หลังความตายของ อากง ผู้คนจำนวนมากอยากได้ยินความรู้สึกจากปาก สมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัว มาร์ค-อภิสิทธิ์ เจ้าของมือถือ ผู้แจ้งความเอาผิดจนชายชราวัย 61 ต้องติดคุก 20 ปี ก่อนได้ออกมาด้วยร่างไร้วิญญาณ
“อากง“ ถูกตั้งข้อหาส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ ว่าเป็นข้อความที่มีเนื้อหาไม่สมควรเผยแพร่ มีเจตนาจ้องหมิ่นสถาบัน
หนึ่งในผู้รับข้อความ ที่ชื่อว่า “สมเกียรติ ครองวัฒนสุข” เลขานุการส่วนตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับ 4 ข้อความ และนำกรณีดังกล่าวเข้าแจ้งความ จนนำไปสู่การตัดสินของศาล
จากแฟ้มประวัติของ “สมเกียรติ ครองวัฒนสุข” ชายวัย 39 ปี ระบุว่า เขา ปรากฏตัวตนอย่างเป็นทางการ เมื่อคณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ( 18 ม.ค. 2554) มีมติแต่งตั้งนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง โดยตำแหน่งเดิมเป็นของนางอัญชลี วานิช เทพบุตร ที่ขยับขึ้นเป็นเลขาธิการนายกฯ
แน่นอนว่า เหตุผลหนึ่งก็คือ เขาเป็นหนึ่งในคนสนิทของนายอภิสิทธิ์
ชื่อของ สมเกียรติ เคยปรากฏอยู่ในคลิปพูดคุยโทรศัพท์กับคนสนิทของนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.
พรรคประชาธิ ปัตย์ ระหว่างเดินทางจากฝั่งไทยข้ามไปยังเขตแดนกัมพูชา จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุม
จากคนทำงานเบื้องหลัง กลายเป็นคนที่สังคมวงกว้างรู้จักทันที เพราะคลิปจากยูทูบดังกล่าว
ประวัติ สมเกียรติ ครองวัฒนสุข
สมเกียรติ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อ 23 มกราคม 2515
ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์
ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทำงานติดสอยห้อยตามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตำแหน่งเลขานุการส่วนตัว มาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน
เป็นผู้ช่วยส.ส. และเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว
ธ.ค.2552 ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราช การการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ก่อนขยับขึ้นเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง
และยังทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัวเหมือนเดิม พร้อมรับหน้าที่ดูแลงานด้านไอทีให้ด้วย
หลัง “อากง” ถูกตัดสินจำคุก นายสมเกียรติ แสดงความเห็นต่อสาธารณะ โดยเป็นการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า
…“วันนี้เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งเขาเรียนนิติศาสตร์ เคยทำงาน ITV และชื่นชมทักษิณ แต่เราไม่คุยกันมา 5 ปีแล้ว เขาส่ง smsมาว่า”คุณ…ด้วยความเคารพ ผมว่าเรื่องนี้ (คงหมายถึงเรื่องที่อากงส่ง sms หมิ่นสถาบันโดนศาลตัดสินติดคุก 20 ปี) อาจนำมาซึ่งความคิดขัดแย้งครั้งใหญ่กว่าที่เคยมีมานะ คุณยังพอแก้ไขอะไรได้มั้ย”
เห็นข้อความที่ส่งมาแล้วรู้สึกสงสารประเทศไทยที่คนเรียนจบกฎหมายแต่มีความคิดแบบนี้เข้าใจว่าเป็นห่วงไม่อยากเห็นความขัดแย้งในสังคมแต่ไม่เห็นถามถึงความรุนแรงของsms ที่หมิ่นสถาบันหรือไม่สนใจเหตุผลว่าทำไมถึงโดนติดคุกถึง 20 ปี ซึ่งเขาส่ง sms มา 4 ครั้งศาลก็นับเป็น 4 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมเป็น 20 ปี นี่คือข้อเท็จจริง
ส่วนเรื่องที่เค้าติดคุกผมก็ไม่ได้เป็นคนไปทำให้เขาติด ถ้าเขาไม่ได้ส่งจริงก็สามารถหาหลักฐานมาหักล้างได้ผมเคยถูกศาลเรียกให้ไปเป็นพยานโจทก์ ผมก็แค่เล่าไปตามข้อเท็จจริง ว่ามีคนส่ง sms หมิ่นสถาบันแบบนี้ ไม่เคยรู้จักคนส่ง ไม่ทราบถึงเหตุผลแล้วผมก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไรในคดีอีกเลย เป็นเรื่องของทางศาล
แน่นอนว่าคนเสื้อแดงก็พยายามจะนำคดีนี้มาใช้ประโยชน์ในการจุดประเด็นความขัดแย้ง ทั้งอ้างว่าอากงแก่ขนาดนี้ส่ง sms ไม่เป็นบ้าง คดีฆ่าคนตายยังติดคุกไม่ถึง 20 ปี ฯลฯแล้วก็พยายามจุดชนวนไปถึงว่า ควรยกเลิก ม.112
ตกลงสังคมไทยไม่ได้อยู่กันด้วยเหตุผล ด้วยหลักฐานและด้วยความถูกต้องแล้วหรือ แต่ใครที่พยายามจะใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายแล้วก็ทำให้คนในสังคมกลัว เราก็ต้องยอมศิโรราบไปเสียหมดเลยหรือ
ผมไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสังคมไทยจะขัดแย้งหรือแตกแยกกันครั้งใหญ่กว่าที่เคยมีมาโดยมีสาเหตุจากคดีนี้หรือเปล่าแต่หากมันจะเกิดขึ้นจริงพวกเราก็น่าจะพึงสังวรณ์ได้ว่า ผมไม่ได้เป็นคนจุดชนวนแต่เพราะคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคารพกฎหมาย และพยายามจะใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายอะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิดครับ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุผลและที่มาที่ไปเพียงแต่เราจะยอมรับความจริงกันได้หรือเปล่าและบ่อยครั้งที่ความจริงมักทำให้เราเจ็บปวด
ถ้า sms ที่ส่งมาเตือนผมเพื่อให้กลัวเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วให้ผมไปบอกตำรวจหรือศาลว่าผมแจ้งความเท็จ ทั้งๆที่มีหลักฐานที่ส่งมาอย่างชัดเจนโดยที่เรื่องการสืบสวนหาคนผิดไม่ใช่หน้าที่ผมผมก็ไม่สามารถไปยับยั้งอะไรได้ผมคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
ถ้าผมจะกลัวก็กลัวที่ตัวเองจะไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า ใครทำเช่นไรก็ย่อมได้รับกรรมเช่นนั้น และถ้าผมเลือกที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วแต่ไม่ถูกใจใครหลายคนรวมถึงคุณแม้อาจจะเป็นเหตุให้คุณเลิกคบผมเป็นเพื่อน
ผมก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า “ยังไงผมก็เลือกที่จะยืนอยู่ข้างความถูกต้องแม้จะต้องเจ็บปวดกับสิ่งที่เลือก”…
นี่คือ จุดยืนและการตัดสินใจเลือกของสมเกียรติ มหาบัณฑิตจากธรรมศาสตร์