พบคนโพสต์ท่ายกขา-เกาะรูปปั้น "ปรีดี"สมศักดิ์ เจียมฯ บอก "เท่ห์ดี"เกษียรแนะระมัดระวัง

การสื่อสารในโลกยุคปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องไร้พรมแดนไปเสียแล้ว  หากก่อนหน้านี้เพียงกว่า 10 ปีก่อน ขึ้นไป คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หากจะมีผู้คนที่ไม่รู้จัก รับรู้เรื่องราวความเคลื่อนไหว ทำอะไรที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ กับใคร ผ่านถ้อยความอักษรหรือรูปถ่าย  ส่งต่อกระจาย  สิ่งน่าชื่นชม  ความน่าอับอาย  หรือการกระทำที่ถูกเหยียดหยาม วิพากษ์วิจารณ์ ได้รวดเร็ว และกว้างขวางเท่าทุกวันนี้ ภายใต้สังคมแห่งโลกอินเตอร์เน็ต ที่มีหลายช่องทางให้สื่อสาร อย่างที่รู้จักกันดี ตามที่เรียกว่า โซเชี่ยล มีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เว็บบอร์ดต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น ความดราม่า ในเรื่องต่างๆ ของโลกยุคใหม่  ทั่วทุกสารทิศ  จึงเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน  มากมายยิบย่อยต่างวาระกันไป กับบุคคลทุกระดับชนชั้น ทุกเชื้อชาติ ทุกเพศทุกวัย    ตั้งแต่เรื่องขี้หมูขี้หมา ไก่กา  เรื่องธรรมดา   สิ่งรุนแรง   การขอความช่วยเหลือ ลามไปถึงประเด็นเซ้นสิทีฟ อ่อนไหวกระทบต่อจิตใจความรู้สึกของผู้คนในวงกว้างดัง ดังที่เห็นเป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ ตั้งแต่ในแวดวงกลุ่มๆหนึ่ง  กระทั่งร้ายแรงถึงเป็นปัญหาระดับชาติ
และอีกประเด็นหนึ่งที่เชื่อว่า  กำลังจะกลายเป็น ความดราม่า ในสังคมไทย ต่อการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ ที่กำลังทวีความดุเดือด เข้มข้น ในโซเชี่ยลมีเดียขณะนี้ และวันนี้ (15 พฤษภาคม 2555)    ซึ่ง มติชนออนไลน์ ขออนุญาตหยิบมานำเสนอ คือ กรณี บุคคลผู้หนึ่ง โพสต์รูปถ่าย ลงบนเฟซบุ๊ก   ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ระบุว่า เป็นวันที่ 12 พฤษภาคม   โดยใส่กางเกงขาสั้น นั่งยกขาชันเข่าข้างหนึ่ง แล้วนำมือไปแตะบนบ่า รูปปั้นของ ศาสตราจารย์  ดร.ปรีดี พนมยงค์  อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์   ผู้นำคณะราษฎร  และผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  

 


พร้อม เขียนอธิบายรูปภาพไว้ว่า "♥ ความรัก ความคลั่งคืออะไร แต่ประเทศไทยก็ไม่มีกฎหมายห​มิ่นท่านปรีดี เพราะเราทุกคนเท่ากัน"

จากนั้นเพื่อนที่เป็นสมาชิกในเฟซบุ๊กของบุคคล ดังกล่าวได้มาแสดงความคิดเห็น อันดับต้นๆ เชิงชื่นชมและหยอกล้อ ต่อมา ก็มีสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่น เข้าไปแสดงความเห็นเชิงต่อว่า  ในความไม่เหมาะสมไม่รู้จักกาละเทศะของบุคคลดังกล่าวนี้ โดยระบุว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ เปรียบเสมือนพ่อ ที่เคารพรักยิ่งของชาว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความเห็นหลากหลายไปตามนานาทัศนะ ทั้งต่อว่า และยกหลักการมองโลกแบบวิถีประชาธิปไตยและการไม่เคารพอย่างนั้นอย่างนี้

ทั้งนี้ ขณะที่ผู้สื่อข่าวไล่อ่านความคิดเห็นต่อรูปดังกล่าวของสมาชิกเฟซบุ๊กรายนี้ ก็พบว่า  มีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า  "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"  (อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อรูปภาพดังกล่าว ตามข้อความดังนี้

