Tesla อัจฉริยะที่โลกลืม

นิโคลา เทสล่า เป็นผู้ประดิษฐ์ไดนาโม สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าสลับ ที่มีความสำคัญยิ่งต่อไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ชีวิตมีขึ้นมีลง

   เทสล่า เป็นลูกของนักบวชชาวโครเอเชีย เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1856 จบปริญญาทางวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยกราซ (Graz) ในออสเตรีย และในปี ค.ศ. 1884 ได้อพยพไปสร้างหลักปักฐานที่สหรัฐอเมริกา แต่สิ่งที่เขาค้นพบก็คือ การเจรจาทางธุรกิจที่ไร้สัจจะและการหลอกลวงจนช่วงหนึ่งยากจนมากถึงกับต้องไปทำงานเป็นกุลีขุดดิน

   แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก โชคชะตาก็ช่วยให้เขาได้กลับกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงโลกเลยทีเดียว เพราะด้วยการมีสายตากว้างไกลทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรม เขาได้นำแสงสว่างและพลังงานไฟฟ้าให้กับคนเป็นจำนวนล้าน ๆ การค้นพบของเขาเทียบได้กับไมเคิลฟาราเดย์ และโธมัน เอดิสัน แต่ผู้คนกลับไม่รู้จักเขา นับเป็นเรื่องเศร้าสำหรับคน ๆ หนึ่งที่สร้างความสำเร็จไว้เป็นอันมาก แต่ก็สิ้นชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและถูกลืม เป็นบทเรียนชีวิตที่จะสอนเราว่า ความอัจฉริยะเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่สามารถเป็นเครื่องประกันได้ว่าจะมีชื่อเสียงและเงินทองเสมอไป

ไมเคิล  ฟาราเดย์

ปรับปรุงไดนาโม

      ตอนที่เทสล่าเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย เขาได้เห็นอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างหนึ่งที่จะจุดประกายให้เขาประสบผลสำเร็จอันสำคัญต่อมาในชีวิต มันเป็นไดนาโมแบบแรก ๆ ที่เรียกว่า แกรมม์ไดนาโม (Gramme Dynamo) ซึ่งใช้ขดลวดอยู่ในสนามแม่เหล็ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นมอเตอร์ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวด้วยกระแสไฟฟ้า และในทางกลับกันก็สามารถใช้เป็นเครื่องปั่นไฟฟ้าได้ด้วย ตอนนั้นเทสล่ามีอายุเพียง 22 ปี และเขาได้บอกกับอาจารย์ของเขาว่าเขาสามารถจะปรับปรุงรูปแบบของไดนาโมดังกล่าวได้ และอีก 4 ปีต่อมา เขาก็ทำได้สำเร็จจริง ๆ โดยสามารถสร้างไดนาโมที่สร้างกระแสไฟฟ้าสลับ (AC) ซึ่งจะสร้างสนามแม่เหล็กที่จะไป หมุนมอเตอร์ได้

แกรมม์ไดนาโม (Gramme Dynamo)

ส่งกระแสไฟฟ้าได้ไกลกว่าเอดิสัน

      อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้นโธมัส เอดิสัน ก็สามารถประดิษฐ์กระแสไฟฟ้าขึ้นมาได้แล้ว แต่เป็นกระแสไฟฟ้าตรง (DC) ซึ่งได้จากแบตเตอรีแต่ยังมีข้อบกพร่องอยู่ เพราะได้กระแสไฟที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งหากส่งไปตามสายลวดเพียงครึ่งไมล์กำลังของมันจะลดลงไปมาก เอดิสันจะต้องสร้างสถานีส่งไฟฟ้าทุก 1,000 หลา เพื่อจะให้แรงดันไฟฟ้ากลับมาเป็น 100 โวลท์ได้ แต่เทคโนโลยีของกระแสไฟฟ้าสลับของเทสล่าจะไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว และโดยการใช้หม้อแปลงไฟฟ้ากระแสไฟฟ้าอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 3,000,000 โวลท์ หรือมากกว่านั้นก็ได้ จึงสามารถจะส่งพลังไฟฟ้าขนาดมหาศาลในระยะทางไกลหลายไมล์ได้ ก่อนที่จะถูกทอนลงให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยด้วยการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าอีกชุดหนึ่ง

         โธมัส เอดิสัน ได้ร่วมมือกับ จอร์จ เวสติ้งเฮ้าส์  หลังจากได้สัญญาให้ติดตั้งเครื่องไฟฟ้าเครื่องแรกที่น้ำตกไนแอการ่า  โดยใช้เทคโนโลยีของเทสล่า

