กินเห็ดป่าหามส่งโรงพยาบาลแพทย์เร่งช่วยชีวิตเป็นการด่วน
กินเห็ดพิษหามส่งโรงพยาบาลแล้ว 3 ราย แพทย์เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการนำเห็ดมาประกอบอาหาร หากไม่แน่ใจ ไม่ทราบชนิด แหล่งที่มาอย่างชัดเจน ไม่ควรนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะเห็ดป่า พิษร้ายแรงถึงชีวิต
นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่านและนายแพทย์นิวัติชัย สุจริตจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน รุดเข้าตรวจอาการของผู้ป่วยหญิง 2 ราย ที่ถูกส่งต่อมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลน่าน หลังจากการกินเห็ดป่า แล้วมีอาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว โดยแพทย์ตรวจพบตับถูกทำลายไปมาก เนื่องจากผู้ป่วยกินเห็ดพร้อมกับดื่มเหล้าเข้าไปด้วย ทำให้เร่งพิษเห็ดมากขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ราย เป็นหญิง คือ นางคา แสนชล อายุ 46 ปี และ นางบุญปั๋น สุต๋า อายุ 46 ปี เก็บเห็ดที่อยู่ตามป่าใกล้บ้านมาทำกินพร้อมกับเพื่อนรวม 7 คน โดยนำเห็ดหลายชนิดมาแกงเป็นกับแกล้มกับเหล้าขาว ส่วนอีกรายเป็นชาย ยังไม่ทราบชื่อรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จ.น่าน มีอาการเช่นเดียวกัน โดยทั้ง 3 รายยังต้องดูอาการอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวว่า เห็ดเป็นอาหารธรรมชาติที่มีผู้นิยมนำมาประกอบอาหารกันอย่างแพร่หลาย เมื่อมีฝนตกลงมา ก็จะมีเห็ดชนิดต่าง ๆ เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ในไทยเห็ดที่พบมีหลายชนิด หลายพันธุ์ มีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็นที่เป็นพิษเมื่อกินเข้าไปเป็นพิษถึงตายได้ จังหวัดน่าน ซึ่งจากสถานการณ์ทางระบาดวิทยาของจังหวัดน่าน พบว่าอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในทุกปี โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม และปี 2550 อำเภอบ่อเกลือ มีผู้ป่วยกินเห็ดโม่งโก้ง หรือเห็ดไข่ห่านเป็นพิษ จำนวน 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย
การสังเกตลักษณะของเห็ดว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ โดยเฉพาะเห็ดที่เก็บมาจากป่า สามารถสังเกตลักษณะภายนอกของเห็ดคือ เห็ดจะมีสีส้มหรือแดงเข้ม ตั้งแต่หมวกเห็ดจนถึงครีบดอกและก้านดอก หมวกของเห็ดมีแผ่นหรือเกล็ดขรุขระ มีขนาด 3 – 5 นิ้ว ลักษณะจุดยอดเรียบและมีศูนย์กลางอยู่ตรงกับต้น ถ้าหักดูจะมียางสีขาวเหนียว ๆ เมื่อนำเห็ดนั้นมาวางในห้องมืดเป็นเวลาหลายนาที เห็ดจะเรืองแสง เห็ดที่มักเป็นพิษ ได้แก่ เห็ดโคน เห็ดโม่งโก้งขาว เห็ดไข่ห่าน เห็ดไข่ห่านตีนตัน เห็ดขี้ควาย เห็ดนกยูง และเห็ดหาว ผู้ที่กินเห็ดพิษจะมีอาการหลังกินเข้าไปประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จะมีอาการ เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริว กระหายน้ำ บางรายเป็นรุนแรง ทำให้ระบบหมุนเวียนของเลือดล้มเหลว และถึงแก่ชีวิตได้
จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการนำเห็ดมาประกอบอาหาร หากไม่แน่ใจ ไม่ทราบชนิด แหล่งที่มาอย่างชัดเจน ไม่ควรนำเห็ดนั้นมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะเห็ดป่า หรือ เห็ดที่เราไม่คุ้นเคย เพราะถ้าเป็นเห็ดพิษจะทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ ไม่ควรดื่มสุราร่วมกับการกินเห็ด เพราะจะเป็นการเสริมพิษให้รุนแรงยิ่งขึ้น.