"หุหุ เท่ห์ดี เดี๋ยวเอาไปโปสเตอร์ โฆษณา 24 มิถุนา หรือวันสถาปนา (27 มิถุนา) ที่กำลังจะมาถึงดีกว่า"

และ

"ว่าแต่ว่า ไอ้รูปปั้นนี่ มันอยู่ตรงไหนนะ ผมไม่รู้จริงๆ เห็นไปถ่ายกันมา 2 คนแล้ว"
โดยเจ้าของเฟซบุ๊กรายนี้ ก็ได้เข้ามาตอบว่า

"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อยู่ชั้นสองบนตึกโดมค่ะอาจา​รย์ ข้างบนมีพิพิธภัณฑ์แจ่มมากค่​ะ ปล.หนูซิ่วไปอยู่ศิลปศาสตร์​ มธ. แล้วนะอาจารย์ แต่เอกเยอรมันคะ :))"


ขณะที่ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งก๊อบปี้รูปภาพดังกล่าว ไปเผยแพร่ที่หน้าเพจของตัวเอง พร้อมเขียนข้อความว่า   

"ทุกคนชาว มธ.ให้ความเคารพ ท่านปรีดี แต่เด็กคนนี้จะมาเรียนที่ธร​รมศาสตร์ ดูมันทำ ขอประณามค่ะ" โดยมีการแท็กไปยังเพื่อนสมาชิกรายอื่นอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเชิงต่อต้านและยกหลักการมาอธิบายกันอย่างล้นหลาม
อาทิ 

"มันกล้าทำได้ไงวะ มันเอาสมองส่วนไหนคิดวะ"

"กูพยายามเข้าไปด่าในเฟสมัน ไม่ได้อ่ะ"

"แต่ทีน่าโมโหคือในโพสของมัน​มีคนเม้นชื่นชมมันหนึ่งในนั้น เป็นอาจารย์ ชื่อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"

"ถ้าทำแบบนี้ แล้วผู้บริหารยังรับเข้ามา ผมขอประณามผู้บริหารด้วย"
"ผมก็ว่า อจ. สมศักดิ์ น่าจะออกแนวประชดนะแต่เฟสออ​กเสียงไม่ได้ ...ที่อยากรู้คือน้องเค้าคิ​ดอะไรอยู่"


"มันไม่ใช่เรื่องของกฏหมาย หรือต้องการให้มีการลงโทษ อะไร มันเป็นเรื่องของกาลเทศะ ที่น้องควรจะต้องรู้ ถ้าเค้าคิดจะเรียนที่นี่ ก็ไม่ควรทำกริยาไม่เหมาะสม กับสิ่งที่ทุกคนเคารพ เค้าจะไม่เคารพเรื่องของเค้​า ... กรุณาอย่าโยงเข้าเรื่องการเ​มือง หรือกฎหมายใดๆ"

"พูดกันแบบคนธรรมดา มิใช่จำเป็นต้องเป็นศิษย์เก่าของสถาบันใด ผมเห็นด้วยกับท่านที่บอกว่า​เรื่องนี้เป็นเรื่องของ "กาละเทศะ" การแสดงออกของใครเป็นอย่างไ​ร ก็สะท้อนวิธีคิดมุมมองของบุ​คคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูป อ.ปรีดี หรือรูปเคารพอื่นใดก็ตาม อีกทั้งเรื่องนี้มิใช่เรื่องของสิทธิมนุ​ษยชน เพราะสิทธิมนุษยชน ก็คือการเคารพต่อสิทธิของผู้อื่นมากกว่าสิทธิของตนเอง ผมไม่อยากวิวาทะกับ อ.สมศักดิ์ หากจะวิวาทะกับ อ.สมศักดิ์ ก็ควรจะเป็นบนพื้นฐานเรื่อง​ที่ อ.ปรีดี คิดอย่างไรกับ กม.อาญา มาตรา 112 มากกว่า"
"คือ ผมมองว่าหลายคนที่เฉยๆ กับรูปนี้ ทั้งๆที่เป็นคนของธรรมศาสตร์ อย่างเช่น อ. สมศักดิ์ ผมคิดว่าเขามองในลักษณะที่ว่า "มันเป็นเพียงรูปปั้น หรือ รูปเหมือนเท่านั้น" น่ะครับ  สำหรับผมเอง เห็นรูปนี้แล้ว รู้สึกว่า   "มึงจะถ่ายรูปแล้วโพสท่าแบบ​นีไปเพื่ออะไรวะ" เสียมากกว่า ถึงแม้ว่าผมจะไม่ใช่ เด็ก ธรรมศาสตร์ล่ะก็นะ"

