วงการบันเทิงโสกสิ้นม.จ.ทิพยฉัตร

   

 

 

ราชนิกูล อดีตผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรชัย สิ้นชีพิตักษัยแล้ว ด้วยพระชันษา 75 ปี หลังประชวรด้วยโรคพาร์คินสันมานาน 15 ปี “หม่อมอรศรี” ผู้เป็นชายา เผยพระอาการทรุดเมื่อ 5 ปีก่อน จนทรงพระดำเนินไม่ได้ บำเพ็ญกุศลพระศพที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ด้านซูเปอร์สตาร์ “เบิร์ด ธงไชย” เศร้า สิ้นบุคคลสำคัญของวงการหนังไทยโรแมนติก เผยถวายของบำรุงเยี่ยมไข้ “ท่านทิพย์” ตลอด จนทราบข่าวร้าย รู้สึกเสียใจมาก ขณะที่โรคหลอดเลือดหัวใจ-ไตวายคร่าชีวิตอดีตผู้ว่าฯ กทม.-ศิลปินแห่งชาติ “ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” ด้วยวัย 78 ปี ตั้งสวดบำเพ็ญกุศลวัดเบญจมบพิตรฯ เผยผลงานออกแบบอาคารในฐานะสถาปิกสุดยิ่งใหญ่ ทั้ง สนง.ใหญ่แบงก์กรุงเทพ, ห้างมาบุญครอง, เซ็นทรัล ฯลฯ

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้อยตรี ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรไชย หรือฉัตรชัย ได้สิ้นชีพิตักษัยอย่างสงบที่บ้านพักบุญโต 6 อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ด้วยพระชันษา 75 ปี โดยหม่อมอรศรี ฉัตรไชย ณ อยุธยา ชายาในร้อยตรี ม.จ.ทิพยฉัตร เปิดเผยว่า ร้อยตรี ม.จ.ทิพยฉัตร สิ้นชีพิตักษัยเมื่อช่วงสายของ  วันที่ 13 ม.ค. หลังจากประชวรด้วยโรคพาร์คินสันเป็นระยะเวลา 15 ปี และพระอาการทรุดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทรงพระดำเนินไม่ได้ จนช่วงเช้าวันนี้เวลาประมาณ 06.00 น. ได้ถวายอาหารทางสายยางตามปกติ ก็ยังไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด จนช่วงสายจึงพบว่าท่านสิ้นชีพิตักษัยแล้ว อย่างไรก็ตามได้มีกำหนดตั้งพระศพบำเพ็ญกุศล วันที่ 14 ม.ค.นี้ ที่ศาลา 8/2 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน
   
ด้านนักร้องซูเปอร์สตาร์ “เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์” กล่าวถึงความรู้สึกที่มี  ต่อ “ท่านทิพย์” ว่า “ท่านเป็นผู้มีพระคุณ  สำหรับเบิร์ด เพราะเบิร์ดเล่นหนังของท่านเป็นเรื่องที่ 2 ของชีวิต เบิร์ดทราบข่าวว่าท่านประชวร และก็ติดตามข่าวโดยตลอด เบิร์ดเอาใจช่วยท่านตลอดมา และได้ฝากของบำรุงเยี่ยมถวาย พอทราบว่าท่านหลับไปแล้ว เบิร์ด  รู้สึกเสียใจมาก เพราะว่าเราสูญเสียบุคคลสำคัญของวงการหนังไทยที่โรแมนติกที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฉากรัก หรือฉากเสียใจ ดูแล้วมีแต่รอยยิ้มกับความรักตลอดเวลา ท่านทิพย์เป็นศิลปินมาก ๆ อารมณ์ของท่านสวยงามตลอดเวลา ท่านเป็นเจ้านายที่ทรงเมตตากับทุกคน ขอให้ท่านได้พักผ่อนอย่างสบาย ท่านทิพย์จะอยู่ในความทรงจำของเบิร์ดตลอดไป”
   
อดีตพระเอกหนุ่มชื่อดัง บิณฑ์ บรรลือ ฤทธิ์ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจมากที่ไม่มีโอกาสไปกราบท่านตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่จริง ๆ ตั้งแต่ท่านป่วย ตั้งใจจะไปเยี่ยมท่านหลายครั้งแล้ว แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีนักแสดงหลายคนไปเยี่ยมท่าน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เจอท่านแต่อย่างใด เพราะท่านไม่อยากให้เห็นตอนที่ท่านประชวร ตอนนี้ท่านก็สิ้นแล้ว ตั้งใจว่าจะไปกราบพระศพของท่านอย่างแน่นอน ที่ผ่านมาตนมีโอกาสร่วมงานกับท่านในภาพยนตร์เรื่อง “จงรัก” และ “ด้วยรักและคิดถึง” ท่านน่ารักมาก ไม่ถือพระองค์เลย เวลาพูดคุยกันไม่จำเป็นต้องใช้ราชาศัพท์ และไม่ว่าท่านเสวยอะไรนักแสดงและทีมงานก็กินเหมือนท่าน ท่านทำงานแบบเป็นธรรมชาติทำให้ตนและนักแสดงคนอื่นไม่เกร็ง
   
