ดังที่ทราบกันดีว่าหน่วยงานของรัฐได้ออกนอกระบบราชการมาเกือบ 10 ปีแล้ว ฉะนั้นเพื่อความอยู่รอดในการดำรงอยู่ของหน่วยงานต่าง ๆ จึงต้อง "เลี้ยงตัวเอง" มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการศึกษาวิจัยและให้บริการทางการแพทย์ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้อง เลี้ยงดูตัวเอง
ครั้นจะเพิ่มค่าหน่วยกิต หรือขึ้นค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราชก็เป็นไปไม่ได้
ด้วย เหตุนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์" (หรือ SiPH) หวังจะนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่รักษาในโรงพยาบาลศิริราชและคณะ แพทยศาสตร์
วัตถุประสงค์อีกประการคือ อยากสร้างให้เป็นโรงพยาบาลนำร่องในความเป็นเลิศในบริการทางการแพทย์ สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อธำรงไว้ซึ่งคณะแพทย์ชั้นนำของประเทศที่เชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือที่สุด
ทั้งนี้ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จะเน้นบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและอัพเกรดการบริการให้เทียบเท่าโรง พยาบาลเอกชน ซึ่งหมายถึงค่าบริการที่เพิ่มขึ้นด้วย รวมไปถึงโรคที่รักษาจะเน้นไปที่โรคซับซ้อนและยุ่งยากเป็นหลัก และคนไข้ที่ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลอื่น ๆ อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า ด้านการบริการเน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว บริการด้วยความใส่ใจและอบอุ่นเหมือนครอบครัวเดียวกัน และที่สำคัญ คุณค่าที่ผู้รับบริการจะได้รับเพิ่มนอกเหนือจากการบริการคือ การที่ได้เป็นทั้ง "ผู้รับและผู้ให้"
"แม้จะมีการบริหารแบบเอกชน แต่จะไม่มีผู้ถือหุ้น กำไรที่ได้จะนำกลับไปสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลย้ำถึงประสิทธิภาพที่เหนือกว่าโรงพยาบาลทั่วไป นอกจากจะมีอาจารย์แพทย์ชั้นนำของคณะแพทยศาสตร์มาประจำอยู่ที่โรงพยาบาล ยังมีอาคารใหม่ และอุปกรณ์ล้ำสมัยครบครัน เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและบริการ และที่สำคัญยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีภูมิทัศน์ที่งดงาม ผู้ป่วยจะได้พักฟื้นอย่างปลอดโปร่ง
อาคารโรงพยาบาลออกแบบอย่างทัน สมัย เน้นประโยชน์การใช้งาน มีพื้นที่จอดรถมากกว่า 1,000 คัน ภายในอาคารประกอบด้วยห้องบริการผู้ป่วยนอก 177 ห้อง ห้องผ่าตัด 17 ห้อง ห้องผู้ป่วย 284 ห้อง หอผู้ป่วยวิกฤต 61 ห้อง พร้อมด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เครี่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เครื่องเร่งอนุภาค (LINAC) คือเครื่องฉายรังสีเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในปัจจุบัน มีความแม่นยำสูง และสามารถรักษาได้ทุกส่วนของร่างกายแม้อวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก โดยที่มีผลแทรกซ้อนจากปริมาณรังสีน้อยมาก ถึงในปัจจุบันมีอยู่ 3 เครื่องในประเทศ
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่จะสามารถเปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ในพื้นที่ประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่อาคารทั้งหมดในปีแรก คือวันที่ 26 เมษายน 2555 เปิดให้บริการเป็นร้อยละ 50 ในปีที่สอง และครบทั้งหมดในปีที่สาม
ปี แรกนี้จะเริ่มให้บริการในสาขาอายุรกรรมทั่วไป ศัลยกรรมทั่วไป และแพทย์เฉพาะทางในกลุ่มโรคต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจ ประสาทและสมอง เบาหวาน ไต กระดูกและข้อ ทางเดินอาหารและตับ ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
สำหรับ ค่าบริการทางการแพทย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ชี้แจงว่า ค่าแพทย์คิดที่ 500 บาท ค่าห้องพักผู้ป่วยพิเศษ 2,500-3,500 บาท บวกกับค่าบริการอื่น ๆ อีก 2,000 บาท ส่วนค่าอุปกรณ์การแพทย์อื่นก็ถูกกว่าเอกชน
นอกจากนี้ หากใครสนใจอยากทราบถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยซับซ้อนเป็นอย่างไร สามารถหาคำตอบได้ในงานเสวนาน่ารู้ "คนไทยกับโรคซับซ้อน" โดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในวันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2555 เวลา 13.30-15.30 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ถนนพรานนก