 

ด้าน นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำหน้าเพจที่เป็นชาวธรรมศาสตร์แสดงความไม่พอใจ ผู้ถ่ายรูปโพสต์ท่าไม่เหมาะสม ต่อรูปปั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มาแชร์ต่อพร้อมกับเขียนข้อความดังนี้

กับปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็นของคนอื่น ควรต้อง handle with care (แตะต้องโดยระมัดระวัง - มติชนออนไลน์) 
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ในชุมชนแห่งความทรงจำหนึ่ง ๆ ย่อมมีบุคคล เหตุการณ์ วัตถุพยานแห่งความทรงจำ (อนุสรณ์ อนุสาวรีย์ ฯลฯ) ที่ประกอบส่วนสร้างเป็นเอกลักษณ์ของสมาชิกชุมชน ซึ่งก่อตัวขึ้นจากการจำและสืบทอดส่งต่อการจำนั้นเป็นชั้น ๆ เป็นรุ่น ๆ ต่อกันมายาวนานพอสมควร

สถานะของสิ่งนี้เสมอเหมือนปุมกลางหลังที่มองไม่เห็น เมื่อมันถูกกระทบโดยผิดธรรมเนียมประเพณีของชุมชน สมาชิกชุมชนก็จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้แทบว่าจะราวอัตโนมัติก่อนการคิดด้วยซ้ำไป

ความจริงเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนความจริงนี้ได้ไหม? เปลี่ยนได้ แต่จะเปลี่ยนก็ต้องช่วยให้สมาชิกชุมชนเข้าใจฐานะบทบาทหน้าที่ของปุ่มกลาง หลังที่มองไม่เห็นนี้และพลานุภาพของมันเสียก่อนเมื่อพวกเขาเข้าใจแล้วก็จะ ง่ายขึ้น

วิธีที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจ คือ handle with care ค่อย ๆ ทำให้พวกเขาเห็นฐานความเชื่อของปุ่มกลางหลังนี้ จนพวกเขามองเห็นมัน เมื่อพวกเขาเห็นแล้ว การจะคงสถานะของปุ่มนี้ไว้ต่อไปหรือไม่ จะเลิกเชื่อหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่พวกเขาจะเลือกด้วยความเข้าใจและปัญญาอย่างรู้เท่าทัน เลิกเชื่อก็ด้วยความเข้าใจและไม่เกลียดชังหลังเลิกเชื่อ, ถ้าเชื่อต่อก็ด้วยรู้เท่าทัน ไม่ปลูกปั้นจนเหนือล้ำล้นเกินขอบเขตเหตุผลออกไป

กับปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็นของคนอื่น จึงควรต้อง handle with care

จากนั้น นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แสดงความเห็นในกรณีดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกครั้งหนึ่งว่า

จริงๆ ผมเซอร์ไพรส์ มากๆ นะที่ รูปคุณ ..... "ถ่ายคู่" กับ รูปปั้นปรีดี กลาย "เป็นเรื่อง" ขึ้นมาได้

ปรีดี กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้ไปได้ไง

แล้วพูดก็พูดเถอะ บรรดาคนที่มา "เซนสิทีฟ" มากๆ โดยเฉพาะใครที่เรียน มธ.น่ะ โทษที เคยศึกษา ประวัติศาสตร์บ้างไหมว่า กว่าปรีดีจะกลายมาเป็นอะไรที่ "เว่อร์ๆ" ขนาดนี้ มันมีความเป็นมายังไง