ขณะที่นักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือ อ้อย-กาญจนา จินดาวัฒน์ กล่าวว่า ไม่มีใครอยากให้ท่านจากไป แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ต่อไปนี้คงจะไม่มีโอกาสได้เห็นท่านอีกแล้ว แต่ตนเชื่อว่าภาพของท่านจะยังคงอยู่ในใจของทุกคนเสมอ ที่ผ่านมาท่านป่วยมานาน พวกเราก็ไม่สามารถช่วยท่านได้ ตอนนี้ท่านหมดทุกข์แล้ว ขอให้ท่านหลับให้สบาย ตนมีโอกาสได้ร่วมงานกับท่านในภาพยนตร์เรื่อง “ด้วยรักและผูกพัน” และ “หากจะรักใครสักคน” ท่าน เป็นผู้กำกับที่เก่งมาก จะคอยสังเกตดูว่านักแสดงแต่ละคนเป็นอย่างไร แล้วจะให้เล่นตามสไตล์ของแต่ละคนให้เป็นธรรมชาติ เป็นอารมณ์ของมนุษย์ปุถุชนจริง ๆ เป็นสาเหตุให้คนชื่นชอบผลงานของท่าน เพราะท่านสร้างงานได้เข้าถึงอารมณ์ผู้ชม ดูกี่ครั้งก็ไม่รู้เบื่อ
   
สำหรับ ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรไชย ระบุ ชื่อในเครดิตภาพยนตร์ว่า “ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรชัย” ประสูติเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2477 เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุร ฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ประสูติแต่หม่อมเอื้อม อรุณทัต เสกสมรสกับนางจารุศรี รัตนวราหะ และมีหม่อมอีก 2 คน คือ มัณฑนา บุนนาค และอรศรี ลีนะวัต ผลงาน ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรไชย ทรงมีผลงานกำกับภาพยนตร์ และเขียนบทภาพยนตร์มากมาย ช่วงแรก ๆ เน้นแนวบู๊ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นแนวรักโรแมนติกของหนุ่มสาว ทุกเรื่องจะเน้นทิวทัศน์สวยงาม และมีเพลงประกอบที่มีความไพเราะ อาทิ รักนี้เราจอง, แล้วเราก็รักกัน, ด้วยรักคือรัก, อีกครั้ง, ด้วยรักและผูกพัน, หากคุณรักใครสักคน, จงรัก, ด้วยรักและคิดถึง, ด้วยรักไม่รู้จบ ฯลฯ ระยะหลัง ม.จ.ทิพยฉัตร ทรงหันไปทำงานเบื้องหลัง เป็นนักแปลบทภาพยนตร์ต่างประเทศ และทรงทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพมังสวิรัติ ชื่อ “บ้านสีม่วง” กับหม่อมอรศรี พระชายา
   
อีกด้านหนึ่ง นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา อายุ 49 ปี บุตรชายของ ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เปิดเผยว่า บิดาถึงแก่กรรมแล้วเมื่อวันที่ 12 ม.ค. เวลา 18.36 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านมีโรคประจำตัวคือหลอดเลือดหัวใจ เข้ารับการรักษา และผ่าตัดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2552 แต่อาการไม่ดีขึ้น และอยู่รักษาต่อเนื่องเรื่อยมา จนล่าสุดเมื่อ 2 วันก่อน คุณพ่อมีอาการไตวายเข้ามาแทรกซ้อน ทำให้ร่างกายติดเชื้อ ส่งผลให้ความดันโลหิตในร่างกายต่ำลง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยจะตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
   
นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในฐานะปลัดกทม.รู้สึกเสียใจกับการจากไปของ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ท่านเคยเป็นผู้ว่าฯ กทม. ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 19 เม.ย. 2535 ถึง 18 เม.ย. 2539 ก่อนหน้านั้นเคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.สมัยพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน ด้วยความที่ท่านเคยเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างคุณูปการต่อกทม.และมีผลงานโดดเด่นให้กับกทม.มากมาย เช่น การจัดทำร่างกฎหมายผังเมืองกทม.เป็นครั้งแรก การก่อสร้างโครงการด้านกายภาพต่าง ๆ เช่น การสานต่อและผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่บีทีเอสได้รับสัมปทานอยู่ การก่อสร้างศาลาว่าการกทม.2 การก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น
   
“ท่านถือเป็นผู้มีวิสัยทัศน์พัฒนาเมืองที่ยอดเยี่ยม การจากไปของท่านเป็นการสูญเสียบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ผมทราบข่าวว่าท่านเข้าโรงพยาบาล เพราะลื่นล้มในห้องน้ำเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. มอบหมายให้ผมไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลทันทีในวันแรก จากนั้นผ่านมา 1 เดือน จึงทราบข่าวการเสียชีวิต อย่างไรก็ตามทางสำนักปลัดกทม.ประสานไปทางครอบครัวเพื่อให้กทม. เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ 1 คืน”
   
สำหรับประวัติ ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2475 สิริอายุ 78 ปี เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2503-2532) และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็น อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม อดีตอุปนายกสภาสถาปนิกเอเซีย (ARCASIA), อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.ฝ่ายโยธา (พ.ศ. 2533-2535) และผู้ว่าฯ กทม.โดยการสนับสนุนของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.คนก่อน ได้รับปริญญา สถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2551 จากการเสนอของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
   
ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา มีผลงานด้านสถาปัตยกรรมมากมาย ปฏิบัติงานในหน้าที่สถาปนิก และประธานกรรมการบริษัท คาซ่า จำกัด โดยผลงานสำคัญ อาทิ ต่อเติมพระราชฐานในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ถนนสีลม,ห้างสรรพสินค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ สี่แยกปทุมวัน, ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล, ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา, อาคารสินธร ถนนวิทยุ, อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ ถนนพระรามที่ 4, อาคารใหม่สวนอัมพร, อาคารสำนักงานใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิต, อาคารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ.

Credit: วงการบันเทิงโสกสิ้นม.จ.ทิพยฉัตร
15 ม.ค. 53 เวลา 03:28 1,451 1 8
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...