สุดยอด! จิตรกรไร้แขนใช้เท้าวาดภาพ คว้าปริญญาตรี
ความผิดปกติของร่างกายไม่ใช่อุปสรรคที่จะขัดขวางการสร้างความก้าวหน้าให้ชีวิต อย่างเช่นเรื่องราวของ เอกชัย วรรณแก้ว หนุ่มไร้แขนทั้งสองข้าง แต่เขากลับสามารถสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะได้อย่างยอดเยี่ยม และเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ชายหนุ่มคนนี้เพิ่งจะคว้าปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง มาครอบครองได้สำเร็จ ทางรายการเจาะข่าวเด่น ซึ่งดำเนินรายการโดยสรยุทธ สุทัศนะจินดา จึงขอพาทุกคนไปร่วมแสดงความยินดีกับเขา
โดยเอกชัย เล่าว่า อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยและเพื่อน ๆ เรียกเขาว่า มนุษย์เพนกวิน ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นคำที่น่ารักดี ไม่ได้คิดว่าเป็นปมด้อยอะไร ส่วนครอบครัวก็เลี้ยงมาอย่างปกติ คือพยายามให้เขาหัดดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองก่อน ถ้าเห็นว่าเขาทำไม่ได้ก็จะเข้ามาช่วยทีหลัง ซึ่งก็ทำให้เขาดิ้นรนมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะช่วงพยายามหัดเดินที่เจ็บตัวมาก เวลาล้มไม่มีมือค้ำพื้นไว้เหมือนคนอื่น หน้าก็ฟาดพื้น ปากแตก หัวแตกทุกวัน
ด้านคุณแม่นพ วรรณแก้ว คุณแม่ของเอกชัย เล่าว่า ตอนลูกชายเกิดมาตัวเล็กนิดเดียว หนักไม่ถึงหนึ่งกิโลกรัม ไม่มีแขนทั้งสองข้าง ส่วนขาก็มีงอกมานิดเดียว ใคร ๆ ก็พูดว่าไม่น่าเลี้ยงรอด แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ ตอนเล็ก ๆ ลูกชายคนนี้เลี้ยงยากมาก เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า แต่โชคดีพอโตขึ้นมาหน่อยก็ไม่ป่วยแล้ว
"สมัยก่อนเคยคิดว่าถ้าเราตายไปก่อน เขาจะดูแลตัวเองอย่างไร แต่พอมาตอนนี้เขากลับใช้ความสามารถของเขา ออกไปวาดรูปตามงานต่าง ๆ ได้รายได้มาช่วยปลดหนี้ ธ.ก.ส.ให้แม่ และยังปลูกบ้านหลังใหม่ให้ครอบครัวด้วย แถมยังส่งเสียเงินให้แม่ทุกเดือนจนใคร ๆ หลายคนพูดกันว่า นี่แหละคนดีไม่ได้พึ่ง พึ่งคนพิการ" คุณแม่บอก
กลับมาถามเอกชัยเรื่องการวาดภาพบ้าง เขาเล่าว่า ได้ฝึกวาดภาพด้วยตัวเอง โดยใช้เท้าคีบกิ่งไม้บ้าง ไม้เสียบลูกชิ้นบ้าง ลองขีด ๆ เขียน ๆ บนพื้นดินดู จากนั้นก็ได้มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือเหมือนเด็กคนอื่น ๆ แต่ก็เกือบจะไม่ได้เรียนเหมือนกัน เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนไม่รับเขาเข้าเรียน เนื่องจากเห็นว่าเป็นคนพิการ แต่สุดท้าย เขาก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเพราะพ่อและแม่ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด จนได้เข้าเรียนในที่สุด
หลังจากเรียนจบอนุปริญญาตรี ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์แล้ว เอกชัย ก็ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ท่านหนึ่งให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง เพื่อจะได้เรียนศิลปะตามที่เขาชื่นชอบ เอกชัย จึงลองไปสอบที่โรงเรียนเพาะช่าง แต่เขาสอบไม่ติด โชคดีที่เจออาจารย์ท่านหนึ่งให้ความเมตตากรุณา เสนอเรื่องต่อโรงเรียน เขาจึงได้เรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง
