ชาวบ้านแห่ลุยป่าโคกภูตากาค้นหาเห็ดเรืองแสง นำไปขายให้ผู้นิยมจัดสวนประดับดอกละ 500 – 1,000 บาท นักวิจัยวอนตำรวจห้ามปรามจับกุมดำเนินคดี หวั่นสูญพันธุ์
จากกรณีคณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงผลวิจัย “เห็ดเรืองแสง” ที่มีแสงเรืองรองเป็นสีเขียวในที่มืดหรือในเวลากลางคืน อันเป็นปรากฏการณ์เรืองแสงเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในพืชและสัตว์บางชนิด เช่น หิ่งห้อย โดยเห็ดเปล่งแสงได้โดยไม่ปล่อยความร้อนออกมา เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ไบโอลูมิเนสเซนซ์ พบครั้งแรกในประเทศไทยในพื้นที่โคกภูตากา อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่นนั้น
ความคืบหน้า เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (30 เม.ย.) รศ.ดร.วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า ขณะนี้บริเวณพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พื้นที่โคกภูตากา ที่มีเห็ดเรืองแสงจำนวนมาก มีชาวบ้านกว่า 200 คน เข้าป่าโคกภูตากาเพื่อค้นหาเห็ดเรืองแสงมาทำสวนประดับ หรือนำมาขายดอกละ 500 – 1,000 บาท อยากให้ส่วนราชการหรือตำรวจช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้เห็น เพราะหากไปเก็บกันหมดอาจจะสูญพันธุ์ได้ ตำรวจควรห้ามปรามหรือจับกุมผู้ที่ไปหาเห็ดเรืองแสงมาขาย
รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เห็ดเรืองแสงตามปกติจะเป็นเห็ดพิษ และมีรายงานในต่างประเทศว่าเห็ดเรืองแสงสร้างสารพิษหลายชนิด ไม่สามารถรับประทานได้ จึงอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อใช้สารพิษเห็ดเรืองแสงควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในมะเขือเทศ รวมทั้งมีรายงานจากต่างประเทศว่าเห็ดเรืองแสงในสกุลอื่นๆ มีสารบางชนิดที่บำบัดโรคมะเร็ง และยับยั้งการดื้อสารแอนตี้ไบโอติกส์ได้ จึงเร่งวิจัยในประเด็นนี้ด้วย
ด้านศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การค้นพบเห็ดเรืองแสงที่โคกภูตากา เป็นป่าเต็งรังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาถูกชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางทำกิน จึงประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช และถวายเป็นโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2542 เป็นต้นมา จนกระทั่งปี 2545 ทีมนักวิจัยฯ เดินทางไปสำรวจพื้นที่โคกภูตากา เพื่อศึกษาถึงความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดในพื้นที่โคกภูตากา ได้ค้นพบเห็ดเรืองแสง พบว่าเป็นเห็ดในยุคดึกดำบรรพ์ถือเป็นการพบครั้งแรกในประเทศไทย ในการค้นพบเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ เป็นเห็ดที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดนางรม จัดเป็นเห็ดมีพิษ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neonothopanus nambi พบได้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกหนักในรอบปีช่วงเดือนก.ย. – ต.ค. โดยขึ้นบนรากไม้หรือกิ่งไม้ที่ตายเป็นกลุ่มๆ ละ 4 -5 ดอก มีแสงเปล่งออกมาเวลากลางคืนเท่านั้น มองเห็นได้จากระยะไกล 10 - 20 เมตร
นอกจากความสวยงามของเห็ดเรืองแสงแล้ว ยังเป็นความแปลกใหม่หากนำมาใช้จัดตกแต่งสวนยามค่ำคืน หรือนำไปตัดต่อเอายีนจากเห็ดเรืองแสงไปส่งถ่ายในต้นไม้ตามแนวถนนเมื่อเปล่งแสงในตอนกลางคืน เพิ่มทัศนวิสัยที่ดีในการมองเห็น และประหยัดพลังงานไฟฟ้าส่องสว่างตามถนนได้.