มหา′ลัยที่ปรีดีตั้งเอง ไม่กล้า แม้แต่เอ่ยถึงชื่อปรีดี เป็นเวลาหลายสิบปี ยังไง? แม้แต่ชื่อ ห้องสมุด ที่ตอนนี้ ตั้งเป็นชื่อปรีดีน่ะ ตอนที่เริ่มมีประเพณีตั้งชื่อแบบนี้น่ะ ปรีดีไม่ใช่ ชื่อแรกด้วยซ้ำ ที่มีการตั้งกัน ตั้งชื่อ สัญญา ธรรมศักดิ์ ก่อนด้วยซ้ำ เพราะไม่กล้าขนาดนั้น ชื่อปรีดีน่ะ ตั้งตามหลัง "ห้องสมุดสัญญา" ถึง 8 ปี ตามหลัง "ห้องสมุดป๋วย" ถึง 5 ปี

บอกตรงๆ อย่าดัดจริตมากไปครับ

ขณะที่ นายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กเช่นกันว่า

ทุกๆ ปีในวันแรกพบ (11 พ.ค.) จะมีการพาน้องปีหนึ่งเดินวนให้ชมภายในตึกโดม

โดยก่อนจะขึ้นไปชั้นสองที่เป็นห้องอนุสรณ์ปรีดี พนมยงค์

จะมีพี่ flow (คอยคุมการเดินของเด็กๆ) คนหนึ่งบอกว่า 

"ขึ้นไปอย่าลืมไหว้พ่อปรีดีด้วยนะครับ"

พอเดินวนตึกโดมเสร็จ ก็จะเดินออกไปที่ลานปรีดี

เตรียมนั่งเป็นครึ่งวงกลมรอบรูปปั้นอาจารย์

ก่อนจะพร้อมใจกัน "กราบ" พร้อมมอบพวงมาลัยเป็นเครื่องสักการะ
... 

ตั้งแต่เริ่มช่วยงานตึกโดมในวันแรกพบเมื่อตอนขึ้นปีสอง 

จนตอนนี้ขึ้นปีสี่แล้ว

ก็ยังสงสัยอยู่ว่าพวกคนที่กราบไหว้อาจารย์ปรีดีนั้นคิดอะไรกันอยู่

อาจารย์ปรีดี เป็นหนึ่งในผู้อภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครอง

เปลี่ยนไพร่ทาสให้เป็นราษฎร 

แต่พวกคุณยังจะหมอบคลานกราบไหว้เป็นไพร่เป็นทาสกันอีกหรือ?

คิดให้ดีนะครับ ก่อนจะเคารพอาจารย์ปรีดี 

ท่านเข้าใจบทบาทของอาจารย์ปรีดีบ้างหรือไม่

อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ 

บุตรีคนที่ 5 จากจำนวน 6 คนของอาจารย์ปรีดี

เคยบอกกับลูกศิษย์ว่า เวลาศึกษาเรื่องของอาจารย์ปรีดี 

อย่าเอาแต่เชิดชูเพียงด้านเดียว 

ปรีดีเป็น "คน" ไม่ใช่ "เทวดา" 

มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี (เช่นทัศนคติไม่ยอมรับเพศที่สามของอ.ปรีดี) ในเรื่องราวของเขา

ฉะนั้นจึงอย่าเคารพปรีดีเหมือนเคารพเจ้า

นับถือได้ วิจารณ์ได้ ล้อเลียนได้ 

ปรีดีไม่ใช่พ่อ

เรากับเขา เท่าเทียมกันครับ

-----

ปล. ขอฝากข้อความให้กับคนที่ share รูปนี้ไปด่าน้องเขา ว่ากรุณา copy คำอธิบายรูปจากน้องเขาไปด้วยว่า

"ความรัก ความคลั่งคืออะไร แต่ประเทศไทยก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นท่านปรีดี เพราะเราทุกคนเท่ากัน"

นอกจากนี้ นายปราบยังเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00 น. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีประชาธิปไตย ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมชมห้องอนุสรณ์ปรีดี พนมยงค์ ตึกโดม เพื่อจะได้ทำความเข้าใจและรู้จักนายปรีดีมากขึ้น โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า "จากดราม่าน้อง...ถึงรูปปั้นอาจารย์ปรีดี"

