ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

                                                               ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
       
       ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชิ่อจันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาดเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะ มีความทรงจำดีและขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา
       
       เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดาเต็มความสามารถ
       
       ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสกิดใจอยู่เสมอ

ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์ ท่านได้ศึกษา ในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธ ให้ว่า ภูทตฺโต เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับ พระอาจารย์เสาร์ กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบต่อไป
       
       เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลเป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้าง เป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร แล้อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรีบยร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทานธุดงควัตร ต่างๆ
       
       ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง หุบเขาซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับ เจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงโตห์ ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถวิปัสสน าแก้สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอีสาน
       
       ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคระาห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป
ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
       
       ๑.ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนให้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
       ๒.บิณฑบาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต
       ๓.เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัย จึงงด
       ๔.เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลา แม้อาพาธหนักในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชรา จึงอยู่ในเสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลัง ที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรง ไม่รบกวน นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยว แสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่น ในคราวไปอยู่ภาเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ที่พูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้
       
       ธรรมโอวาท
       
       คำที่เป็นคติ อันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำ
       ด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ดังนี้
       
       ๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ
       ๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
       
       เมื่อท่านอธิบาย ตจปัญจกกรรมฐาน จบลง มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่” ดังนี้
       
       เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุ ผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจ ให้เข้าใจทางถูก และ ละเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้ว ได่กล่าวเป็นคติขึ้นว่า “เหลือแต่เว้าบ่เห็น บ่อนเบาหนัก เดินบ่ไปตามทาง สิถืกดงเสือฮ้าย” ดังนี้แล การบำเพ็ญสมาธิ เอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสสนา คือ การพิจารณาก็พอแล้ว ส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้น ก็ให้กำหนดรู้ ถ้าใครกลัวตาย เพราะบทบาททางความเพียร ผู้นั้น จะกลับมาตายอีก หลายภพหลายชาติ ไม่อาจนับได้ ส่วนผู้ใดไม่กลัวตาย ผู้นั้นจะตัดภพชาติให้น้อยลง ถึงกับไม่มีภพชาติเหลืออยู่ และผู้นั้นแล จะเป็นผู้ไม่กลับหลังมาหาทุกข์อีก ธรรมะเรียนมาจากธรรมชาติ เห็นความเกิดแปรปรวนของสังขาร ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ปัจฉิมโอวาท ของ พระพุทธเจ้าโดยแท้ๆ ถ้าเข้าใจในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงโดย ยึดหลักธรรมชาติของศีลธรรมทางด้านการปฏิบัติ เพื่อเตือนนักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านแสดงเอาแต่ใจความว่า..
       
       การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศล คือ ความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง การชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง......
       
นี้แล คือ ตำสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้า
       การไม่ทำบาป...ถ้าทางกายไม่ทำ แต่ทางวาจาก็ทำอยู่ ถ้าทางวาจาไม่ทำ แต่ทางใจก็ทำ
       สั่งสมบาปตลอดวัน จนถึงเวลาหลับ พอตื่นจากหลับ ก็เริ่มสั่งสมบาปต่อไป จนถึงขณะหลับอีก เป็นทำนองนี้ โดยมิได้สนใจว่า ตัวทำบาป หรือ สั่งสมบาปเลย แม้กระนั้น ยังหวังใจอยู่ว่า ตนมีศีลธรรม และ คอยแต่เอาความบริสุทธิ์ จากความมีศีลธรรม ที่ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่เจอความบริสุทธิ์ กลับเจอแต่ความเศร้าหมอง ความวุ่นวายในใจตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะ ตนแสวงหาสิ่งนั้น ก็ต้องเจอสิ่งนั้น ถ้าไม่เจอสิ่งนั้น จะให้เจออะไรเล่า เพราะเป็นของที่มีอยู่ ในโลกสมมุติอย่างสมบูรณ์
       
       ท่านพระอาจารย์มั่น แสดงโอวาทธรรม ให้ปรากฏไว้ เมื่อครั้งท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดสระประทุม (ปัจจุบัน คือ วัดประทุมวนาราม) กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบัน อาจค้นคว้าหาอ่านได้ไม่ง่ายนัก มีดังนี้
       
       นมตฺถุ สุคตสฺส ปญฺจธฺนกฺขนฺธานิ
       
       ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสุคต บรมศาสดาศากยะมุนี สัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการ และพระ อริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น
       