ยากจน จนต้องไปขุดดิน

     ต่อมาเทสล่าได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีส เพื่อทำงานกับบริษัทในเครือข่ายของ เอดิสัน ณ ที่นั้นเขาได้แสดงให้เห็นศักยภาพของสิ่งที่เขาได้ประดิษฐ์ขึ้น โดยการใช้มอเตอร์ของเขาช่วยให้บริษัทของเอดิสันสามารถทำสัญญาผลิตไฟฟ้าในเมืองสตราสบวร์ก (Strasbourg) ได้ความปราดเปรื่องของเทสล่าเป็นที่ประจักษ์จนในปี ค.ศ. 1884 เขาก็ได้รับการชักชวนให้ไปร่วมงานกับเอดิสันเลยทีเดียว แต่ความที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน จึงทำให้ต้องแยกทางกันไป และกลายเป็นคู่แข่งกันไปในที่สุด

      ตอนนั้นเทสล่าอยู่ในภาวะที่ยากจน ถึงขนาดต้องไปรับจ้างขุดดิน และทำให้ได้พบกับหัวหน้าคนงานที่รู้จักกับคนมีเงินที่ต้องการจะลงทุน จึงแนะนำให้คนทั้งสองรู้จักกัน และในเวลาไม่กี่เดือนเทสล่าก็สามารถพลิกฟื้นความมั่งคั่งให้ไหลกลับเข้ามาได้อีกครั้ง เขามีธุรกิจของเขาเองโดยได้ตั้งบริษัทเทสล่าอิเล็กทริกซ์ขึ้น และรีบจดลิขสิทธิ์เทคโนโลยีที่เป็นกุญแจดอกสำคัญ ๆ สำหรับการไฟฟ้าที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าสลับเอาไว้ และต่อมาเขาก็ได้เข้าร่วมกำลังกับคู่แข่งคนสำคัญของเอดิสันอีกคนหนึ่ง นั่นก็คือ จอร์จ เอสติ้งเฮ้าส์ บริษัทของเทสล่ากับเวสติ้งเฮ้าส์เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำส่งให้กับอุตสาหกรรมทำเหมืองทองในไคโลราโด ในปี ค.ศ. 1891 และเป็นผู้จัดหากระแสไฟฟ้าให้กับงานเวิร์ลด์แฟร์ในชิคาโกเมื่อปี ค.ศ. 1893

เทสลา

ถูกโกงจนได้

     ความได้เปรียบของกระแสไฟฟ้าสลับที่มีต่อระบบกระแสไฟฟ้าตรง ทำให้เอดิสันต้องหันไปสนใจในธุรกิจอย่างอื่น แต่บริษัทของเขาก็ได้ลงนามกับบริษัทของเวสติ้งเฮ้าส์ เพื่อจะศึกษาเทคโนโลยีในเรื่องกระแสไฟฟ้าสลับของเทสล่า และทั้งสองบริษัทได้ช่วยกันใช้พลังน้ำจากน้ำตกไนแอการ่ามาผลิตไฟฟ้าได้ในปี ค.ศ. 1895 เป็นเครื่องแรกของโลกแต่ความสำเร็จดังกล่าวกลับทำให้เทสล่าต้องผิดหวัง เพราะเขาถูกบริษัทเวสติ้งเฮ้าส์โกงไปเป็นเงินหลายล้านดอลล่าร์ โดยไม่ทันรู้ตัวหรือเฉลียวใจ เพราะเขาพอใจที่จะได้เพียงเงินทุนไปทำการวิจัยในเรื่องกระแสไฟฟ้าที่จะได้จากวิชาแม่เหล็กไฟฟ้าเท่านั้น ผลงานประดิษฐ์ของเทสล่าในช่วงราว ๆ ปี ค.ศ. 1890 ได้แก่ การประดิษฐ์แสงนีออนโดยใช้แก๊ส และการตรวจโดยใช้เอ็กซเรย์ และคลื่นวิทยุก่อนที่นักประดิษฐ์คนอื่น ๆ จะทำให้มันเป็นที่รู้จักกัน นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 1843 ศาลของสหรัฐ ฯ ได้ประกาศว่าเทสล่าเป็นผู้ประดิษฐ์วิทยุ มิใช่มาร์โคนี่

  มาร์โคนีมิได้เป็นผู้ประดิษฐ์วิทยุ อย่างที่หลายคนเชื่อ  แต่เป็นเทสล่าต่างหาก

ขดลวดของเทสล่า

     สิ่งประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเทสล่าก็คือ เทสล่า คอยล์ (Tesla Coil) ซึ่งทำให้เขาสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าที่จะเพิ่มเป็นความถี่ที่สูงมากได้ เทสล่า คอยล์ เปิดหนทางไปสู่การส่งคลื่นวิทยุและทีวี นอกจากนั้น การค้นพบที่น่าสนใจที่สุดอีกอย่างหนึ่งของเทสล่าก็คือ การส่งพลังไฟฟ้าผ่านอากาศที่เบาบางได้ในห้องปฏิบัติการที่เงียบสงบและห่างไกลผู้คนในโคโลราโด เทสล่าได้สร้างคอยล์ขนาดยักษ์เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงมากจนสามารถส่งกระแสไฟ 10,000 วัตต์ผ่านอากาศไปจุดดวงไฟ 200 ดวง ที่อยู่ห่างออกไป 40 กิโลเมตรได้

