มทส.เจ๋งโคลนนิ่ง"เศวต"โคขาวลำพูนตัวที่ 2 ของไทย

วันนี้ (26 เม.ย. ) ที่ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีการแถลงผลงานวิจัยการโคลนนิ่งโคพันธุ์ขาวลำพูน ตัวที่ 2 ของประเทศไทย ตั้งชื่อว่า “เศวต” ที่โคลนนิ่งจากเซลล์ใบหูของโคพ่อพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์โคขาวลำพูน เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล
 

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมทส. เปิดเผยว่า ผลงานการโคลนนิ่งของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มทส. ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สามารถผลิตลูกโคโคลนนิ่ง ทั้งโคนมพันธุ์ดี โคบราห์มันแดงเป็นโคเนื้อพันธุ์ดี และโคขาวลำพูน เป็นโคมงคลที่ใช้ในราชพิธีต่าง ๆ รวมแล้วถึง 29 ตัว ในจำนวนดังกล่าวมีโคบราห์มันแดงเพศเมียชื่อ“เต้าฮวย” และโคนมเพศเมียพันธุ์ลูกผสมโฮลสไตน์-ฟรีเชียน ชื่อว่า“แปะก๊วย” มทส.ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2551 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา รับไว้ดูแลและศึกษาวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรด้วย
 

สำหรับโคขาวลำพูนโคลนนิ่งตัวที่ 2 ของไทยตัวนี้ ตั้งชื่อว่า“เศวต” แปลว่า“สีขาว” มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% มีลักษณะโดดเด่น คือ ตัวใหญ่ ลำตัวสีขาวตลอด พู่หางขาว หนังสีชมพูส้ม จมูกสีชมพูส้ม เนื้อเขาเนื้อกีบสีน้ำตาลส้ม จากลักษณะเด่นดังกล่าวจึงถูกคัดเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นิยมเลี้ยงมากทางภาคเหนือตอนบน ปัจจุบันเหลือโคขาวลำพูนพันธุ์แท้ไม่มากนัก หากไม่มีการปรับปรุงพันธุ์และอนุรักษ์ไว้อาจจะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต การโคลนนิ่งจึงเป็นวิธีช่วยอนุรักษ์สายพันธุ์โคขาวลำพูนให้คงอยู่ต่อไป
 

รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. กล่าวด้วยว่า ลูกโคขาวลำพูนโคลนนิ่งตัวนี้ เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา น้ำหนักแรกเกิด 35 กก.มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ถือเป็นความสำเร็จการโคลนนิ่งโคพันธุ์ขาวลำพูนที่ใช้เซลล์ใบหูเป็นเซลล์ต้นแบบตัวที่ 2 ของประเทศ ต่อจาก “ขาวมงคล” โคขาวลำพูนโคลนนิ่งตัวแรกที่เกิดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2550
 

การโคลนนิ่งครั้งนี้คณะผู้วิจัยได้นำเซลล์ใบหูของพ่อโคขาวลำพูน ชื่อ “ดอยอินทนนท์” ของฟาร์มช่างรุ่ง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับรางวัลแกรนด์แชมป์ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาทำเป็นเซลล์ต้นแบบผลิตตัวอ่อนโคลนนิ่งเช่นเดียวกับขาวมงคล แต่ได้มีการปรับปรุงกระบวนการโคลนนิ่งเพื่อช่วยให้การรีโปรแกรมเซลล์ใบหูดีขึ้น โดยใช้สารเคมีชื่อริเวอร์ซีน (Riversine) เลี้ยงตัวอ่อนระยะแรกเป็นเวลานาน 6 ชั่วโมง แล้วเลี้ยงตัวอ่อนในหลอดทดลองอีก 7 วัน ก่อนนำไปย้ายฝากให้โคนมตัวรับ 4 ตัว มีการตั้งท้อง 3 ตัว แต่แท้งไป 2 ตัว เหลือเพียงตัวเดียวครบกำหนดคลอดและได้ผ่าคลอดออกมาสำเร็จ คิดเป็นความสำเร็จได้ลูกเกิด 25% จากเดิมที่เคยสำเร็จได้ลูกโคโคลนนิ่งเกิดใหม่เพียง 11%
 

“ปัจจุบันเหลือโคขาวลำพูนพันธุ์แท้ไม่เกิน 5,000 ตัว ในจำนวนนี้มีลักษณะถูกต้องตามตำราว่าด้วยโคขาวลำพูนไม่ถึง 1,000 ตัว ทำให้น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตจะเหลือโคขาวลำพูนที่มีพันธุ์ดีไม่มาก การพัฒนากระบวนการโคลนนิ่งโคจะช่วยทำให้การผลิตโคโคลนนิ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น นำไปสู่การผลิตโคขาวลำพูนลักษณะและพันธุ์ดีได้มากขึ้น”
รศ.ดร.รังสรรค์ กล่าว

 

และว่า ขณะนี้ทีมงานของศูนย์วิจัยฯกำลังปรับปรุงการรีโปรแกรมเซลล์ใบหูกระทิง เพื่อผลิตกระทิงโคลนนิ่งให้เกิดมาแล้วมีชีวิตรอด หลังจากเมื่อ 5 ปีก่อนได้ผลิตกระทิงโคลนนิ่งเพศผู้เกิดมาเป็นรายที่ 2 ของโลก แต่มีชีวิตหลังคลอดเพียง 12 ชั่วโมง หากการปรับปรุงขบวนการโคลนนิ่งกระทิงสำเร็จ จะเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนกระทิงให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกระทิงถูกล่ามากขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะลดจำนวนลงทุกวัน ซึ่งโครงการโคลนนิ่งกระทิงนี้ได้ร่วมมือกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียวในการเก็บเซลล์ผิวหนังกระทิงเพื่อนำมาเป็นเซลล์ต้นแบบ และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และทุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คาดว่าน่าจะประสบผลสำเร็จของการโคลนนิ่งกระทิงในเร็ว ๆ นี้.

26 เม.ย. 55 เวลา 16:50 4,142 2 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...