       บัดนี้ ข้าพเจ้ากล่าวซึ่งธรรมขันธ์ โดยสังเขปตามสติปัญญา
       
       ยังมีท่านคนหนึ่ง รักตัว คิดกลัวทุกข์ อยากได้สุข พ้นภัย เที่ยวผายผัน
       เขาบอกว่า สุขมีที่ไหน ก็อยากไป แต่เที่ยวหมั่นไปมา อยู่ช้านาน
       นิสัยท่านนั้น รักตัวกลัวตายมาก อยากจะพ้นแท้ๆ เรื่องแก่ตาย
       วันหนึ่ง ท่านรู้จริงซึ่ง สมุทัย พวกสังขาร
       ท่านก็ปะถ้ำ สนุก สุขไม่หาย เปรียบเหมือนดัง กายนี้เอง
       ชะโงกดูถ้ำสนุก ทุกข์คลาย แสนสบาย รู้ตัว เรื่องกลัวนั้นเบา ดำเนินไป เมินมา อยู่หน้าเขา
       
       จะกลับไป ป่าวร้อง พวกพ้องเล่า
       ก็กลัวเขาเหมา ว่าเป็นบ้า เป็นอันจบเรื่องคิด ไม่ติดต่อ
       ดีกว่าเที่ยวรุ่มร่าม ทำสอพลอ เดี๋ยวถูกยอ ถูกติ เป็นเรื่อง เครื่องรำคาญ
       
       ยังมี บุรุษ คนหนึ่ง คิดกลัวตาย น้ำใจฝ่อ
       มาหาแล้ว พูดตรงๆ น่าสงสาร
       ถามว่า ท่านพากเพียรมา ก็ช้านาน เห็นธรรมที่จริง แล้วหรือยัง ที่ใจหวัง
       เอ๊ะ ทำไม จึงรู้ใจฉัน
       บุรุษผู้นั้น ก็อยากอยู่อาศัย ท่านว่าดี ดีฉันอนุโมทนา
       จะพาดูเขาใหญ่ ถ้ำสนุก ทุกข์ไม่มี
       คือ กายคตา สติ ภาวนา
       ชมเล่นให้เย็นใจ หายเดือดร้อน หนทางจร
       อริยวงศ์ จะไป หรือไม่ไป ฉันไม่เกณฑ์
       ไม่หลอกเล่น บอกความ ให้ตามจริง
       แล้วกล่าวปริศนาท้าให้ตอบ
       
       ปริศนานั้นว่า ระวิ่ง คืออะไร
       ตอบว่า วิ่งเร็ว คือ วิญญาณ อาการใจ
       เดินเป็นแถว ตามแนวกัน
       สัญญาตรง น่าสงสัย ใจอยู่ใน วิ่งไปมา
       สัญญาเหนี่ยวภายนอก หลอกลวงจิต
       ทำให้จิตวุ่นวาย เที่ยวส่ายหา หลอกเป็นธรรมต่างๆ อย่างมายา
       
       ถามว่า ห้าขันธ์ ใครพ้น จนทั้วปวง
       แก้ว่า ใจซิพ้น อยู่คนเดียว ไม่เกาะเกี่ยวพัวพันติด สิ้นพิศวง
       หมดที่หลง อยู่เดียวดวง สัญญาทะลวงไม่ได้ หมายหลงตามไป
       
       ถามว่าที่ตาย ใครเขาตาย ที่ไหนกัน
       แก้ว่า สังขารเขาตาย ทำลายผล
       
       ถามว่า สิ่งใดก่อ ให้ต่อวน
       แก้วว่ากลสัญญา พาให้เวียน เชื่อสัญญาจึงผิด คิดยินดี
       ออกจากภพนี้ ไปภพนั้น เที่ยวหันเหียน เลยลืมจิต จำปิด สนิทเนียน
       ถึงจะเพียรหาธรรม ก็ไม่เห็น
       
       ถามว่า ใครกำหนด ใครหมาย เป็นธรรม
       แก้ว่า ใจกำหนด ใจหมาย เรื่องหา เจ้าสัญญา นั่นเอง
       คือว่าดี ว่าชั่ว ผลักจิต ติดรักชัง
       
       ถามว่า กินหนเดียว เที่ยวไม่กิน
       แก้ว่า สิ้นอยากดู ไม่รู้หวัง ในเรื่องเห็นต่อไป หายรุงรัง
       ใจก็นั่งแท่นนิ่ง ทิ้งอาลัย
 

