นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า วันนี้ (28 พ.ค.) กรมจะทำหนังสือไปยังสถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย กรณีที่นักร้องซุปเปอร์สตาร์ เลดี้ กาก้า ทวีตข้อความว่าต้องการมาซื้อนาฬิกาโรเลกซ์ปลอมในไทย ว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อการเป็นแบบอย่างในการใช้สินค้าละเมิดทรัพย์สิน ทางปัญญาของคนในประเทศสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯพยายามให้ไทยปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศมาตลอด ทั้งยังได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ตามกฎหมายพิเศษ 301 แต่คนของสหรัฐฯกับเป็นแบบอย่างที่มีค่านิยมในการใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ จึงอยากให้มีการเตือนพฤติกรรมของคนสหรัฐฯด้วยกันเอง
“กรมฯ รับไม่ได้กับพฤติกรรมของเลดี้ กาก้า ซึ่งเป็นนักร้อง และนักแต่งเพลงเจ้าของผลงานลิขสิทธิ์ แต่กลับมีค่านิยมใช้ของปลอม ไม่เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นทั้งที่ตนเองก็เป็นเจ้าของผลงาน ลิขสิทธิ์ ซึ่งไม่สอดคล้อง อีกทั้งการทวีตว่าจะซื้อสินค้าปลอมที่ตลาดเลดี้ มาร์เก็ต ซึ่งไทยไม่มีตลาดดังกล่าว น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของนักร้องสาวมากกว่า” นางปัจฉิมา
สำหรับการเพิ่มความเข้มงวดต่อการลดการละเมิดในพื้นที่สีแดง 25 จุดใน 8 จังหวัด และพื้นที่สีเหลือง 19 จุดใน 6 จังหวัด โดยการออกตรวจสอบวันละ 2 ครั้ง โดยทำควบคู่กับการรณรงค์หยุดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยน DNA เยาวชนไทย ไม่ซื้อ ไม่ถือ ไม่ใช้ของปลอม “ และมีกำหนดจัด 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน รณรงค์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน รณรงค์ในมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
นอกจากนี้กรมฯ จะเร่งผลักดันการออกกฎหมายที่ลดการละเมิดที่ยังคั่งค้างอยู่ทั้งหมด อาทิ พ.ร.บ.ความลับทางการค้า (ฉบับที่..) พ.ศ.... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของวิปรัฐบาล ก่อนจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ส่วนร่างพ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ..) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขยายขอบเขตความคุ้มครอง ปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นต่อน และระยะเวลาการจดทะเบียน ปรับปรุงค่าธรรมเนียม ซึ่งส่วนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญพิจาณณาร่างพรบ.ของ สภาผุ้แทนราษฎร ส่วนเรื่องการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมารดริด (Madrid Protocol) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายของกรมฯ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ร่างพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์(ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ในส่วนของบทนิยาม ข้อมูลการบริหารสิทธิมาตรการทางเทคโนโลยี และข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต และในส่วนของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการ และการบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนร่างที่เกี่ยวกับการกำหนดความรับผิดชอบของเจ้าของพื้นที่ที่ขายสิทธิ ละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้านั้น ทางรมช.พาณิชย์ ได้สั่งให้มีกรมฯ เร่งศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการนำประเด็นดังกล่าวมายกร่างเป็นกฎหมาย ต่อไป