เมื่อถามว่าการเรียนเพาะช่างยากไหม จิตรกรไร้แขน ยอมรับว่า ยากมากแต่ก็ต้องเรียน เพราะอยากลบคำสบประมาทของหลาย ๆ คนที่เคยพูดกับพ่อแม่ไว้ว่า จะส่งเขามาเรียนทำไม เรียนไปก็ไม่จบ จบไปก็ไม่มีงานทำ คนอย่างนี้ใครเขาจะเอาไปทำอะไร แต่แม่ก็พยายามให้กำลังใจ บอกให้เราพยายามมาโดยตลอด ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เราสามารถทำได้สำเร็จ
"เราต้องทำมากกว่าคนอื่น เช่นคนอื่นทำสองชั่วโมงเราต้องทำมากกว่านั้น เพราะศักยภาพเรามีจำกัด" เอกชัย บอก
เทคนิคส่วนตัวในการวาดภาพของเอกชัย ก็คือการพลิกภาพเขียนกลับฟ้ากลับดิน เพราะบางครั้งภาพมีขนาดใหญ่เกินความสูงของเขา เขาก็ต้องวาดภาพช่วงล่างให้เสร็จเสียก่อน จึงค่อยหมุนพลิกภาพด้านบนกลับลงมาวาดภาพในลักษณะกลับหัว ซึ่งถือว่ายาก เพราะต้องจำเฉดสี จำทุกอย่างให้ได้ ภาพจึงจะปะติดปะต่อเป็นภาพเดียวกัน และจากประสบการณ์รวมทั้งการฝึกฝน ก็ทำให้เขาสามารถเขียนภาพได้ด้วยการใช้ทั้งเท้า ปาก คอ และยังนำเทคนิคเหล่านี้ไปสอนเด็ก ๆ พิการ ที่มีใจรักการวาดภาพอีกด้วย
เอกชัย บอกว่า บางครั้งเขาก็ท้อ ซึ่งถ้าท้อก็หยุด แต่พอหายเหนื่อยแล้วก็กลับมาเขียนใหม่ คือเหนื่อยได้แต่ไม่หยุด มีแรงต้องเขียนต่อ ทุกคนต้องมีวันที่หมดกำลังใจ แต่เราต้องคิดว่าจะเอากำลังใจของเรากลับคืนมาได้อย่างไร ที่ผ่านมา เขาไม่เคยต่อว่าต่อขานโชคชะตาฟ้าดิน เพราะเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกทำได้
ในอนาคต เอกชัย วาดฝันไว้ว่า อยากเปิดโรงเรียนสอนศิลปะ แต่ตอนนี้คงขอให้ตัวเองมีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่งเสียก่อน ซึ่งเขาอยากทำอะไรก็ได้ที่เขาสามารถทำให้ได้อย่างเต็มที่ เช่น สอนศิลปะ เป็นครูศิลปะ ไม่อยากให้ใครจ้างเขาเพราะความสงสาร อยากให้จ้างด้วยความสามารถมากกว่า เพราะอยากให้คนเห็นคุณค่าในตัวของเขาจริง ๆ อย่างเช่นหากใครจ้างให้เขาวาดภาพ เขาจะไม่เก็บเงินก่อน แต่จะวาดภาพให้เสร็จแล้วส่งไปให้ดู ถ้าพอใจก็ซื้อ ถ้าไม่พอใจไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร เขาก็จะเก็บภาพไว้เอง นั่นเพราะไม่อยากให้ใครซื้อภาพเพราะสงสารตัวเขา
ด้านคุณแม่ ก็บอกว่ารักลูกชายคนนี้มากที่สุด และไม่เคยนึกไม่เคยฝันมาก่อนเลยว่าจะมีวันนี้ คือวันที่เขาสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้สำเร็จ คุณแม่พูดจบ เอกชัยก็ได้เดินมาก้มลงกราบคุณแม่เป็นครั้งแรก และกล่าวขอบคุณแม่ที่ทำให้เขามีวันนี้ และเป็นกำลังใจให้มาโดยตลอด
สุดท้าย เอกชัย ยังได้ฝากถึงทุกคนที่อาจจะกำลังหมดแรง และท้อถอยอยู่ว่า "ผมคงเป็นตัวอย่างให้คนอีกหลายคน ผมคิดว่าโอกาสของคนมันมีอยู่ แล้วแต่ว่าเราจะไขว่คว้ามันยังไง ผมว่าปีหนึ่ง 365 วัน วันหนึ่งมันต้องมีวันของเรา ถ้าเราไม่ท้อไม่ถอยไปเสียก่อน"