ดราม่าในเฟซบุ๊กวันนี้ มีผู้แชร์รูปคนที่แต่งตัวเป็นหญิงสาวโหนเกาะไหล่หน้ารูปปั้นปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร และผู้ประศาสนการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้นสองของตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์
โดยบ้างวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม บ้างสืบสาวไปถึงเรื่องส่วนตัวของเธอ พร้อมเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยดำเนินการกับเธอ ขณะที่คนอีกกลุ่มมองเป็นเรื่องธรรมดา คนบางกลุ่มนำไปเปรียบเทียบกับกรณีที่มหาวิทยาลัยอนุญาตให้ทหารเข้ามาในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ว่าน่าละอายยิ่งกว่า
ภาพนี้ถูกโพสต์ครั้งแรกโดย “อั้ม เนโกะ” เอง พร้อมข้อความกำกับ
“ ความรัก ความคลั่งคืออะไร แต่ประเทศไทยก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นท่านปรีดี เพราะเราทุกคนเท่ากัน”
ประชาไท สัมภาษณ์ “อั้ม เนโกะ” อดีตนักศึกษาจุฬาลงกรณ์ ที่สอบเข้าได้เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ในปีนี้ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เธอเล่าว่า วันที่ถ่ายรูปดังกล่าวเป็นวันปรีดี (11 พ.ค.) ที่บริเวณรูปปั้นด้านล่างมีคนมาวางพาน พวงมาลา กราบไหว้อาจารย์ปรีดี เมื่อรุ่นพี่ได้พาเดินทัวร์ตึกโดม ได้เห็นรูปปั้นอาจารย์ปรีดี จึงอยากลองทำอะไรท้าทายกระแสสังคมดูบ้าง ตอนถ่ายอยากให้ Cult โดยมีคำถามว่าถ้าเราเท่ากัน ทำไมจึงต้องทำให้อาจารย์ปรีดีกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
“เหมือนเราให้ความสำคัญ อ.ปรีดี ในฐานะคนที่มากกว่าคน สร้างความศักดิ์สิทธิ์มากเกินไปหรือเปล่า” เธอตั้งข้อสังเกตและว่า อาจารย์ปรีดีไม่ได้เป็นคนที่วิเศษวิโส วิจารณ์ได้ หากกลุ่มที่มีแนวคิดเสรีนิยมยังมีข้อยกเว้น ไม่วิพากษ์วิจารณ์ อ.ปรีดี ซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยม แล้วจะใช้หลักการวิจารณ์โดยเท่าเทียมกันได้อย่างไร
“Liberal เป็นอะไรไปแล้ว” เธอถาม
ทั้งนี้ “อั้ม เนโกะ” บอกว่าเธอยังไม่ทราบเรื่องที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ต เพราะช่วงนี้ต้องเตรียมเอกสาร สอบสัมภาษณ์ แต่ก็ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์
“วันหนึ่ง ถ้าหนูเกิดไปทำความดีอะไรเข้า แล้วตัวเองเป็นรูปปั้น มีคนมากระทำชำเรารูปปั้น ก็ไม่แคร์อะไร เพราะเป็นแค่หุ่นธรรมดา” เธอกล่าวพร้อมกล่าวถึงกรณีที่มีการรุมประชาทัณฑ์คนทุบพระพรหมจนถึงแก่ความตายว่า เราควรให้ความสำคัญกับอะไร ระหว่างหินที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยชุดความเชื่อหนึ่งๆ กับชีวิตคน ทำไมจึงมีการสร้างความชอบธรรมให้คนที่รุมประชาทัณฑ์ ทั้งที่มีกระบวนการทางกฎหมายอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่มีการจัดการกับวิถีประชาที่ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิในชีวิตคนๆ หนึ่งจนถึงแก่ความตาย ซ้ำคนเหล่านั้นยังได้รับการยกย่องว่าปกป้องศาสนา