ถามว่า สระสี่เหลี่ยมเปี่ยมด้วยน้ำ
       แก้ว่า ธรรมสิ้นอยาก จากสงสัย ใสสะอาดหมดราคี ไม่มีภัย
       สัญญาในนั้น พรากสังขารขันธ์นั้น ไม่ถอน
       ใจจึงเปี่ยมเต็มที่ ไม่มีพร่อง
       เงียบสงัด ดวงจิต ไม่คิดปอง เป็นของควรชมชื่น ทุกคืนวัน
       แม้ได้สมบัติทิพย์ สักสิบแสน หากแม้นรู้จริง ทิ้งสังขาร
       หมดความอยากเป็นยิ่ง สิ่งสำคัญ จำส่วนจำ กั้นอยู่ ไม่ก้ำเกิน
       ใจไม่เพลินทั้งสิ้น หายดิ้นรน
       เหมือนอย่างว่า กระจกส่องหน้า ส่องแล้ว อย่าคิด ติดปัญญา
       เพราะว่า สัญญานั้น ดังเงา อย่าได้เมา ไปตามเรื่อง เครื่องสังขาร
       ใจขยัน จับใจ ที่ไม่บ่น ไหวส่วนตน รู้แน่ เพราะแปรไป
       ใจไม่เที่ยวของใจ ใช่ต้องว่า รู้ขันธ์ห้า ต่างชนิด เมื่อจิตไหว
       แต่ก่อนนั้น หลงสัญญา ว่าเป็นใจ สำคัญว่าใน ว่านอก จึงหลอกลวง
       คราวนี้ ใจเป็นใหญ่ ไม่หมายพึ่ง สัญญาหนึ่ง สัญญาใด มิได้หวัง
       เกิดก็ตาม ดับก็ตาม สิ่งทั้งปวง ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกันหมู่สัญญา
       เหมือนยืนบน ยอดเขาสูงแท้ แลเห็นดิน แลเห็นสิ้น ทุกตัวสัตว์ แต่ว่า สูงยิ่งนัก
       แลเห็นเรื่องของตน แต่ต้นมา เป็นมรรคาทั้งนั้น เช่นบันได
       
       ถามว่า น้ำขึ้นลง ตรงสัจจา นั้นหรือ? ตอบว่ าสังขารแปร ก็ไม่ได้
       ธรรมดากรรม แต่ไม่แกล้งใคร ขืนผลักไส จับต้อง ก็หมองมัว
       ชั่วในจิต ไม่ต้องคิด ผิดธรรมดา สภาพสิ่ง เป็นจริง ดีชั่ว
       ตามแต่ เรื่องของเรื่อง เปลื้องแต่ตัว ไม่พัวพันสังขาร เป็นการเย็น
       รู้จักจริง ต้องทิ้งสังขาร เมื่อผันแปร เมื่อแลเห็น
       เบื่อแล้ว ปล่อยได้คล่อง ไม่ต้องเกณฑ์ ธรรมก็ใจ เย็นใจ ระงับดับสังขาร
       
รับอาการ ถามว่า ห้าหน้าที่ มีครบครัน
       แก้ว่า ขันธ์ แย่งแยก แจกห้าฐาน
       เรื่องสังขาร ต่างกอง รับหน้าที่ มีกิจการ
       จะรับงานอื่น ไม่ได้ เต็มในตัว
       แม้ลาภยศสรรเสริญ เจริญสุข นินทาทุกข์ เสื่อมยศ หมดลาภทั่ว
       รวมลง ตามสภาพ ตามเป็นจริง ทั้ง ๘ สิ่ง ใจไม่หัน ไปพัวพัน
       เพราะว่า รูปขันธ์ ก็ทำแก้ไข มิได้ถ้วน
       นาม ก็มิได้พัก เหมือนจักรยนต์ เพราะรับผลของกรรม ที่ทำมา
       เรื่องดี ถ้าเพลิดเพลิน เจริญใจ เรื่องชั่วขุ่น วุ่นจิต คิดไม่หยุด
       เหมือนไฟจุด จิตหมอง ไม่ผ่องใส นึกขึ้นเอง ทั้งรัก ทั้งโกรธ ไม่โทษใคร
       อยากไม่แก่ ไม่ตาย ได้หรือคน เป็นของพ้นวิสัย จะได้เชย
       เช่น ไม่อยากให้จิต เที่ยวคิดรู้ อยากให้อยู่เป็นหนึ่ง หวังพึ่งเฉย
       จิตเป็นของผันแปร ไม่แน่เลย สัญญาเคย อยู่ได้บ้าง เป็นครั้งคราว
       ถ้ารู้เท่า ธรรมดา ทั้งห้าขันธ์ ใจนั้น ก็ขาวสะอาด หมดมลทิล สิ้นเรื่องราว
       ถ้ารู้ได้ อย่างนี้ จึงดียิ่ง เพราะเห็นจริง ถอนหลุด สุดวิธี
       ไม่ฝ่าฝืนธรรมดา ตามเป็นจริง จะจน จะมี ตามเรื่อง เครื่องนอกใน
       ดีหรือชั่ว ต้องดับ เลื่อนลับไป ยึดสิ่งใดไม่ได้ ตามใจหมาย
       ในไม่เที่ยว ของใจ ไหววะวับ สังเกตจับ รู้ได้สบาย
       ยิ่งเล็กบังใหญ่ ไม่รู้ทัน ขันธ์บังธรรมไม่เห็น เป็นธุลีไป
       ส่วนธรรม มีใหญ่กว่าขันธ์ นั้นไม่แล

 

Credit: http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=1193284386396
#นานาสาระ
sekimi
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
12 ม.ค. 53 เวลา 15:13 1,549 3 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...