ผู้สื่อข่าว Mthai News รายงานจาก พื้นที่ปฏิบัติการฝึกกองทัพเรือ หาดยาว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีว่า กอง ทัพเรือไทยพร้อมกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา นำกำลังพลรวมทั้งหมด 3,500 นาย ร่วมฝึกประจำปี Cooperation Afloat Readiness Training หรือ CARAT 2012 ครั้งที่ 18 โดยมีพล.ร.ต.ไพฑูรย์ ประสพสิน ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการฝึกฝ่ายไทย และนายพล Thomas F. Carney ผู้บัญชาการหน่วยส่งกำลังบำรุงภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกเป็นผู้อำนวยการฝึกฝ่าย สหรัฐอเมริกา
ขณะที่ การฝึกในวันนี้เป็นการฝึกยกพลขึ้นบกระหว่างนาวิกโยธินไทย และนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการฝึกทางยุทธการณ์แบบสะเทินน้ำสะเทินบก เป็นการปฏิบัติการทางทหารบนดินแดนข้าศึก จึงต้องใช้กำลังทางเรือเข้าร่วมหลายหน่วย การปฏิบัติการครั้งนี้หน่วยรบพิเศษ หรือหน่วยซิล จะถูกส่งขึ้นไปทำลายสิ่งกีดขวางหน้าหาด ก่อนที่กำลังรบจะยกพลขึ้นบกจะขึ้นฝั่ง โดยมีกำลังทางอากาศอย่าง F 16 รวมทั้งปืนใหญ่จากเรือ จะเข้าโจมตีข้าศึกบนฝั่งเพื่อเปิดทางให้นาวิกโยธิน
ขณะ เดียวกัน การฝึกในครั้งนี้ก็เปรียบเสมือนการฝึกด้านการช่วยเหลือประชาชน และด้านมุษยธรรมเพื่อบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งหากเกิดเหตุภัยพิบัติอาทิเช่น คลื่นยักษ์สึนามิ ที่เกิดขึ้นบนเกาะอาจสร้างความเสียหาย ในพื้นที่ถูกตัดขาดจากภายนอก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาทางขึ้นฝั่ง ถึงแม้จะมีสิ่งกีดขวางจากความเสียหายของภัยพิบัติเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชน โดยเร่งส่งหน่วยแพทย์กองทัพเรือ พร้อมเครื่องปั่นไฟฟ้า อาหาร เป็นต้น ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุการณ์ด้วย
อย่างไรก็ตาม การฝึกผสม CARAT 2012 ในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 18 นั้นจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 25 พ.ค.55 รวม 9 วัน ซึ่งการฝึกเป็นการฝึกผสมร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อ เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของทั้ง 2 ประเทศ และพัฒนาขีดความสามารถขององค์บุคคล ในการปฏิบัติการร่วมกันทางทหารในทุกระดับการปฏิบัติการต่าง ๆ
นอก จากนี้ ยังเพื่อเป็นการรองรับกับสถานการณ์การก่อการร้ายสากล การพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ การฝึกจะ ประกอบด้วย การฝึกภาคสนาม ภาคทะเล การฝึกปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เส้นทางคมนาคมทางทะเล และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกด้าน
สำหรับ กำลังที่เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ กองทัพเรือไทย และกองกำลังของสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งเรือเข้าร่วมซ้อมประกอบด้วย เรือรบ 5 ลำ อากาศยาน 3 เครื่อง ชุดเตรียมทุ่นระเบิด หน่วยเตรียมเป้า และชุดก่อสร้างเคลื่อนที่ รวมกำลังที่เข้าร่วมการฝึกของทั้ง 2 ประเทศจำนวน 3,500 นาย