เทสล่ากับห้องทดลองในโคราโด

เทสลา คอยส์

        เทสลาคอยส์  เป็นหม้อแปลงที่อาศัยหลักการเรโซแนนท์ในวงจรไฟฟ้า โดยมีแกนเป็นอากาศ   เทสลาคอยส์สามารถสร้างแรงดันไฟฟ้าได้สูงมากอย่างน่าตกใจ  !    พวกสร้างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นิยมนำไปใช้  เมื่อพวกเขาต้องการให้ในภาพยนตร์ของเขามีฉากฟ้าผ่า หรือการสปาร์กของกระแสไฟฟ้า  ยกตัวอย่างหนังเรื่องคนเหล็กภาค  2  (terminator II)  ฉากเริ่มต้นที่หุ่นยนต์จากอนาคตเคลื่อนที่ผ่านมิติมาที่เวลาในปัจจุบัน  ในเรื่องจะเห็นประกายไฟฟ้าสปาร์กขึ้นอย่างน่ากลัว และหุ่นยนต์ก็มาปรากฎกายขึ้น  เบื้องหลังฉาก ผู้กำกับต้องไปติดต่อนักฟิสิกส์ ให้มาต่อเทสลาคอยส์ให้

ถูกโกงซ้ำ

     เทสล่าเชื่อว่าเขาได้ค้นพบความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญ และเพื่อจะพิสูจน์ความจริงดังกล่าว เขาก็ต้องการเงินทุนมากขึ้น ซึ่งในปี ค.ศ. 1900 เขาก็ได้นายทุนชื่อ จอห์น เพียร์พอนท์ มอร์แกน (John Pierpont Morgan) มาเป็นผู้สนับสนุนและให้เงินทุน ซึ่งเทสล่าต้องตอบแทนโดยการมอบการควบคุมสิ่งที่เขาได้จดลิขสิทธิ์เอาไว้ ซึ่งเมื่อไปลงนามในสัญญากันนั้น เทสล่าก็ได้ตกเป็นเหยื่อของกฎหมายทางธุรกรรมที่จะผูกมัดเขาต่าง ๆ เพราะมอร์แกนได้ลงทุนไปมหาศาลแล้วกับบริษัทที่ใช้กระแสไฟฟ้าสลับ และเขาก็ไม่ต้องการจะให้ระบบไฟฟ้าไร้สายของเทสล่ามาทำให้มันต้องล้าสมัยหรือเลิกใช้ไป ดังนั้นมอร์แกนจึงเล่นเอาเถิดอยู่กับเทสล่าถึง 4 ปี แล้วหยุดจ่ายเงินให้เขา เมื่อถูกขโมยเอาลิขสิทธิ์ต่าง ๆ รวมทั้งขาดการอุดหนุนทางการเงิน ความฝันของเทสล่าเกี่ยวกับพลังงานที่ไร้สายก็ถึงจุดจบ เขากลับมาที่จุดเริ่มต้นใหม่ โดยขาดทั้งเงินและงานเมื่ออายุได้ 50 ปีแล้ว

ตายอย่างยากจน

     ในปีต่อ ๆ มา นับเป็นช่วงเวลาที่น่าสงสารสำหรับเทสล่า เขาต้องอยู่คนเดียวในโรงแรมที่ไม่มีใครสนใจ และยังชีพอยู่ได้ด้วยเงินบำนาญเล็กน้อยจากประเทศบ้านเกิดของเขา และหัวใจวายตายในโรงแรมที่กรุงนิวยอร์คในระหว่างวันที่ 5-8 มกราคม ค.ศ. 1943 รวมสิริอายุ 86 ปี หากเทสล่ามีเล่ห์เหลี่ยมและทันคนสักเล็กน้อยแบบเอดิสัน บางทีเขาอาจจะกลายเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคนหนึ่ง แต่ปัจจุบันชื่อของเขาได้รับการจดจำเพียงหน่วยวัดสนามแม่เหล็กที่เรียกว่าเทสล่าเท่านั้น ดูช่างไม่เหมาะสมเลยกับอัจฉริยะที่นำแสงสว่างและพลังงานมาให้กับคนเป็น ล้าน ๆ ได้เพียงแค่กดสวิตซ์ไฟฟ้าเท่านั้น

 

 

ปล.สังคมปัจจุบันดีเกินไปมันเป็นภัยสำหรับตัวเอง ต้องชั่วบ้างเป็นครั้งคราว

Credit: http://www.atom.rmutphysics.com
24 เม.ย. 55 เวลา 04:11 4,949 2 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...