สำหรับรูปภาพดังกล่าวมีการส่งต่อเผยแพร่ไปยัง สังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์และไม่พอใจต่อการกระทำของ บุคคลดังกล่าวโดยเฉพาะศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    หลายฝ่ายพยายามเรียกร้องให้มีการจัดการกับตัวผู้โพสต์ด้วยวิธีการใดวิธีการ หนึ่งอย่างจริงจังเนื่องจาก ศาสตราจารย์ดร.ปรีดี พนมพงค์ เป็นสัญลักษณ์บุคคลที่ชาวธรรมศาสตร์ให้ความเคารพและยึดมั่นในอุดมการณ์เป็น อย่างมาก

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทางเฟซบุ๊กเจ้าของรูปดังกล่าวก็ปรากฎว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนนี้ ระบุว่า ตนเองกำลังจะเข้าเรียนเป็นนักศึกษาในคณะศิลปศา​สตร์ เอกเยอรมัน  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2555   โดยก่อนหน้านี้ เคยศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม หลังจากรูปภาพเชิงล้อเลียนดังกล่าวแพร่หลายออกไป ก็มีการนำภาพถ่ายในลักษณะคล้ายๆ กัน ทั้งที่ถ่ายขึ้นก่อนหน้าและภายหลัง มาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ

(บุคคลในรูปด้านบนระบุว่า ตนเองและเจ้าของรูปถ่ายที่กลายเป็นปัญหา "ต้องกราบขอโทษท่านอาจารย์ปรีดีเป็นอย่างสูงที่ได้ถ่ายรูปโพสต์ท่าที่ไม่เหมาะสมไป")


ล่าสุด เจ้าของรูปถ่ายอันก่อให้เกิดวิวาทะดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ประชาไทว่า วันที่ถ่ายรูปดังกล่าวเป็นวันปรีดี (11 พ.ค.) ที่บริเวณรูปปั้นด้านล่างมีคนมาวางพาน พวงมาลา กราบไหว้อาจารย์ปรีดี เมื่อรุ่นพี่ได้พาเดินทัวร์ตึกโดม ได้เห็นรูปปั้นอาจารย์ปรีดี จึงอยากลองทำอะไรท้าทายกระแสสังคมดูบ้าง ตอนถ่ายอยากให้ Cult โดยมีคำถามว่าถ้าเราเท่ากัน ทำไมจึงต้องทำให้อาจารย์ปรีดีกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

"เหมือนเราให้ความสำคัญ อ.ปรีดี ในฐานะคนที่มากกว่าคน สร้างความศักดิ์สิทธิ์มากเกินไปหรือเปล่า" เธอตั้งข้อสังเกตและว่า อาจารย์ปรีดีไม่ได้เป็นคนที่วิเศษวิโส วิจารณ์ได้ หากกลุ่มที่มีแนวคิดเสรีนิยมยังมีข้อยกเว้น ไม่วิพากษ์วิจารณ์ อ.ปรีดี ซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยม แล้วจะใช้หลักการวิจารณ์โดยเท่าเทียมกันได้อย่างไร

"Liberal เป็นอะไรไปแล้ว" เธอถาม

ทั้งนี้ เจ้าของรูปถ่ายผู้นี้บอกว่าเธอยังไม่ทราบเรื่องที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ต เพราะช่วงนี้ต้องเตรียมเอกสาร สอบสัมภาษณ์ แต่ก็ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์

"วันหนึ่ง ถ้าหนูเกิดไปทำความดีอะไรเข้า แล้วตัวเองเป็นรูปปั้น มีคนมากระทำชำเรารูปปั้น ก็ไม่แคร์อะไร เพราะเป็นแค่หุ่นธรรมดา" เธอกล่าวพร้อมกล่าวถึงกรณีที่มีการรุมประชาทัณฑ์คนทุบพระพรหมจนถึงแก่ความตายว่า เราควรให้ความสำคัญกับอะไร ระหว่างหินที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยชุดความเชื่อหนึ่งๆ กับชีวิตคน ทำไมจึงมีการสร้างความชอบธรรมให้คนที่รุมประชาทัณฑ์ ทั้งที่มีกระบวนการทางกฎหมายอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่มีการจัดการกับวิถีประชาที่ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิในชีวิตคนๆ หนึ่งจนถึงแก่ความตาย ซ้ำคนเหล่านั้นยังได้รับการยกย่องว่าปกป้องศาสนา

