด
"ปกติผมเขียนหนังสืออย่างเดียว ไม่ไปบรรยายเรื่องพระเจ้าตากที่ไหน เพราะฉะนั้นเรื่องที่ไม่ได้เขียน หรือเรื่องที่เขียนไม่ได้ ก็จะเอามาปล่อยของตอนนี้แหละ เรามาเที่ยว เม้าท์เรื่องโน้นเรื่องนี้ได้เต็มที่ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นวิชาการล้วนๆ เหมือนเขียนหนังสือ เพราะฉะนั้นขอเตือนไว้ก่อนว่า งานนี้ไม่มียั้ง
ส่วนดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้กว้างขวางอันดับ 2 ตั้งแต่ปากคลองบางหลวง คลองด่าน ไปจนถึงปากน้ำท่าจีน ตรงไหนเป็นเคยด่านเป็นอะไรท่านรู้หมด เหมือนกลับชาติมาเกิด เราจะนั่งเรือไปวัดหนัง วัดนางนอง เป็นย่านต้นเผ่าเหล่าสกุลของรัชกาลที่ 3 อาจารย์ปรีดีจะบรรยายอย่างละเอียดยิบ สลับกับเกร็ดสนุกๆ มาช่วยกันปล่อยของ
วัดหนัง
วัดนางนอง
อันที่จริงประสบการณ์ความรู้ที่ได้จากการท่อง เที่ยว มันจะไม่เหมือนกับอ่านหนังสือนะ ไม่ใช่เพราะได้ไปเที่ยวกับผู้รู้หรืออะไร ต่อให้ไปเองเราจะได้เห็นสิ่งที่ตัวหนังสือมันบรรยายไม่ได้อีกเยอะเลย อย่างทัวร์ครั้งนี้ ผมจงใจจะให้ลอยเรืออยู่ข้างพระราชวังเดิม ในตำแหน่งเดียวกับที่กองทัพเรือของพระยาสรรค์เข้าโจมตีกรุงธนบุรี เพื่อบรรยายฉากอวสานกรุงธนบุรี เราจะเห็นมุมมองเดียวกับทหารเรือพระยาสรรค์เลย และก็จะเป็นมุมมองเดียวกับที่ราษฎรสมัยกรุงธนบุรีมองไปที่วังของพระเจ้าอยู่ หัวของเค้าในสมัยนั้น เปรียบเทียบกับพระราชวังฝั่งกรุงเทพฯ เรื่องแบบนี้ อารมณ์แบบนี้แหละ ที่ตัวหนังสือมันทำไม่ได้ ประสบการณ์แบบนี้แหละที่ไม่อยากให้พลาด" อาจารย์ปรามินทร์ ฝากทิ้งท้าย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ "มติชนอคาเดมี" โทร 08-2993-9097 และ 08-2993-9105