"อูฐ" เป็นสัตว์บกที่สามารถกินน้ำได้ครั้งละหลายสิบลิตรและอดน้ำได้หลายวันติดต่อกัน และเนื่องจากมนุษย์เรานิยมใช้อูฐเป็นพาหนะเดินทางไปในทะเลทรายซึ่งร้อนและแห้งแล้ง ทำให้อูฐต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม มันจึงต้องพยายามสงวนน้ำในร่างกายไว้ให้ได้มากที่สุด โดยการลดการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายทุก ๆ ทาง โดยเฉพาะทางปัสสาวะ ทำให้น้ำปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงกว่าน้ำเลือดได้ถึง ๘ เท่า (ในขณะที่มนุษย์สามารถทำได้เพียง ๔ เท่า) ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ปัสสาวะอูฐมีปริมาณน้อยมีความเข้มข้นสูง และกักเก็บไว้นานกว่าจะถูกขับถ่ายออกมา ทำให้มีกลิ่นฉุนมาก กลิ่นฉุนนี้เกิดจากของเสียในร่างกายที่ถูกขับออกมาทางไตออกมากับปัสสาวะ เรียกว่า ยูเรีย สารยูเรียนี้เมื่อถูกกักเก็บไว้นานหรือมีแบคทีเรียเข้าไปทำปฏิกิริยาจะถูกเปลี่ยนเป็น แอมโมเนีย ซึ่งมีกลิ่นฉุนเช่นเดียวกับแอมโมเนียที่ใช้ดมแก้เป็นลม