ชายหนุ่มหน้าตาดี รูปร่างดีในรูป ที่กำลังทำความสะอาดสระว่ายน้ำในบ้านหลังหนึ่ง เป็นหนึ่งในพนักงานทำความสะอาดที่ติดอันดับป๊อปปูลาร์ มีลูกค้า "จองตัว" มากที่สุดคนหนึ่งของบริษัทแนชเชอรัล คัมปานี ในกรุงเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งทำธุรกิจจัดส่งพนักงานเปลือย และกึ่งปลือยรับจ้างทำงานหลายประเภท ตั้งแต่งานทำความสะอาด ช่างซ่อมประปา พ่อครัว เป็นเพื่อนเฮฮาในงานปาร์ตี้ ฯลฯ ด้วยค่าจ้างครั้งละ 400 แรนด์ หรือประมาณ 2,060 บาท โดยหลังจากเปิดกิจการมาได้เพียง 2-3 เดือน ก็มีลูกค้าจองเรียกใช้บริการเข้ามาเฉลี่ยวันละ 2 ราย ลูกค้าที่เรียกใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาว วัยกลางคน มีฐานะร่ำรวย
จากที่การเปลื้องผ้าเคยเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ปัจจุบันที่กรุงเคปทาวน์ และเมืองโยฮันเนสเบิร์ก เริ่มมีธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น ทั้งบริษัทจัดส่งพนักงานคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่กฎหมาย ฯลฯ และโรงแรมเปลือย ที่พนักงานในโรงแรมจะทำงานในสภาพเปลือยกายล่อนจ้อน หรือสวมใส่เสื้อผ้าเพียงน้อยชิ้นเท่านั้น
แคร์ริงตัน ลอห์ตัน ประธานสมาคมคนเปลือยแห่งแอฟริกาใต้ บอกว่า นับแต่ทัศนคติเรื่องการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้เริ่มดีขึ้น และประเทศเริ่มเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ทัศนคติที่ผู้คนเคยมีต่อการเปลือยกายก็เริ่มดีขึ้น แม้ว่าการแก้ผ้าในที่สาธารณะยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างตอนนี้ ในสมาคมคนเปลือยก็มียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 130 คน ในปี 2552 กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 8,000 คนในปัจจุบัน โดยสมาชิก 1 ใน 4 เป็นคนผิวสี และ 60% เป็นผู้ชาย ส่วนสมาชิกซึ่งเป็นคนผิวขาว ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งชาวฮอลแลนด์
"เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การแก้ผ้าเป็นเรื่องต้องห้ามมาก และผู้คนแทบไม่เคยพูดถึงกันเลย แต่ตอนนี้กาลเวลามันเปลี่ยนไปแล้ว" แคร์ริงตันบอกว่า เป็นเพราะเมื่อก่อนกลุ่มคนที่มีอำนาจปกครองประเทศ เป็นพวกหัวอนุรักษ์ ทำให้นโยบายในการปกครองประเทศจึงออกมาในรูปแบบนั้น แต่เมื่อตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป บางสิ่งบางอย่างจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมา
ฌอง ปอล รีด หนุ่มเคปทาวน์วัย 29 เจ้าของบริษัทแนชเชอรัล คัมปานี ซึ่งเปิดกิจการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เล่าว่า ตอนนี้เขามีคนมาลงชื่อขอทำงานพาร์ตไทม์ (นอกเวลา) กับเขาแล้ว 75 ราย มีทั้งพนักงานคอมพิวเตอร์ นักเรียนกฎหมาย พ่อครัว ที่ยังหางานประจำทำไม่ได้ และเต็มใจจะแก้ผ้าทำงาน
"ผมพูดได้เลยว่า พนักงานของผม 9 ใน 10 คนแก้ผ้าทำงาน มีเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่ไม่รับงานที่ต้องแก้ผ้าหมด"
อย่างไรก็ตาม รีด ก็ยืนยันว่า ถึงแม้จะแก้ผ้าทำงาน แต่พนักงานของเขาไม่มีการขายบริการทางเพศ และงานหนึ่งที่เขาไม่ยอมรับแน่นอนก็คือ ครูที่เปลือยกายไปสอนพิเศษนักเรียน
"เราต้องมีขอบเขต มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเหมือนกัน และผมขอยืนยันว่า ไม่มีเรื่องเซ็กซ์มาเกี่ยวข้องแน่นอน"
ขณะที่ มาร์ค เทย์เลอร์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ และภรรยา ซึ่งทำธุรกิจโรงแรมเปลือยในประเทศกรีซ พอเห็นลู่ทางการทำธุรกิจเปลือยในแอฟริกาใต้ ก็มาเปิดโรงแรมเปลือยชื่อว่า Vasnat ใกล้กับกรุงเคปทาวน์ เมื่อเดือนธันวาคมก็ว่า ช่วงซัมเมอร์นี้ เขามีลูกค้าจองห้องพักเข้ามามากมาย ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป 71% อีก 21% เป็นคนแอฟริกาใต้ เทย์เลอร์ ก็ยืนยันเช่นกันว่า ธุรกิจของเขาไม่ได้มุ่งขายเซ็กซ์
"พอคนเห็นว่าแก้ผ้า ก็คิดไปว่ามันต้องเป็นเรื่องเซ็กซ์ แต่ความจริงไม่ใช่เลย นี่เป็นเพียงกลุ่มคนที่มีความสุขกับการแก้ผ้านอนอาบแดดเท่านั้นเอง"