ต่อมา นายเกษียร เตชะพีระ ได้แสดงความเห็นต่อบทสัมภาษณ์ดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

เท่าที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณ... ในประชาไท ผมออกจะเห็นต่างออกไปนะ

ผม เชื่อว่าคุณ...มีเจตนาบริสุทธิ์และเสรีภาพที่จะทำอะไรทำนองนี้ก็ควรมีพอ สมควร แต่ผมคิดว่าเราควรต้องคิดถึงใจเขาใจเราด้วย เมื่อเราไปกระทบของที่คนเขารักเขาหวงแหน ด้วยเหตุผลที่เราอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่เนื่องจากเราต้องอยู่ในสังคมเดียวกัน ชุมชนเดียวกันกับเขา ต่อให้เราไม่นับถือเหตุผลหรือของสิ่งนั้นเลย เราก็ควรนึกถึงจิตใจคนเหล่านั้นบ้างในฐานะเพื่อนร่วมสังคม และพยายามปฏิบัติต่อสิ่งนั้นด้วยความระมัดระวัง อย่าทำร้ายจิตใจพวกเขาโดยไม่จำเป็น

เมื่อ อ.สายพิน แก้วงามประเสริฐ เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องอนุสาวรีย์ย่าโมแล้วตีพิมพ์ออกมา ปรากฏว่าคนโคราชโกรธแค้นเป็นวรรคเป็นเวร ชุมนุมประท้วงประณาม อ.สายพิน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เรียนของอ.สายพิน ทำการเผาหนังสือและเรียกร้องให้สำนักพิมพ์มติชนเก็บหนังสือนั้นเสีย ทางมติชนก็ยอมเก็บหนังสือเหล่านั้นจากตลาด

ผม จำได้ว่าตอนนั้น อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารไฮ-คลาสเรื่องนี้ว่า 1) แกไม่เห็นด้วยกับการที่สำนักพิมพ์มติชนยอมเก็บหนังสือ มันเป็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ และแกยืนยันสิ่งนั้นโดยหลักการ แต่ 2) แกเข้าใจได้ว่าทำไมคนโคราชจึงรู้สึกโกรธ แม้ว่าอาจไม่ทันได้อ่านหนังสือเลยก็ตาม แกบอกว่าถ้าเป็นแก แกก็ยินดีจะขอโทษ เพราะแกไม่ได้ตั้งใจจะไปทำร้ายจิตใจพวกเขา ในเมื่อพวกเขาเจ็บปวดจิตใจจากเรื่องเหล่านี้ ก็คนด้วยกัน เราไปทำเขาเจ็บโดยไม่ตั้งใจ เราก็ขอโทษก็ได้ ขนาดเหยียบตีนโดยไม่ตั้งใจ เรายังขอโทษได้เลย ฯลฯ อะไรทำนองนั้น

ผม อาจจะผิดก็ได้ที่คิดแบบนี้ แต่ผมคิดว่าในโลกสังคมที่เราอยู่ ต้องหาดุลที่พอเหมาะระหว่างเสรีภาพกับชุมชน เสรีนิยมมีคุณค่าสำคัญของมัน แต่ผมคิดว่ามันก็มีขีดจำกัดบางอย่างในการแก้ปัญหาของโลกและสังคมหากยึดอยู่ แต่กับมันอย่างเดียว

ใคร บางคนเคยเขียนไว้ทำนองว่า Community without freedom means serfdom but freedom without community is madness. (ชุมชนที่ปราศจากเสรีภาพย่อมไม่สามารถหลุดพ้นจากความเป็นทาส แต่เสรีภาพอันปราศจากชุมชนย่อมหมายถึงความบ้าคลั่งวิกลจริต - มติชนออนไลน์)

อยากชวนให้คุณ...ลองคิดดูนะครับ

***************************
สำหรับศาสตราจารย์  ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม   เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย   เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

Credit: Matichon Online
16 พ.ค. 55 เวลา 09:43 3,018 3 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...